Friday, April 19Modern Manufacturing
×

กสอ. ส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม 3 x 3

กสอ.ลงพื้นที่เยี่ยมชม ผู้ผลิตข้าวโพดหวานส่งออกรายใหญ่ของไทย ต้นแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เตรียมผลักดันแพลทฟอร์มส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม 3 x 3 เน้นการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

กสอ. ส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม 3 x 3

นายภาสกรชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ.ได้มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรไทยเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำการเกษตร และส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม 3x 3 (3 เสริม 3 ทรานสฟอร์ม) คือ การใช้ 3 เครื่องมือในการเสริมแกร่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบเกษตรอุตสาหกรรม ให้มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล

กสอ. ส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม 3 x 3

ขณะเดียวกัน ก็ใช้ 3เครื่องมือในการบ่มเพาะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการทรานฟอร์มไปสู่ระดับต่าง ๆ ได้ โดยการเสริมแกร่งประกอบด้วย

1) การส่งเสริมตลาดกลาง และการตลาดแบบเกษตรออนไลน์ เน้นการส่งเสริมราคามาตรฐานลดกลไกพ่อค้าคนกลาง

2) การพัฒนาต้นแบบรถแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเคลื่อนที่เน้นการแปรรูปสินค้าเกษตรเบื้องต้นเพื่อยืดอายุผลผลิต 150 ต้นแบบ โดยจะเข้าไปช่วยทดลองแปรรูปผลิตสินค้าให้กับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะทำให้เกษตรกรเข้าใจและสนใจที่จะปรับตัวไปสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์มากขึ้นนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานผลผลิตนำไปสู่การแปรรูปเบื้องต้น

3) การพัฒนาคลัสเตอร์เกษตรอุตสาหกรรมเชื่อมโยง CIVและการท่องเที่ยว เน้นตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกลุ่ม OEM Marchandiser 100 กลุ่ม ขณะที่การทรานสฟอร์ม ประกอบด้วย

  • การปั้นนักธุรกิจเกษตรด้วยการจัดการเกษตรอุตสาหกรรม เน้นทายาทเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ 15,000 คน
  • การพัฒนานวัตกรรมเกษตรแปรรูปด้วยศูนย์ ITC 4.0 เน้นกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร 5,000 ราย และ
  • บ่มเพาะผู้ประกอบการเกษตรกรแปรรูปพันธุ์ใหม่ (Agro Genius Academy) เน้นการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากสินค้าGI ในพื้นที่ต่าง ๆ เครือข่ายนักธุรกิจรุ่นใหม่

“แพลทฟอร์มการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม 3 x 3 เป็นแนวคิดในการใช้เกษตรอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรโดยบริหารจัดการทรัพยากร ตั้งแต่คน วัตถุดิบ เครื่องจักร และกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้มีคุณภาพสูงตรงกับความต้องการของผู้บริโภคตลอดจนบริหารเครือข่ายธุรกิจภายใต้ Supply Chain ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่ง บริษัท ซันสวีท จำกัด(มหาชน) ถือเป็นบริษัทต้นแบบที่มีการบริหารจัดการโดยเฉพาะการดำเนินการรูปแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน”นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ซันสวีทจำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูป ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท“KC” โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง(CANNED)ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ (POUCH) และข้าวโพดหวานแช่แข็ง(FROZEN)

นอกจากนี้ บริษัทยังผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรอื่น ๆ ในกลุ่มสินค้าสุขภาพอาทิ มันหวานเผา น้ำนมข้าวโพด เมื่อเร็วๆนี้ยังได้แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่“กะทิสำเร็จรูป”(coconut milk) และ “น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม” (coconut drink) ภายใต้แบรนด์ “KC” โดยมีกลุ่มลูกค้ากระจายอยู่มากกว่า 70 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และสวิสเซอร์แลนด์คิดเป็นร้อยละ 80 ของยอดขายทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นตลาดในประเทศ

สำหรับวัตถุดิบหลัก คือข้าวโพดหวาน ทางบริษัทรับซื้อผลผลิตจาก 3 ส่วน ได้แก่

  • KC ฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มของบริษัท มีจำนวน 20 กว่าไร่
  • ฟาร์มของเกษตรกรที่ร่วมทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า (Contract Farming) จำนวนกว่า 20,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและล่าง จำนวน 50,000– 100,000 ไร่ต่อปี และ
  • โบรคเกอร์ หรือ การส่งเสริมตรง จะมีผู้ทำหน้าที่รวบรวมเกษตรกรเพื่อปลูกข้าวโพดป้อนบริษัท โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเข้าไปตรวจสอบติดตามการเพาะปลูกร่วมกับโบรคเกอร์

ทั้งนี้เพื่อคงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเข้ามาบริหารจัดการผสมผสานเข้ากับงานด้านการเกษตรโดยริเริ่มดำเนินโครงการสมาร์ทฟาร์ม ที่ KC ฟาร์ม ตั้งแต่ปี 2555 ทั้งการจัดระบบน้ำ ให้น้ำแบบระบบน้ำหยด การให้ปุ๋ยวัดอุณหภูมิ ความชื้น ความร้อนและแสงแดด ซึ่งช่วยให้การเพาะปลูกมีความแม่นยำ มีคุณภาพเพิ่มจำนวนผลผลิตให้มากขึ้นในแต่ละปี โดยจากข้อมูลพบว่าระบบสมาร์ทฟาร์มสามารถเพิ่มผลผลิตร้อยละ 30-40 ต่อไร่ ซึ่ง KC ฟาร์ม ถือเป็นสมาร์ทฟาร์มต้นแบบที่ทำให้เกษตรกรเข้าใจและสามารถนำไปใช้ควบคู่กับภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบเกิดความยั่งยืนด้วยสินค้าที่มีคุณภาพที่ผู้บริโภคยอมรับ โดยมีการขยายระบบสมาร์ทฟาร์มไปยังฟาร์มของเกษตรกรที่ร่วมทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ปัจจุบันมีจำนวน 200 กว่าราย

“บริษัทฯมีความมุ่งหวังที่อยากให้ธุรกิจนี้ เป็นประโยชน์กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร แรงงาน และพนักงาน ซึ่งตั้งเป้าจะขยายสมาร์ทฟาร์มให้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 – 15 ต่อปี แต่ยังติดปัญหาเรื่องต้นทุนที่ค่อนข้างสูง จึงอยากให้กรมฯ เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนด้านนวัตกรรมที่เกษตรกรและชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้” นายองอาจ กล่าว

Kanokkarn .T
READ MORE
×