Thursday, March 28Modern Manufacturing
×

กรอ.เตรียมออก รง.4 ผ่านระบบออนไลน์

กรอ.คาด การพัฒนาระบบออนไลน์ พิจารณาออกใบ ร.ง.4 ผ่านอี-ไลเซนส์ จะแล้วเสร็จปี 63 ส่วน พ.ร.บ.ใหม่โรงงานขนาดเล็ก 7 หมื่นแห่ง ยังถูกตรวจสอบสิ่งแวดล้อมเข้มงวดเหมือนเดิม

กรอ.เตรียมออก รง.4 ผ่านระบบออนไลน์

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพัฒนาจัดทำระบบออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ไลเซนส์) ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ซึ่งเป็นระบบการออกใบอนุญาตแบบออนไลน์ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และสร้างความโปร่งใสในการบริหารงาน คาดว่าระบบอี-ไลเซนส์จะสามารถนำมาใช้เป็นรูปธรรมได้ภายในปี 63 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

“กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีนโยบายที่ชัดเจน ในการสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนที่จะตั้งโรงงาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาต โดยปัจจุบันได้จัดทำคู่มือและรายละเอียดเอกสารขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันในส่วนของกรมฯ เองก็ได้ประกาศไม่ให้มีการรับผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมาการพิจารณา ร.ง.4 จะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ปัจจุบันนี้ได้พัฒนาและลดขั้นตอนที่รวดเร็ว หากเอกสารครบและถูกต้อง จะใช้เวลาการพิจารณาไม่เกิน 30 วันและหากนำระบบอี-ไลเซนส์มาใช้ก็จะยิ่งรวดเร็วและตรวจสอบได้ง่ายอีกด้วย”

ทั้งนี้ผลของการปรับลดขั้นตอนในการอนุญาตใบ ร.ง.4 รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ทำให้สถานการณ์การขอใบอนุญาต ร.ง.4 มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันที่ 1 ม.ค.–23 เม.ย.62 มียอดประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มสูงถึง 68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือกว่า 60,000 ล้านบาท ขณะที่การจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 5,000 คน โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงในช่วงดังกล่าว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมอาหาร

โดยจากผลการสำรวจของนิด้าโพลที่ได้สอบถามประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศ พบว่าการบริหารงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้คะแนนความโปร่งใสอยู่ที่ 85% ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการให้บริการที่ตรวจสอบได้ การอำนวยความสะดวก อัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม และการให้บริการของเจ้าหน้าที่

นายทองชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับใหม่)ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เช่น ระบุว่าอาจเกิดผลกระทบจนทำลายระบบสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นของโรงงานขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรกำลังต่ำกว่า 50 แรงม้าและมีคนงานต่ำกว่า 50 คนประมาณ 70,000 แห่งไม่ถือเป็นโรงงาน และจะทำให้ไม่มีการเข้าควบคุม ดูแล กวดขัน เฝ้าระวัง ตรวจติดตามตามกฎหมายอีกต่อไป ขอชี้แจงว่าโรงงานขนาดเล็กในปัจจุบันก็ยังอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายอื่นๆอีกมากเช่น กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ส่วนการแก้ไขคำนิยามคำว่า ตั้งโรงงาน จากการก่อสร้างอาคารเพื่อติดตั้งเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการเป็นการนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคารสถานที่ หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการโรงงาน หรือนำคนงานมาประกอบกิจการโรงงานในกรณีที่ไม่มีการใช้เครื่องจักร ซึ่งเหตุผลในการตัดถ้อยคำดังกล่าว เนื่องจากการก่อสร้างอาคารนั้น มีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กำกับดูแลอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฎิบัติตามกฎหมาย

ขณะที่การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ)ถือว่าเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบกิจการเฉพาะที่อยู่ในข่ายที่ต้องทำรายงานดังกล่าวก่อนจึงจะสามารถอนุญาตตามกฎหมายอื่นได้

“พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับใหม่) เป็นประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องมลพิษจะช่วยสร้างความโปร่งใส และเรื่องของการตรวจสอบนั้น ขอให้มั่นใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีการตรวจสอบที่เข้มงวดเหมือนเดิม”

Kanokkarn .T
READ MORE
×