Thursday, March 28Modern Manufacturing
×

กนอ. เดินหน้า สานฝัน ปั้นอาชีพ อีก 1,000 ราย

กนอ. เดินหน้า โครงการ “สานฝัน ปั้นอาชีพ” ปี’62 ฉลุย สร้างธุรกิจขนาดเล็ก 1,223 ราย ปี’63 ลุยแผนต่อเนื่องตั้งเป้าเพิ่มอีก 1,000 รายเพิ่มอีก 10 นิคมฯทั่วประเทศ คาดก่อให้เกิดรายได้ในชุมชนรอบนิคมฯเพิ่มขึ้นราว5ล้านบาทต่อชุมชนต่อปีภายในปี 2565

กนอ. เดินหน้า สานฝัน ปั้นอาชีพ อีก 1,000 ราย

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “สานฝัน ปั้นอาชีพ” ตามแผนยุทธ์ศาสตร์ CSR เสริมแกร่งชุมชนรอบนิคมฯระยะเวลา 3 ปี (2562-2564) ว่า กนอ.ได้เข้าไปส่งเสริมสร้างองค์ความรู้เพิ่มทักษะด้านอาชีพให้กับกลุ่มวัยแรงงาน กลุ่มวัยแรงงานใกล้เกษียณ และกลุ่มชุมชนผู้สูงอายุ ในพื้นที่นำร่องแล้ว จำนวน 10 นิคมฯ รวมทั้งสิ้น 1,223 ราย จากเดิมทีกำหนดไว้ที่ 1,000 ราย ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี)

กนอ. เดินหน้า สานฝัน ปั้นอาชีพ อีก 1,000 ราย

โดยชุมชนในแต่ละพื้นที่เข้ารับการฝึกอบรม รวมทั้งผู้ที่สามารถเข้ารับการทดสอบและผ่านการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ จะได้รับใบคุณวุฒิวิชาชีพจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อรับรองให้แก่ชุมชน เป็นเครื่องการันตีในการนำไปประกอบอาชีพและยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินและสถานประกอบการได้มั่นใจในการใช้บริการ ซึ่งถือเป็นแนวทางการดำเนินงานของ กนอ. ในการเข้าไปยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้กับชุมชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต

กนอ. เดินหน้า สานฝัน ปั้นอาชีพ อีก 1,000 ราย

สำหรับอาชีพที่ชุมชนเข้ารับการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพในพื้นที่ นำร่อง 10 นิคมฯ ได้แก่ อาชีพรักษาความปลอดภัย (รปภ.) อาชีพนวดเพื่อสุขภาพ อาชีพผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อาชีพวิสาหกิจชุมชนต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น การแปรรูปผลไม้ การทำสบู่ อาชีพคนจัดสวน ช่างยนต์ และอาชีพแม่บ้าน เป็นต้น ซึ่งโครงการ “สานฝัน ปั้นอาชีพ” มีส่วนสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนโดยรอบนิคมฯให้มีความเข้มแข็งจากการที่ชุมชนได้รับประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเข้าไปส่งเสริมการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่ง กนอ.คาดว่าชุมชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นผ่านโครงการสานฝันปั้นอาชีพได้ ประมาณ 5ล้านบาทต่อชุมชนต่อปีภายในปี 2565 และนับเป็นแนวทางในการนำไปสู่การสร้างความสมดุลของการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกันของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

“ในช่วงเริ่มต้นโครงการตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กนอ.พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายได้เข้าไปส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้รูปแบบการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ทำให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กระดับวิสาหกิจชุมชน โดยรอบนิคมฯนำร่อง จำนวน 10 แห่ง รวมถึงอาชีพอุตสาหกรรมบริการเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพรักษาความปลอดภัย อาชีพคนจัดสวน และอาชีพผลิตอาหารและเครื่องดื่มทำให้ชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นเครือข่าย เพื่อนำไปต่อยอดขยายธุรกิจ หรือ การประกอบอาชีพในท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชนและสามารถพึงพาตนเองได้ในอนาคต” นางสาวสมจิณณ์กล่าว

กนอ. เดินหน้า สานฝัน ปั้นอาชีพ อีก 1,000 ราย

ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้กับชุมชนและวิสาหกิจชุมชนรอบนิคมฯอย่างต่อเนื่อง กนอ.เตรียมพร้อมในการเข้าไปดำเนินการส่งเสริมโครงการ สานฝัน ปั้นอาชีพ ในปี 2563 เพิ่มอีก 1,000 รายใน 10 นิคมฯ ได้แก่ กลุ่มนิคมฯ มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ นิคมฯ แหลมฉบัง นิคมฯ เวลโกรว์ นิคมฯ ทีเอฟดี นิคมฯ เกตเวย์ซิ้ตี้ นิคมฯ ดับบลิวเอชเอ ชลบุรี นิคมฯ อมตะซิตี้(ระยอง) นิคมฯ กลุ่มปิ่นทอง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างในด้านการบริการให้แก่ภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัว โดยเฉพาะการพัฒนาในอาชีพธุรกิจไฟฟ้า ช่างประปา ช่างยนต์ อิเล็กทรอนิกส์/อุปกรณ์มือถือ ช่างซ่อมเครื่องยนต์เรือเล็ก แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานขับรถ และอาชีพผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

โครงการ สานฝัน ปั้นอาชีพเป็นโครงการที่ กนอ. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย 16 หน่วยงาน อาทิ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงินและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สมาคมเพื่อนชุมชน และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เป็นต้น เพื่อร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดย กนอ. เป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน และ สถาบันการศึกษา ในการเข้าร่วมสนับสนุนโครงการทั้งในด้านฝึกอบรมวิชาชีพ การให้ความรู้ด้านการเงินและการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยมีธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวอีกด้วย

Kanokkarn .T
READ MORE
×