Wednesday, April 24Modern Manufacturing
×

เปิดแผนพัฒนา อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ

เปิดแผนพัฒนา อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ

ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมไทยวันนี้ไม่เพียงแต่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 หากแต่บทบาทของการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในวงการอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยนั้น กลับมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีด้วย เพราะหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้นถือเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์แบบนั่นเอง

เปิดแผนพัฒนา อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ

ชี้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นรากฐานสำคัญพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี Roadmap และมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในแนวประชารัฐ 3 ส่วนหลัก คือ

  1. การกระตุ้นอุปสงค์ โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการภายในประเทศนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เกิดการลงทุนใช้หุ่นยนต์ 12,000 ล้านบาทในปีแรก ผ่านมาตรการของ BOI โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 สำหรับกิจการที่นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการโดยขยายให้ครอบคลุมประเภทกิจการที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากนัก ซึ่งเดิมไม่อยู่ในขอบข่ายการให้การส่งเสริม กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาษีเงินได้ 300% เพื่อการวิจัยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สำนักงบประมาณสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อการบริการประชาชน และกระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับ SME เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีฯ และกองทุนอื่นๆ
  2. การสนับสนุนอุปทาน โดยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง System Integrator (SI) ผู้ทำหน้าที่ออกแบบติดตั้งระบบอัตโนมัติ โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวน SI จาก 200 ราย เป็น 1,400 ราย ภายใน 5 ปี โดย BOI จะให้สิทธิประโยชน์กับ SI สูงสุด ขณะที่กระทรวงการคลังจะยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วน/อุปกรณ์ที่นำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อแก้ไขปัญหาความลักลั่นทางภาษี
  3. การพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ประเภทอื่นๆ ที่มีความซับซ้อน โดยจัดตั้ง Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นเครือข่ายความร่วมมือของ 8 หน่วยงานนำร่องทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหน่วยงานเอกชนชั้นนำจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายภายใน 5 ปี จะพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูงให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 200 ราย และฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตรโดยจะส่งเสริมไปสู่ Smart Farming และพัฒนาไปสู่การทำเกษตรแปลงใหญ่ ด้านการแพทย์ ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการบริการอื่นๆ นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมจะมอบให้ Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาบุคลากร และยกระดับแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้น (Retain/Reskill) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้มีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด

กำหนดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC

กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนและนโยบายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของประเทศ และเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมอนาคต (First S-Curve และ New S-Curve) อื่นๆ อีก 9 อุตสาหกรรม เพื่อให้สอดรับกับแนวคิดประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) และเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการพึ่งพาแรงงานไปสู่การผลิตสมัยใหม่ด้วยองค์ความรู้การผลิตขั้นสูงที่มีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังใช้ระบบ Manual (ไม่มีระบบอัตโนมัติ) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85 ของโรงงานที่สำรวจ โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีแผนที่จะลงทุนเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใน 1 – 3 ปี ถึงร้อยละ 50 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงตั้งเป้าหมายให้ปีนี้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท และภายใน 3 ปีไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท

กลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
กลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

เจาะลึกมาตรการ 3 ระยะ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ มาตรการระยะสั้น 1 ปี 2560 เป็นการกระตุ้นตลาดหุ่นยนต์ภายในประเทศ โดยจะมีการลงทุน 12,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 50% มาตรการระยะกลาง 5 ปี เป็นการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนขยายตัว 200,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนการนำเข้า 30% และในภาพรวมจะมีการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 50% ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ SI จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 200 ราย เป็น 1,400 ราย ภายในระยะเวลา 5 ปี

สำหรับ มาตรการระยะยาว 10 ปี ตั้งเป้าประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ส่งออกหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทยภายใต้มาตรการสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ผลิตภายในประเทศ จะต้องดำเนินการสนับสนุน System Integrator (SI) ควบคู่ไปกับการต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ตั้งไว้ด้วย โดยกำหนดให้มีความร่วมมือในการผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนาบุคลากรและพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การสร้างและพัฒนาระบบนิเวศน์ (Ecosystem) เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นอกจากนี้ ยังต้องร่วมเผยแพร่งานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสู่ภาคอุตสาหกรรมพร้อมทั้งบูรณาการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง และสาธารณูปโภค เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้อนาคตอุตสาหกรรมในประเทศมีการลงทุนนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการของไทยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาทในปี 2560 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศด้วย

มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

มาตรการด้านอุปสงค์ ในภาคอุตสาหกรรมในประเทศปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ

  1. BOI: ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ของเงินลงทุน สำหรับกิจการที่นำหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการ
  2. กระทรวงการคลัง: ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 300% ของรายจ่าย เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ
  3. สำนักงบประมาณ: สนับสนุนจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติที่ผลิตภายในประเทศ
  4. กระทรวงอุตสาหกรรม: ส่งเสริมผู้ประกอบการ SME นำหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีและกองทุนอื่นๆ

มาตรการด้านอุปทาน เพิ่มจำนวนและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ โดยเพิ่ม SI

  1. BOI : ส่งเสริมกิจการ System Integrator และให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในระดับสูงสุด
  2. กระทรวงการคลัง: ยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนที่นำมาผลิตหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ เพื่อแก้ไขปัญหาความลักลั่นทางภาษ

การพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยี โดยการจัดตั้ง Center of Robotic Excellent (COR)

หน่วยงานนำร่อง 8 แห่ง

  1. สถาบันไทย-เยอรมัน
  2. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  3. สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)
  4. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  7. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  8. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หน้าที่และเป้าหมาย

  1. Industrial Prototype
  2. HRD
  3. รับรองคุณสมบัติ SI ที่จะใช้สิทธิมาตรการภาษี
  4. Technology Transfer

EXECUTIVE SUMMARY

Recently, the cabinet agreed with robotic industry and automation system development scheme proposed by Ministry of Industry in order to enhance manufacturing efficiency and Thai industrial sector development toward Industry 4.0, and assigned Ministry of Industry to concretely accomplish this scheme by convincing domestic manufacturing and service providing industries to use robots and automation systems in order to improve competency and stimulate the investment on tool manufacturing, and the use of robots for 12,000 million baht in the first year, as well as aim to increase System Integrator (SI); automation system installer and designer from 200 up to 1,400 companies within 5 years, and establish Center of Robotic Excellence (CoRE) to relay the advance robotic technology to entrepreneurs in order to take up the development based on the model scheme Industry 4.0 so that domestic industries shall use robots and automation systems to improve manufacturing efficiency in the future.

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×