Friday, March 29Modern Manufacturing
×

ถอดรหัส อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ กับการลงทุนใน EEC

อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ซึ่งเป็นมาตรการระยาวที่จะมีการปรับโครงสร้างด้านการผลิต ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคบริการของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดสร้างงานคุณภาพ และมีการสนับสนุนเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง และเกิดความยั่งยืน

ถอดรหัส อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ กับการลงทุนใน EEC

ดร.ณัตพล รังสิตพล กรรมการสถาบันยานยนต์ ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้กล่าวในงานแถลงข่าว ความร่วมมือระหว่างสถาบันยานยนต์กับรี้ด เทรดเด็กซ์ จัดสัมมนา ‘Automotive Summit 2017’ ถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดของโรดแมปอยู่ในขณะนี้ คือ INDUSTRY 4.0 และ EEC ที่เป็นทั้งเทรนด์ของโลกและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค THAILAND 4.0 คือ การพัฒนาองค์รวมของประเทศทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงกฎหมายภาครัฐ เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาไปในยุคที่ 4 หรือ INDUSTRY 4.0 ทั้งนี้ ภาครัฐได้พยายามผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ ระบบโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น และการที่จะเป็น 4.0 ได้นั้นจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ปัญญา และนวัตกรรม

การลงทุน อุตสาหกรรมยานยนต์ ในพื้นที่ EEC

“ก่อนหน้านี้ประเทศไทยผ่านมาแล้ว 3 ยุค คือ ยุคแรกเป็นยุคเกษตรกรรม ยุคที่สองเป็นยุคของอุตสาหกรรมเบา ยุคที่สามเป็นยุคที่โชติช่วงชัชวาลมาก เราเรียกยุคนี้ว่า ยุคอุตสาหกรรมหนัก โดยใช้การลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งหลักการคือนำคนจากภาคเกษตรกรรมและภาคบริการไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว พอมาถึงยุคที่สี่ พบว่า ยังไม่มีคนให้โยกย้ายการทำงานเพื่อจะทำให้ Growth สูงถึง 7% อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น สิ่งที่เรามองอยู่ว่าจะมาจากไหน เนื่องจากในตอนแรกโตขึ้น 3% โจทย์จึงอยู่ที่เราต้องพัฒนาในสิ่งที่โลกกำลังพัฒนากัน คือ การสร้างมูลค่าที่มาจากนวัตกรรม นั่นคือ INDUSTRY 4.0 ซึ่งมีสองมิติในการพัฒนาให้ได้มูลค่าจากนวัตกรรมเกิดขึ้นได้สองส่วน คือ การพัฒนา Business Model ของตัวเองให้มีการสร้างมูลค่าจากนวัตกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย การสร้างมูลค่าให้กับมาตรฐานจาก Productivity จากเรื่องของผลิตภาพ และนวัตกรรม”

ดร.ณัตพล ได้กล่าวว่า การลงทุนใน EEC มีการลงทุนในช่วง 5 ปี กว่า 1.5 ล้านล้านบาทเพื่อดึงดูดนักลงทุนซึ่งขณะนี้นักลงทุนมีความสนใจที่จะลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยในช่วงปี 2558-2559 มีนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านโครงการต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง รวมแล้ว 2.87 แสนล้านบาท ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2560 มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 1.6 หมื่นล้านบาท คาดว่า เมื่อแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความชัดเจนและมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ…. ซึ่งจะส่งผลให้มีจำนวนนักลงทุนเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีการยื่นขอรับส่งเสริมฯ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC 1.5 แสนล้านบาท

“การลงทุนในระยะ 5 ปีแรก เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนเพื่อสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบาย THAILAND 4.0 หนึ่งในนั้น คือ อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคตที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม หรือ First S-Curve และขณะนี้นักลงทุนชาวต่างชาติให้ความสนใจพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน โดยรัฐบาลคาดการณ์ว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า 1.9 ล้านล้านบาท จากภาคเอกชนโดยมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ อาทิ โตโยต้า นิสสัน และ บี เอ็ม ดับเบิลยู ต่างให้ความสนใจในโครงการ” ดร.ณัตพล กล่าว

ทั้งนี้ ดร.ณัตพล ได้แสดงความเห็นและมุมมองของสถาบันยานยนต์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในยุค 4.0 รวมถึงการปรับตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในปัจจุบันไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อนาคตว่า ผู้ผลิตจะต้องมีความตื่นตัวและเปิดใจยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมทั้งพิจารณาเรื่องของความชำนาญ เพื่อนำไปต่อยอดการผลิตชิ้นส่วนในยานยนต์ไฟฟ้า

EEC กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย

“เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการบูรณาการโลกของการผลิต เข้ากับการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ The Internet of Things (IoT) ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องตื่นตัว และยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก และต้องดูเรื่องความชำนาญของตนเองที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตชิ้นส่วนในยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก ที่เห็นได้ชัด คือ คนไทยมีความถนัดในกระบวนการขึ้นรูปโลหะ โดยอาจต่อยอดจากการหล่อโลหะ การหล่อขึ้นรูป ไปสู่การหล่อโครงมอเตอร์และชิ้นส่วนอื่นๆ โดยใช้เครื่องจักรเดิม แต่หากจำเป็นต้องผลิตชิ้นส่วนที่ยากและมีความซับซ้อนขึ้นก็อาจจำเป็นต้องสั่งซื้อเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามา รวมถึงการนำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้ในส่วนที่จำเป็น โดย ณ ปัจจุบัน บีโอไอ ได้มีมาตรการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการด้านการยกเว้นภาษีเครื่องจักรเพื่อการผลิตชิ้นส่วนแต่ละประเภท การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเงินสนับสนุนด้านต่างๆ เป็นต้น” ดร.ณัตพลกล่าว

“ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังดำเนินการด้านนโยบายการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ซึ่งจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีมติเห็นชอบมาตรการของกระทรวงการคลัง กำหนดโดยกรมสรรพสามิตให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราพิเศษ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด โดยจะลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงจากปกติ 50% ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่จากเดิมเสียภาษี 10% ลงลดเหลือ 2%” ดร.ณัตพลกล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม ในการก้าวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ดร.ณัตพลได้ให้ความคิดเห็นว่าสิ่งสำคัญ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถทำแบบเดิมได้ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานจะมองแต่เรื่องถนน สะพาน ท่าเรือ ไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม น้ำประปา การขนส่งทางถนน เหตุที่มองอย่างนั้นเพราะเป็นสิ่งที่เราทำ FDI ทำการลงทุนจากต่างประเทศแล้วได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถจับต้องได้อย่างเช่น รถยนต์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นของอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นรูปธรรม แต่ในเรื่องของ Innovation เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นในการทำมาตรฐานและนวัตกรรมที่สูงขึ้นจึงจำเป็นจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ดังนั้น จึงได้มีการจัดตั้งโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติที่เป็นหนึ่งในรูปแบบของโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่สำหรับการทำธุรกิจแบบ 4.0 ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ EEC และลงทุนโดยภาครัฐ

“ขณะนี้การจัดตั้งโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ยังอยู่ในเฟสแรกที่เป็นสนามทดสอบยางล้อ R117 คาดว่าจะดำเนินการแล้วสร็จในปลายปีนี้ และเปิดให้บริการช่วงต้นปี 2561 ส่วนสนามทดสอบที่เหลืออีก 7 สนาม มีเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2562 เชื่อว่าศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ แห่งนี้จะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการทดสอบมาตรฐานยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจรในรูปแบบ One Stop Servivce” ดร.ณัตพลกล่าวถึงการจัดตั้งโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ

มูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในปี 2559

นอกจากนี้ ยังได้มีการเปิดเผยถึงมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 50,383 ล้านบาท โดยมูลค่านำเข้าเครื่องจักรจาก 3 ประเทศ สูงสุด คือ ญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่า 21,023 ล้านบาท (ร้อยละ 41.73) รองลงมา คือ จีนคิดเป็นมูลค่า 10,541 ล้านบาท (ร้อยละ 20.92) และไต้หวันคิดเป็นมูลค่า 5,736 ล้านบาท (ร้อยละ 11.39) โดยแนวโน้มการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิตยานยนต์ทางเลือกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต

EXECUTIVE SUMMARY

Dr. Nattapol Rangsitpol, Executive Committee of Automotive Institute acting on behalf of Director of Automotive Institute extremely said about Eastern Economic Corridor or EEC, which according to the investment in the first 5 years, it shall be made on infrastructure and to support 10 targeted industries that take on THAILAND 4.0 policy. One of those is the futuristic automobile industry that has been in the group of First S-Curve, and at the moment, many foreign investors are interested to put in some investments. In addition, the government has expected to attract the investment over 1.9 trillion baht from private sector, which now the major automobile manufacturer companies such as Toyota, Nissan and BMW are interested in this project.

Since Thailand is moving toward 4.0 age, which is aimed to integrate the world of production with the Internet of Things (IoT), automotive part manufacturer must be awakened, and accept incurred initiative technologies first as well as check their own expertise that can mainly extend toward part manufacturing in electrical automobile. One clear example is Thai people have expertise in metal forming process by further extended from metal casting, forming casting to motor and part frame casting with prior own machinery, however, in case of hard and complicated part manufacturing required, more advance machinery and technology may need to be ordered and purchased as well as brought in some necessary automation systems. Now, BOI has launched infrastructure investment support scheme, tax exemption scheme for machinery used for manufacturing each particular type of parts, electrical automotive part research and development support, as well as supporting fund in various aspects, etc.

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×