Thursday, April 25Modern Manufacturing
×

คุณนิรันดร์ ล้ำเลิศลักษณชัย ก้าวสู่ CEO เบเจอร์ บี.กริม ด้วยแนวคิด… ตั้งคำถาม วิเคราะห์ ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

คุณนิรันดร์ ล้ำเลิศลักษณชัย กรรมการผู้จัดการ คือหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จระดับ Top 3 ของอุตสาหกรรมอุปกรณ์และอะไหล่สำหรับระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็นไทย ในนาม เบเจอร์ บี.กริม กว่า 28 ปีที่สั่งสมประสบการณ์ และสร้างสรรค์งาน ผ่านทั้งงานติดตั้งให้บริการ จนกล่าวได้ว่า เขาเป็นทั้งนักวิเคราะห์ นักสื่อสาร และนักพัฒนา หลักไมล์ทั้งหมดที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยเรียนเป็นพื้นฐานที่ดี รวมถึงการทำงานอย่างหนักก็เป็นเบ้าหลอมสำคัญ จนวันนี้ทั้งตัวเองและองค์กรเติบโตอย่างแข็งแกร่งจนน่าจับตามอง

คุณนิรันดร์ ล้ำเลิศลักษณชัย ก้าวสู่ CEO เบเจอร์ บี.กริม

คุณนิรันดร์ ล้ำเลิศลักษณชัย ก้าวสู่ CEO เบเจอร์ บี.กริม ด้วยแนวคิด… ตั้งคำถาม วิเคราะห์ ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

จากโรงเรียนจีน สู่โรงเรียนวัด และวิศวะบางมด

คุณนิรันดร์ ล้ำเลิศลักษณชัย เป็นลูกชายคนโตในครอบครัวเชื้อสายจีน เรียนจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเผยอิง จากนั้น ต่อ ป.5 ที่โรงเรียนวัดพลับพลาชัย เมื่อถึง มศ.1 ก็สอบเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ได้ ที่น่าสนใจคือ แม้บอกว่าตนเองเป็นเด็กโรงเรียนวัด แต่ความสามารถทางการเรียนเป็นตัวพิสูจน์ว่าเขาอยู่ในระดับหัวแถวมาตลอด

“ตอนเรียนที่เผยอิง เราได้ภาษาจีน พอเข้าพลับพลาชัย เราขอเลิกเรียนภาษาจีน เพราะเราเป็นคนขี้เกียจ คิดว่าต้องเรียนถึง 3 ภาษาเชียวหรือ ก็เลยได้แต่ภาษาอังกฤษ ทุกวันนี้ยังขอบคุณครูที่โรงเรียนวัดพลับพลาชัย ท่านวางรากฐานได้ดีมาก ภาษาอังกฤษได้ดีทุกวันนี้เพราะครูท่านนี้ ทั้งโฟเนติกและแกรมม่า

ที่บอกว่า เราเป็นเด็กวัด ไม่ได้ดูถูกโรงเรียนตัวเอง ผมภาคภูมิใจในโรงเรียน แต่โรงเรียนรัฐบาลสมัยก่อน ต้องยอมรับว่า อุปกรณ์การเรียนสู้โรงเรียนเอกชนชั้นนำไม่ได้ เรารักเทพศิรินทร์มาก เพราะเป็นที่ที่หล่อหลอมให้ได้เรียนรู้ ได้ใช้ชีวิต ได้มีเพื่อนกินเที่ยว ไปไหนไปกัน ยังคบกันถึงปัจจุบัน สมัยนั้น มีป้ายใหญ่ๆ อยู่ข้างสนามฟุตบอลเป็นคำขวัญของโรงเรียนเลยว่าหัวโต ใจกว้าง ร่างสมาร์ท มารยาทงาม ถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น

ด้วยความชอบอ่านหนังสือมาก โดยเฉพาะหนังสือเชิงเทคนิคกับนิยายกำลังภายใน ว่างๆ จะไปเดินตามเยาวราชเพราะชอบมีหนังสือมาลดราคาจากเล่มละ 10 บาท เหลือ 2-5 บาท เราสอบเทียบได้ จากมศ.2 สอบเทียบ มศ.3 ได้ แต่ขอคุณแม่ ขออยู่ชั้นเดิมเพราะติดเพื่อน เป็นแก๊งค์กินเที่ยวด้วยกัน หลังจากนั้น ตอนอยู่ มศ.4 ก็สอบเทียบ มศ.5 ได้อีก คราวนี้ยิ่งเหลิงเลย ไม่ตั้งใจเรียน อีกอย่างคือ เพราะเราอ่านหนังสือนอกห้องเรียนมาก เราก็เลยมีวิธีคิด วิธีหาคำตอบที่เหมือนหลักสูตร ไม่เหมือนคนอื่นมันเร็วกว่า มันทำให้เรายิ่งเหลิงไปอีก เป็นบทเรียนเลยว่า อย่าเหลิงอย่าหลงตัวเองเกินไป” คุณนิรันดร์เล่าถึงวัยเยาว์

หลังจากจบ มศ.5 แม้ว่าที่บ้านอยากให้เรียนแพทยศาสตร์ แต่ตัวเขากลับมองว่า หมอเป็นอาชีพที่ต้องอุทิศตัวเองเพื่อสังคมอย่างเต็มที่ ซึ่งพูดตรงๆ ว่า ตัวเองคงไม่สามารถอุทิศได้มากขนาดนั้น เพราะเป็นลูกคนโตต้องดูแลพ่อแม่และน้องๆ จึงเบนเข็มมาทางวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“สมัยนั้น วิศวกรรมศาสตร์ต้องเรียน 5 ปี เรารู้สึกว่า ทำไมช้ากว่าเพื่อน เพื่อนเรียนจบ ได้งาน มีเงินเดือนกันหมดแล้ว พอกินเลี้ยงพบปะกันแต่ละทีเพื่อนต้องเลี้ยง เราไม่ชอบ แต่พอถึงวัยทำงาน วิชาของสาขาอื่นที่เรียนๆ มากลับมีประโยชน์มากๆ เราได้เรียนระบบเทอร์โมไดนามิก ระบบลม ระบบปรับอากาศ ได้เรื่อง Plumbing ระบบประปาของโยธา เรื่อง Material ของอุตสาหการ รวมถึงหลายวิชาจากสาขาไฟฟ้า เรื่องต่างๆ ที่ดูเหมือนจะไม่ตรงกับสาขาเครื่องกลเหล่านี้ ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น มองเห็นองค์รวมมาก คุยกับคนสายงานอื่นรู้เรื่อง”

นักสื่อสาร นักวิเคราะห์ และนักสร้างสรรค์

คล้ายๆ กับบัณฑิตจบใหม่ทุกยุคสมัย เรียนจบมาใหม่ๆ เรามักยังไม่รู้ว่าถนัดอะไร สนใจอะไร หรือรักชอบงานสายไหน วิธีการหาคำตอบมีทางเดียว คือ ‘ลองทำก่อน เดี๋ยวรู้เอง’

“เริ่มจากการเป็นเซลล์ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป ไม่ได้เป็นวิศวกรคุมงานมันไม่ใช่เลย เราไม่ถนัด หลังจากนั้นมีโอกาสได้ไปทำงานฝ่ายจัดหาของบริษัทจาร์ดีน เป็นงานสายวิศวกรรมปรับอากาศ ประปาและดับเพลิง เริ่มทำปุ๊บ เราพบว่า เราเข้าใจ เราทำได้ดี ต้องพิจารณาว่าสินค้า หรืออุปกรณ์ตัวไหนเข้ากับสเป็กและขอบข่ายของงานที่ลูกค้าต้องการ ไปเสนอให้แต่ละโปรเจกต์ เพื่อนร่วมงานก็เริ่มเคยชินกับการมาถามผม ไม่ต้องไปถามคอนซัลท์ ทำให้เรายิ่งมีประสบการณ์มากขึ้นไปอีก” คุณนิรันดร์กล่าวถึงชีวิตการทำงาน

นอกจากนี้ ยังต้องทำงานเอกสาร ติดต่อพูดคุย และดีลงานกับต่างประเทศ เหตุผลสำคัญที่ได้รับความวางไว้วางใจให้ได้ทำหน้าที่นี้ เพราะสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี และสามารถย่อยศัพท์เชิงเทคนิคให้ลูกค้าเข้าใจได้ ในทางกลับกันก็สามารถแปลงความต้องการของลูกค้าให้เป็นศัพท์เทคนิคเพื่อสื่อสารกับช่างและวิศวกรได้

หลังจากทำงานที่จาร์ดีนได้ 3 ปี ยอร์ก ที่เคยให้จาร์ดีนเป็นตัวแทนจำหน่าย ตัดสินใจเปิดบริษัท ยอร์ก (ประเทศไทย) ขึ้นมา คุณนิรันดร์ก็ย้ายงานไปอยู่ที่ยอร์ก (ประเทศไทย) ซึ่งหนนี้ ได้ทำงานวิเคราะห์และจัดการอย่างเต็มตัว

“ปัญหาตอนนั้นคือ ทำไมหลังจากลูกค้าซื้อเครื่องแล้ว ทำไมเราถึงบริการติดตั้งให้ไม่ทัน ทำไมกระบวนการ Start up และ Commissioning เพื่อเดินเครื่องครั้งแรกมันไม่ทันกัน ผมวิเคราะห์ได้ว่า แต่เดิมเราแบ่งเป็น 2 ทีม คือทีมเราตั้งทีมสตาร์ทกับทีมเซอร์วิส ทีมสตาร์ทมีจำนวนน้อยกว่าจึงไปไม่ทัน ผมคุยกับเพื่อนว่าเราต้องจัดใหม่ ต้องแบ่งเป็นโซนนิ่ง ไม่ใช่แบ่งตามหน้าที่ จึงวางระบบกันใหม่ให้ทีมหนึ่งทีมสามารถสตาร์ท คอมมิชชั่นนิ่งและเซอร์วิสได้ด้วย ดูแลเป็นพื้นที่ งานมันก็ค่อยๆ ราบรื่นขึ้น กำหนดเวลาต่างๆ เข้าที่เข้าทางมากขึ้น” คุณนิรันดร์กล่าว

แคเรียร์… เบ้าหลอมสำคัญของชีวิต ‘Carrier Man Can’

ทำงานที่ยอร์ก (ประเทศไทย) ได้ 8 ปี ทั้งยอร์กมีนโยบายลดกำลังคนประกอบกับอยากลองเปิดธุรกิจของตัวเอง คุณนิรันดร์จึงเข้าโครงการ Early Retirement แต่ดูเหมือนโชคชะตาเล่นตลก เมื่อน้องที่รู้จักกันชวนไปทำที่แคเรียร์

ที่แคเรียร์มีแนวทางการทำงานว่า องค์กรกำหนดเป้าหมาย แต่วิธีการดำเนินงานเป็นอิสระ เปิดโอกาสให้สร้างสรรค์และพัฒนา ขอแค่ทุกอย่างต้องถูกต้องตามจรรยาบรรณ ซึ่งอิสระในการสร้างสรรค์ที่ว่านี้ คุณนิรันดร์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ต้องค่อยๆ พยายามเปลี่ยน ไม่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินค่อยๆ เปลี่ยนทีละจุด ถือเป็นการพัฒนาองค์กรโดยไม่ต้องชนกับคลื่นใต้น้ำ

“หน้าที่การงานค่อยๆ ขยับขยาย จาก Chiller Service เพียงฝ่ายเดียว ก็เริ่มมีความรับผิดชอบในส่วนของ Control เข้ามา จากนั้นก็มีฝ่าย Service Engineering จนถึง After Market หรือบริการหลังการขายทั้งหมด ทั้งบริการซ่อมบำรุง และอะไหล่ ขึ้นกับผมทั้งหมด และสมัยนั้น แคเรียร์มีแนวคิดปรับโครงสร้างเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ คือ ขายปลีก กับขายโครงการ ทำให้แผนกขายเครื่องโครงการโอนมาขึ้นกับผมด้วย เลยกลายเป็น GM ฝ่าย Building System and Services งานระบบเครื่องปรับอากาศอาคาร

ช่วง พ.ศ.2549-2551 เป็นช่วงที่แคเรียร์มีแผนจะขยายไปเทคบริษัทรีฟริโก อีควิปเม้นท์ จำกัด ทำให้ผมได้ความรู้เพิ่มเติมอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยง แต่ในที่สุดด้วยความที่รีฟริโกเป็นบริษัทอะไหล่ต้องสต็อกของเยอะมากเพราะต้องให้บริการหลายรุ่น หลายยี่ห้อ ทำให้ไม่สอดคล้องกับนโยบายการบริหารสินค้าคงคลังของแคเรียร์ แคเรียร์จึงตัดสินใจขายรีฟริโกให้บริษัท เบเจอร์ บี.กริม ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของแคเรียร์อยู่แล้ว เรียกว่า เป็นการเปลี่ยนมือที่ไม่เสียผลประโยชน์อะไร แค่เป็นเรื่องการโอนงานที่เหมาะกับลักษณะการดำเนินงานมากกว่า

เรียกว่า แคเรียร์คือเตาหลอมสุดท้ายของผมแล้วล่ะ หลังจากได้ความรู้จากสมัยเรียน จากจาร์ดีน จากงานหลายๆ ตำแหน่ง แคเรียร์ช่วยให้กลมกล่อมเป็นตัวผมวันนี้ ยังทำงานตามม็อตโต้แคเรียร์สมัยนั้นอยู่เลยครับ ม็อตโต้โบราณ ‘Carrier Man Can คนแคเรียร์ทำได้ทุกอย่าง” คุณนิรันดร์เล่าถึงเรื่องในอดีต ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของทั้งตัวเองและ เบเจอร์ บี.กริม (ประเทศไทย)

CEO เบเจอร์ บี.กริม (ประเทศไทย) ‘ทุนรองรัง’ ใช้คนให้ถูกงาน ถูกที่ ถูกเวลา

หลังเกิดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างแคเรียร์ (ประเทศไทย) และเบเจอร์ บี.กริม (ประเทศไทย) ในช่วงแรกของการบริหาร ทางเบเจอร์เรฟ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ให้ผู้บริหารจากแอฟริกาใต้มาเริ่มวางรากฐานความเป็นเบเจอร์ก่อน หลังจาก คุณนิรันดร์ซึ่งอยู่ภายใต้เบ้าหลอมแคเรียร์มา 8 ปี พ.ศ.2555 ย้ายเป็นผู้บริหารเบเจอร์ บี.กริม

อย่างที่คุณนิรันดร์บอกว่า แคเรียร์ คือเบ้าหลอมสำคัญที่ทั้งเคี่ยวกรำเรื่องจรรยาบรรณ หล่อหลอมการทำงานที่ยึดถือเรื่องคุณภาพเป็นอันดับแรกและการเปิดโอกาสให้บุคลากรสามารถเลือกวิธีดำเนินงานให้ถึงเป้าหมายได้อย่างอิสระ ทำให้คุณนิรันดร์ กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างนักวิเคราะห์ นักสื่อสาร และนักสร้างสรรค์

เบเจอร์ บี.กริม (ประเทศไทย) เป็นผู้ซัพพลายอุปกรณ์ และอะไหล่ให้อุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็น บริษัทแม่อย่างเบเจอร์เรฟ เป็นผู้ให้บริการ Air Conditioning Refrigeration Wholesaler ระดับท้อป 3 ของโลก มีสาขา เครือข่าย และพาร์ทเนอร์ทั่วโลก ซึ่งคุณนิรันดร์กล่าวว่า นี่คือจุดแข็งของเบเจอร์ บี.กริม เพราะไม่ใช่เพียงได้คอนเน็คชั่นและมีอำนาจต่อรองเรื่องราคาเท่านั้น แต่รวมถึงการหาอะไหล่และอุปกรณ์ทดแทนในกรณีที่โรงงานใดๆ ผลิตไม่ทัน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งปัญหา การแก้ปัญหา และอัพเดทนวัตกรรมในวงการใหม่ๆ ได้รวดเร็วกว่าบริษัทอื่น

นอกจากซัพพลายอะไหล่และอุปกรณ์ให้ลูกค้าทั่วไปแล้ว เบเจอร์ บี.กริม ยังซัพพลายให้กับ OEM ในภาคอุตสาหกรรม ฉะนั้น นอกจากคุณภาพที่ต้องรักษามาตรฐานให้สูงแล้ว คุณนิรันดร์กล่าวว่า ต้องคำนึงถึงราคาด้วย รวมถึงการทำงานเชิงรุก นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการรับไปพิจารณา เพราะเชื่อว่า หากเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมได้ ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของเบเจอร์ฯ เองไปในตัวด้วยเช่นกัน

“ถือว่าเราโชคดีที่มี “ทุนรองรัง” ทีมที่อยู่ที่นี่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกันมาหมด โอนย้ายมาจากที่เดิม มีทุนเก่า มีบุญเก่าที่เราสั่งสมไว้มาตลอด กลายเป็นจุดแข็งของเราไปเลย เพราะเรารู้ว่าแต่ละคนมีพื้นฐาน ความสามารถ นิสัยใจคอ และเหมาะกับงานแบบใด เรารู้จักรู้ใจกัน จึงจุดประกายได้ถูกที่ ใช้แค่ไม้ขีดก้านเดียว ก็จุดไฟให้งานเดินไปได้ไกลแล้ว หลายปีที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นช่วยวางโครงสร้างภายในไม่ได้เร่งทำยอดขายมากนัก เพิ่งปีที่ผ่านมานี้เองที่ยอดขายของเราข้ามเส้น 8 ร้อยล้านไปได้” คุณนิรันดร์กล่าว

โชคดีนั้นสำคัญ แต่ตัวเราเอง สำคัญที่สุด

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า วิธีคิด วิธีการทำงานแบบใด ที่สร้างผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จขึ้นได้จากเด็กโรงเรียนวัดสู่ CEO บริษัทชั้นนำของประเทศ

“ผมอ่านหลากหลาย ชอบอ่าน นอกจากตำราหรือเทคนิคต่างๆ ชอบอ่านนิยาย โดยเฉพาะแนวกำลังภายใน อ่านมาตลอด จินตนาการ อยากรู้ อยากเห็น อ่านกระทั่งหนังสือของอาอี๊ อย่างสกุลไทย สตรีสาร กุลสตรี กลายเป็นผมอ่านหมด ที่บ้านก็ไม่เคยว่า ถ้าเป็นหนังสือ ไม่เคยว่า” คุณนิรันดร์เล่าถึงงานอดิเรก

คุณนิรันดร์แบ่งปันว่า หลักการพื้นฐานที่ทุกคนทำอยู่ทุกวัน ไม่ใช่เรื่องยากเริ่มจากการเสพรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างมีคุณภาพ เพื่อให้เป็นต้นทุนในการพัฒนาตัวเองด้วยหลักการ “สุ จิ ปุ ลิ” – ฟัง คิด ถาม เขียน จากนั้น นำมาปฏิบัติจริงด้วยหลัก “PDCA” – Plan Do Check Act วางแผน ปฏิบัติ ตรวจสอบ และแก้ไข

“อีกอย่างที่ยึดมาตลอดคือ To be Better than Yesterday แค่ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน ดีกว่าแค่นิดเดียว รวมกันทุกวันมันก็ดีขึ้นมากเอง โชคดีที่เราเป็นคนมองโลกในแง่บวก เมื่อเจอปัญหา ก็คิดเสมอว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไปถ้าเจออุปสรรค เดี๋ยวมันก็มีทางออก คนเราต้องมีจุดปล่อยวาง เจอปัญหาใหญ่แค่ไหน ก็ผ่านมันไปได้ทุกที อย่างตอนจีบสาวไม่ติด ตอนนั้นเหมือนเป็นเรื่องใหญ่มากเลย เสียใจ อกหัก แต่ยังมีเพื่อน เฮฮา เราเลยรู้ว่า ไม่ว่าทุกข์อย่างไร สุดท้ายความหรรษาจะมาเยือน

ผมเชื่อในเรื่องฟ้า 3 ส่วน คน 7 ส่วน จริงที่ว่า 30 เป็นลิขิตฟ้า แต่อีกตั้ง 70% เลยนะที่อยู่ที่ตัวเรา ฉะนั้น เรากำหนดได้ บอกตัวเองเสมอว่าอย่าเหลิง อย่าหลงตัวเอง อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง คนที่กำหนดสรรพสิ่งรอบตัวคือตัวเราเอง” คุณนิรันดร์กล่าวทิ้งท้าย

ด้วยความเป็นนักอ่านทำให้คุณนิรันดร์สั่งสมทั้งความรู้ จินตนาการ การวิเคราะห์ และการสร้างสรรค์ ประกอบกับการไม่เลือกงาน เปิดรับทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา รวมถึงการมองโลกในแง่บวก ตลอดจนหลัก ‘สุ จิ ปุ ลิ’ ‘PDCA’ ที่ทให้เขาตั้งคำถาม วิเคราะห์ และพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง

“ฟ้า 3 ส่วน คน 7 ส่วน” โชคชะตาและลิขิตฟ้านั้นสำคัญ แต่ตัวเราเองสำคัญที่สุด!

EXECUTIVE SUMMARY

Mr. Nirun Lumlerdluksanachai, Managing Director of Beijer B. Grimm (Thailand) Limited is CEO who has an interesting vision about questioning, analyze and never stop self-development. He has driven the spare part and equipment for air conditioning system and cooling system industrial. From Pei-ing on Songward road to Plub Pla Chai, temple school and Debsirin school. Mr. Nirun graduated from King Mongkut’s University of Technology Thonburi in Engineering and Sukhothai Thammatirat University for Undergraduate and Master Degree through various work experience. Today, as Managing Director, Mr. Nirun is a leader to expanded business into foreigner country

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×