Saturday, April 20Modern Manufacturing
×

พลังงาน… พลังงาน… พลังงาน

“น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องปิดไฟ…” คุณจำนงค์ เป็นสุข หรือ สรวง สันติ ได้แต่งเพลงลูกทุ่งประชดปัญหาพลังงานเอาไว้ เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา

น้ำมันเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งจากอีกหลายรูปแบบของพลังงานที่มนุษย์เรานำมาใช้ ประเทศยิ่งพัฒนา ความต้องการใช้พลังงานก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว สังคมที่ขาดการพัฒนาจะถูกกลืนโดยสังคมที่พัฒนามากกว่าในที่สุด มันเป็นสัจธรรมของโลกเราในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การทหารหรือการใช้ชีวิตปกติ แม้ว่าสังคมโลกเราจะมีกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน มีกฏหมาย และศาสนา และกล่อมเกราสังคมให้เกิดความเสมอภาคแล้วก็ตาม แต่เรามักจะเห็นผู้ที่แข็งแกร่งในแต่ละด้านดังกล่าว จำนวนไม่น้อยที่ลืมตัวขาดความละลายต่อบาปแล้วเอาเปรียบผู้ด้อยกว่าเสมอ โบราณจึงมีคำเตือนลูกหลานให้ขยันหมั่นเพียร เรียนรู้ และฝึกฝน ดุจการลับกระบี่ให้คมพร้อมใช้กันยามคับขันได้ตลอดเวลา สังคมเราจึงควรเตรียมความรู้สู่การพัฒนา ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน เยอรมันเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากถูกปิดกั้นด้านพลังงาน เขาต้องหันไปแปรรูปถ่านหินเป็นน้ำมันเพื่อใช้ในประเทศ ต่อมาได้มีการนำเทคโนโลยีไปพัฒนาต่อในแอฟริกาใต้ เพราะรัฐบาลผิวขาวสมัยนั้นดำเนินนโยบายเยียดผิวแล้วถูกปิดกั้นการค้าเช่นกัน ยวดยานจำนวนไม่น้อยในเยอรมันสมัยนั้นหันไปใช้แก๊สจากไม้และถ่านหิน ผู้สูงอายุบางท่านอาจเคยเห็นและยังจำได้ว่ามีรถใช้ถ่านมาวิ่งอยู่ในบ้านเรา บ้างเหมือนกัน ความรู้และความทรงจำกับสิ่งเหล่านี้ในยุโรปยังมีอยู่และพัฒนาไป สำหรับกลุ่มยานยนต์มีชมรมรถใช้ถ่านนำรถและเครื่องผลิตแก๊สจากไม้มาอวดโฉมกันอยู่เนืองๆ

พลังงาน… พลังงาน… พลังงาน

พลังงาน

พลังงาน… ใครขึ้นมาบริหารประเทศก็จะต้องพบกับความท้าทายให้พิสูจน์ความสามารถใน 3 เรื่อง ที่ดูๆ จะขัดกันบ้าง ในยามที่น้ำมันสำรองของโลกเราเริ่มจะเหลือน้อยลง คือ ต้องจัดหาพลังงานไว้ตอบสนองความต้องการพัฒนาของสังคมอย่างเพียงพอ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน โดยพลังงานจะต้องมีราคาไม่แพงเกินไปจนต้นทุนการผลิตสูง แข่งขันสู้สังคมอื่นไม่ได้ และสุดท้ายต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มันจึงเป็นเทคนิคการบริหารจัดการพลังงานของภาครัฐที่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ สังคม ซึ่งหมดความเชื่อมั่นในคารมณ์ผู้บริหารที่เข้ามารับหน้าที่แล้วไม่ทำหรือทำ ไม่สำเร็จ แล้วไม่ชี้แจงความจริงอย่างมีเหตุผลให้สังคมได้เรียนรู้ สิ่งที่ตามมา คือ ประชาชนฝังใจกับการถูกหลอกแล้วไม่ยอมฟังเหตุผลอีกต่อไป และกลายเป็นปัญหาสร้างความวุ่นวายในสังคม

ประเภทของแหล่งพลังงาน

พลังงานที่ชาวโลกเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ถูกแปรรูปจากต้นกำเนิดหลากหลายประเภท ซึ่งเราอาจจัดกลุ่มประเภทของแหล่งพลังงานได้เป็น

  • พลังงานจากฟอสซีล เช่น ถ่านหิน ลิกไนต์ พีต ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ
  • พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ
    • พลังงานแสงแดด (ซึ่งถูกนำมาใช้ในรูปแบบของแสงสว่างและความร้อน)
    • ชีวมวล
    • พลังงานลม
    • พลังงานน้ำ (รวมไปถึงน้ำขึ้น น้ำลง คลื่นและการไหลวนของน้ำในมหาสมุทร)
    • พลังงานใต้พิภพ
  • พลังงานนิวเคลียร์ (ทั้งการแตกแก่น – การรวมแก่นอะตอมและการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี)

สำหรับการบริหารจัดการพลังงานของภาครัฐจำเป็นวางนโยบายผสมผสานพลังงานจาก หลายแหล่งต้นกำเนิด ทั้งประเภทและชนิดที่มาของพลังงาน โดยให้ความสำคัญไปที่ศักยภาพของประเทศและท้องถิ่นเป็นสำคัญ อีกทั้งต้องทำความเข้าใจพร้อมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างตรงไปตรงมา มีเหตุผล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความร่วมมือ แล้วสิ่งสำรัญที่ภาครัฐไม่ควรมองข้าม คือ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

การสูญเสียพลังงานในที่อยู่อาศัยที่ทำการและสำนักงานส่วนใหญ่จะผ่านผนัง หลังคา ประตู และหน้าต่าง หากมีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่นอกจากจะแข็งแรงทนทานแล้ว ยังเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีด้วยก็จะช่วยประหยัดพลังงานระยะยาวได้ ยุโรป เยอรมันจะใช้พลังงานมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว ส่วนไทยเราเปิดแอร์กันทั้งปี หากใช้วัสดุที่เป็นฉนวนประกอบการก่อสร้าง ตั้งแต่แรกอาจไม่ต้องใช้แอร์หรือใช้ก็จะสูญเสียน้อย ซึ่งส่งผลให้เครื่องทำความเย็นทำงานน้อยลงช่วยให้ประหยัดพลังงานระยะยาวได้ ประตูหน้าต่างสู่ด้านนอกที่เป็นกระจกเป็นแบบกระจกสองชั้นโดยมีสุญญากาศชั้น กลาง ต่อไปคงต้องวางกฏระเบียบสำหรับการก่อสร้างอาคารชุด หมู่บ้านจัดสรร คอนโด ซึ่งก่อสร้างเพื่อขายทั้งหลายให้จำกัดการสูญเสียพลังงานในระดับหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้ววิศวกรสามารถคำนวนและปรับปรุงประกบการใช้ชั้นวัสดุ เพื่อลดการสูญเสียพลังงานและการเกิดความชื้นกลั่นตัวในผนังอันจะก่อให้เกิด เชื้อราได้ การกำหนดกฎเกณฑ์ควรทำเป็นชั้นบันไดเพื่อให้เกิดการปรับตัวโดยปราศจากความตึง เครียดในสังคม บ้านเดี่ยวส่วนตัว บ้านสวนตามหัวไร่ปลายนาอาจผ่อนปรน ยกเว้น เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อน คนอยากปรับปรุงที่พักอาศัยใส่ฉนวนเพื่อลดความสิ้นเปลืองพลังงานระยะยาวควร ใช้มาตรการจูงใจด้วยการลดหย่อนภาษีให้สองสามปีก็คำนวนกำหนดได้ หลักการที่ว่ามานี้เยอรมันทำมาแล้วทั้งนั้น เขาถึงลดการใช้พลังงานได้โดยยังคงเพิ่มผลผลิตขึ้นทุกปี

ข้อดีและข้อด้อยของประเภทพลังงาน

ดังได้กล่าวแล้วว่าพลังงานมันหลากหลายประเภทให้เราเลือกได้ แต่มันก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกันไป เราสามารถผสมผสานใช้ให้เหมาะสมกับกาลเวลาและสถานการณ์ในสังคมของเรา จะประท้วงหรือสนับสนุนขอเดียงให้ใช้เหตุผล ไม่ใช่เฮตามไปเฉยๆ จะทำให้ประเทศเสียหายได้ ข้อด้อยด้านสิ่งแวดล้อมของพลังงานจากบางประเภทเราอาจใช้เทคโนฯ ดังมาปรับปรุงแก้ไขได้แต่ก็ต้องแลกกับการลงทุนที่สูงขึ้นและความเข้มงวดใน การทำงานกับการดูแลบำรุงรักษาและฝึกฝนพนักงาน

น้ำมัน

ข้อดี น้ำมันจัดเป็นตัวหล่อลื่นระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เกือบครึ่งหนึ่ง (48.2%) ของพลังงานที่ใช้ภายในปี 2557 ของไทยเราเป็นน้ำมันสำเร็จรูป (เยอรมันใช้ » 35%) จะเห็นได้ว่าน้ำมันยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักในการขับเคลื่อน แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายสนับสนุนการใช้แก๊สแล้วก็ตาม เครื่อข่ายปั๊มแก๊สก็ยังคงไม่ทั่วถึงอยู่ดี (ไม่แน่ใจในการสนับสนุนเหมือนกัน เพราะเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยคิดจะทำปั๊มแก๊สไปนั่งรอผู้ดำเนินการอยู่ครึ่งค่อนวันไม่ได้เจอะ ตัว ไปอยู่สองครั้งมีผู้ทำมาก่อนเขาบอกว่าต้องหยอดน้ำมันเหมือนกันจึงจะได้ผล)

ข้อด้อย ราคาน้ำมันผันผวนไปตามสภาวะเศรษฐกินและการเมือง โดยแหล่งน้ำมันส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเสี่ยงทางการเมือง อาทิ ตะวันออกกลาง เวเนซเอล่า ไนจิเรีย รัสเซีย นอกจากนี้ แหล่งน้ำมันที่ใช้กันอยู่นับวันใกล้จะหมดไป โดยที่ไม่มีการเจาะพบแหล่งน้ำมันใหญ่ๆ อีกเลย ในระยะหลัง แหล่งใหม่ที่พบอยู่ห่างไกลและยากลำบากในการนำขึ้นมาใช้ อาทิ แถบขั้วโลกอันหนาวเย็นและปกคลุ่มไปด้วยน้ำแข็ง รวมไปถึงปัญหา CO2 ที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมัน ซึ่งท่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกเป็นเหตุให้โลกร้อนขึ้น น้ำแข็งที่ขั้วโลกและบนยอดเขาสูงละลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูง ขึ้นจนชายฝั่งทะเลหดหายและแห้งแล้งเพราะขาดน้ำจืดจากยอดเขาสูง

ก๊าซธรรมชาติ

ข้อดี ก๊าซธรรมชาติจัดเป็นแหล่งพลังงานฟอสซีลที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เพราะเผาไหม้สะอาดกว่า เกิด CO2 น้อยกว่าน้ำมัน คาดกันว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติของโลกยังมีให้ใช้ได้อีกประมาณ 60 ปี (น้ำมันประมาณ 40 ปี) และยังมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติอีก ข้อได้เปรียบของก๊าซธรรมชาติที่สำคัญในการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยโรงต้นกำลัง กังหันก๊าซ คือ ยืดหยุ่นในการควบคุมสามารถเพิ่มลดรอบกำลังการผลิตได้รวดเร็ว เยอรมันใช้วิธีนี้ในการชดเชยกำลังผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมที่ผันผวน

ข้อด้อย ก๊าซยังมีให้ใช้อีกนานแต่ไม่ได้มีทั่วไป ไทยแม้จะโชคดีที่มีแก๊สอยู่ในอ่าวไทยแต่ก็ไม่ได้มีให้เราใช้ไปอีกนานเท่าใด นัก กว่า 40% ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในเยอรมันมาจากรัสเซีย ปัญหา คือ ราคาถูกผูกไว้กับน้ำมัน ถ้าน้ำมันขึ้นราคาก๊าซก็ขึ้นราคาด้วย หากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐราคาก๊าซจะไม่ต่างจากน้ำมันเท่าใดนัก นี่เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ตลาดรถใช้ก๊าซธรรมชาติไม่ขยายตัวนัก

ถ่านหิน

ข้อดี ถ่านหิน เป็นแหล่งพลังงานประเภทฟอสซีล มีหลายเกรด ตั้งแต่ พิท ลิทไนต์ ซับบิทูมินัส บิทูมินัส แอนทราไซต์ จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีถ่านหินในปริมาณสำรองมากกว่า 2,000 ล้านตัน แหล่งถ่านหินของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคเหนือ แหล่งใหญ่ทางภาคใต้นั้นอยู่ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทยใช้ถ่านหินอยู่ประมาณ 23% ในขณะที่เยอรมันใช้อยู่ประมาณ 50% หากไทยเราเพิ่มส่วนแบ่งการใช้พลังงานมาเป็นถ่านหินมากขึ้น โดยลงทุนใช้เทคโนโลยีสะอาด ประเทศก็ลดการนำเข้าพลังงานเป็นการลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศไป ได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ขอย้ำให้ต้องอดทนฝึกผู้ปฏิบัติการให้มีจิตสำนึกเข้ากับเทคโนโลยีสะอาด ให้ได้จึงจะเอาชนะใจประชาชนได้ เพราะเท่าที่ผ่านมาปล่อยปะละเลยทั้งการขนส่งจัดเก็บและการใช้สร้างปัญหาต่อ สุขภาพประชนชนจนเขาปฏิเสธกันหมด ทั้งๆ ที่ถ่านหินเหมาะที่จะนำมาแปรรูปเป็นพลังงานพื้นฐาน คือ ไฟฟ้าที่ทุกคนไม่ปฏิเสธและต้องการเพิ่มมากขึ้น ทั้งเพื่อการผลิตและอนาคต เราจะใช้ไฟฟ้า รถยนไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษเช่นกัน

ข้อด้อย ของถ่านหินประเทศเรา คือ เป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ การเผาไหม้ก่อให้เกิดมลภาวะสูง ต้องกล้าลงทุนกับกระบวนการแปรรูปทุกขั้นตอนให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ที่สุด การทำเหมืองถ่านหินตื้นซึ่งต้องเปิดหน้าดินเป็นการทำลายระบบนิเวศที่ผู้ ดำเนินการต้องปรับพื้นที่คืนสภาพให้กับธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นต้นทุนของการนำถ่านหินมาใช้ด้วย

พลังงานนิวเคลียร์

ข้อดี ในแง่ของการแปรรูปพลังงานจากนิวเคลียร์ เพื่อให้ได้ไฟฟ้ามาใช้งานจัดเป็นไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ (หากลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปแล้) เนื่องจากใช้เชื้อเพลง (ยูเรเนียม) จำนวนน้อยผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาก การใช้พลังงานนิวเคลียร์จะก่อปัญหาเรื่อง CO2 น้อยมาก อาจนำมาแปรรูปใช้เป็นฐานพลังงานไฟฟ้าได้ การใช้ไฟฟ้าของประเทศจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการสัญจรและการขนส่งด้วยรถไฟฟ้า

ข้อด้อย สิ่งที่น่าหวาดกลัวมากที่สุดเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ คือ อุบัติเหตุที่เกินกว่าการควบคุม เกินขีดจำกัดในการออกแบบระบบ ซึ่งในเยอรมันใช้คำว่า GAU (เกา) ที่มาจาก groesster anzunehmende Unfall = masimum credible accident. สำหรับกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วระบบป้องกันอุบัติทุกอย่างทำงานและไม่ส่งผล กระทบต่อมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรและจะกลายเป็น Super GAU เมื่อก่อให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม เช่น กรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ Tschernoby ของรัสเซียและ Fukushima ของญี่ปุ่น เป็นต้น แม้ว่าจะมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์มานานกว่า 50 ปี แล้วก็ตาม สิ่งที่ค้างคาใจฝ่ายต่อต้านและผู้คนทั่วไป ซึ่งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายยังหาทางแก้ไขไม่ได้ คือ ป้าช้าหรือแหล่งสุดท้ายในการเก็บกากกัมมันตรังสีที่ปลอดภัยนั้น จะเป็นอย่างไรเพราะกากนิวเคลียร์ยังแผ่รังสีส่งผลต่อมนุษย์ไปอีกนานนับแสนปี อีกคำถามหนึ่งที่ข้องใจประชาชน คือ จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการทำลายหรือยึดครองสารกัมมันตรังสี ที่ยังมีศักยภาพในการนำไปผลิตเป็นระเบิดนิ้วเคลียร์ต่อ

น้ำ

ข้อดี พลังงานของน้ำเป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ โดยต้องยอมเสียธรรมชาติส่วนน้อยไป ไทยเราเริ่มใช้พลังงานน้ำครั้งแรกด้วยการสร้างแขนปิดกั้นลำน้ำปิงในปี พ.ศ.2496 คือ เขื่อนภูมิพล ซึ่งในหลวงเสร็จทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2507 ต่อมามีการสร้างเขื่อนอีกหลายแห่ง ซึ่งมิได้มีวัตถุเพื่อให้ได้พลังงานเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันเราใช้พลังงานจากน้ำเพียงประมาณ 5% จากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทยเท่าๆ กันกับในเยอรมัน ข้อได้เปรียบของเขื่อนอย่างหนึ่งก็คือ เป็นสถานที่เก็บพลังงานที่ดี เยอรมันจะบริหารเขื่อนร่วมกับแหล่งพลังงานอย่างอื่น อาทิ ลมและแสงแดด โดยเมื่อมีการผลิตไฟเกินเขาจะใช้ไฟส่วนเกินสูบน้ำกลับขึ้นไปเก็บไว้ในเขื่อน เมื่อขาดก็ปล่อยน้ำจากเขื่อปั่นไป

ข้อด้อย ทำเลทีจะสร้างเขื่อนให้มีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย นั้นมีไม่มากนักเพราะเราต้องการทั้งปริมาณน้ำและความสูง (P = Q•h•g•p•ɳ) แต่ถ้าเขื่อนสำหรับกักน้ำชะลอไว้ไม่ให้ท่วมเขตเศรษฐกิจและ/หรือเพื่อใช้ใน การเกษตรโดยไม่ปล่อยให้ไหลทิ้งลงทะเลเสียเปล่าๆ แล้วผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้นั้น เหตุผลหลักมันคนละประเด็นกัน หลายคนนำไปโจมตีว่าไม่คุ้มคงไม่ถูกต้องนัก ที่เขื่อนควรสร้างระบบเตรียมน้ำดื่มน้ำใช้แล้วส่งตามท่อไปยังเมืองต่างๆ จะดีกว่าปล่อยให้น้ำไหลไปตามคลองแล้วไปกรองใกล้เมือง เพราะต้นน้ำในเขื่อนที่ตกตะกอนจะสะอาดกว่าน้ำปลายทาง ฉะนั้นค่าบำบัดถูกกว่าในระยะยาวแต่ต้องลงทุนเดินท่อใหญ่ส่งน้ำในครั้งแรก เมืองฮันโนเฟอร์และบราวน์ชไวค์ในเยอรมันใช้น้ำจากเขื่อนในเทือกเขา ฮาท์ซไกลออกไปมากกว่า 150 กม. โดยใช้มาตั้งแต่เริ่มใช้หัวรถจักรไอน้ำจนปัจจุบัน

ลม

ข้อดี มนุษย์เรารู้จักใช้พลังงานลมมาผลิตไฟฟ้าครั้งแรกในปี ค.ศ.1887 โดย Schotte James Blyth ปัจจุบันเยอรมันผลิตไฟฟ้าจากลมได้มากกว่าจากน้ำ มันเป็นพลังงานฟรีที่ยุโรปนิยมลงไปเก็บเกี่ยวในที่โล่งกลางทะเล กังหันลมรุ่นล่าสุดมีขนาดการผลิตไฟฟ้าได้ 8 MW โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่องหมุน ช่องใบกังหัน 160-170 เมตร และมีเสาสูงถึง 200 เมตร

ข้อด้อย ต้องหาตำแหน่งติดตั้งที่มีลมเพียงพอตลอดเวลา ตำแหน่งที่มีลมมักไม่มีเส้นทางเข้าถึงทำให้ยากในการติดตั้ง นำเครื่องมือทุ่นแรงเข้าไปสนับสนุนได้ยาก ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปดูการผลิตกังหันลมในเยอรมันหลายครั้งหลายบริษัท ได้เห็นการผลิต Generator ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 10 เมตร หัวของกังหันลมหนักกว่า 500 t การขนย้ายบนถนนหนทางที่ไม่พร้อมจะยากลำบากมาก ถ้ามีช่องลมแรงบนยอดเขา เพื่อนผู้เขียนชาวมองโกลคนหนึ่งได้รับมองหมายให้ไปติดตั้งกังหันลมขนาด 30 kW ให้หมู่บ้านห่างไกลขาดถนนหนทางกลางทะเลทราย ไม่มีเครนยก Generator ขึ้นไปติดตั้งบนยอดเสาสูง 30 กว่าเมตร มันเป็นปัญหาท้าทายความสามารถผู้ได้รับคำสั่งอย่างหนึ่ง

แสงแดด

ข้อดี แสงแดดจัดเป็นพลังงานนิรันดร์กาลที่ดูเหมือนๆ ว่าจะมีให้ทุกคนได้ใช้ฟรี ถ้าหลังคาบ้านทั้งประเทศมุงด้วยโซล่าเซลล์น่าจะช่วยให้รัฐประหยัดการลงทุน สร้างโรงไฟฟ้าไปหลายแห่ง พลังงานแสงแดดใช้ได้ทั้งเชิงความร้อนและไฟฟ้า

ข้อด้อย ใช้งบลงทุนสูง กฎระเบียบและเทคนิคในบ้านเรายังไม่เอื้อต่อฝ่ายปฏิบัติการให้จูงใจบุคคลราย ย่อยทั่วไปเข้าร่วมลงทุน ข้อเสนอแนะสำหรับรายย่อยทั่วไป คือ แยกวงจรไฟฟ้ากำลังและไฟฟ้าแสงสว่างออกจากกัน แล้วลงทุนทำระบบส่วนตัว (Inselanlage = Stand – alone power system)

ชีวมวล

ข้อดี ประเทศไทยแม้จะมีการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ก็ยังคงทำเกษตรกรรมเป็นฐาน สิ่งเหลือใช้จากภาคเกษตรกรรมและป่าไม้เป็นชีวมวลที่สามารถน้ำมาแปรเป็น พลังงานได้โดยไม่ควรมองข้าม ใบ้ไม้ใบ้หญ้า (เช่น จากสนามกอล์ฟ) มูลสัตว์หมักได้ไบโอแก๊ส กากที่ย่อยสลายแล้วเป็นปุ๋ย เศษไม้ที่ชาวสวนต้องตัดแต่งกิ่งนำเข้า Gasifier ผลิตแก๊สป้อนเข้าเครื่องยนต์เบนซินใช้ปั่นไฟหรือสูบน้ำลดต้นไม้ได้อีก กิ่งไม้ ต้นไม้ในป่าที่หักโคนโดยธรรมชาติหากไม่มีนโนบายปล่อยไว้ เลี้ยงปลวก มอด ตามธรรมชาติ มอบหมายเจ้าหน้าที่รอบรวมผลิตแก๊สป้อนเข้าโครงข่ายไฟฟ้าของรัฐได้เช่นกัน ภาครัฐควร มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนรวมกลุ่มกันทำจะคุ้มกว่าและดูแลให้เป็นมิตรต่อสิ่ง แวดล้อมได้ดีกว่าปล่อยให้ต่างคนต่างทำ แต่หากใครมีศักยภาพทำให้ถูกต้องก็ควรปล่อยให้เขาดำเนินการไป ขยะก็เป็นชีวมวลที่กำจัดได้ทั้งวิธีหมักและเผา ผลพลอยได้ คือ ใช้แก๊สหรือความร้อนที่ได้ (แล้วแต่กระบวนการ) ปั่นไฟฟ้า บางคนก็ยังติงว่าไม่คุ้ม อย่าลืมว่าผลิตไฟฟ้ากรณีนี้ คือ ผลพลอยได้

ข้อด้อย ยังขาดการวางมาตรการกระตุ้นและประสานงานที่ดีจากรัฐ การนำพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารได้มาปลูกพืชเพื่อผลิตเชื้อเพลิงจะทำให้เสียสม ดุลย์เชิงคุณธรรมในสังคม เช่น น้ำข้าว, ข้าวโพด ไปแปลรูปเป็นแอลกอฮอล์สำหรับยานยนต์ในขณะที่ประชาชนอดอยาก ถ้าไม่ว่างมาตรการที่ดีผู้ที่มุ่งแต่ผลกำไรจะทำให้เป็นภัยต่อป่าและที่ทำกิน

พลังงานใต้พิภพ

ข้อดี ความร้อนใต้พิภพมีให้ใช้ตลอดเวลาเช่นกัน เราสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในเชิงความร้อนและแปรรูปไฟฟ้า ไม่มีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีการเจาะ

ข้อด้อย ต้องศึกษาสำรวจให้ดีเพื่อหลีกเลี่ยงการประท้วงและการเจาะที่ลึกเกินไป ซึ่งจะทำให้สิ้นเปลืองค่าดำเนินการมาก ทำเลในบางท้องที่อาจมีปัญหากับแหล่งน้ำใต้ดิน บางประเทศทีสภาพภูมิประเทศเอื้อ อาทิ ประเทศไอซ์แลนด์ พลังงานที่ใช้เกือบทั้งประเทศมาจากแหล่งความร้อนใต้พิภพ

เราจะเห็นว่าหากมีการวางรากฐานการใช้พลังงานของประเทศ โดยให้มีการผสมผสานแหล่งพลังงาน เฉลี่ยใช้ มีองค์กรที่มีคุณธรรมประสานงานรวมกันระหว่างผู้ผลิตหลายรายและหลายประเภทของ พลังงาน ประเทศจะไม่มีปัญหาเรื่องพลังงาน… สวัสดี

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×