Friday, April 19Modern Manufacturing
×

บ้านปู ลุย ธุรกิจEnergy Trading ในญี่ปุ่น

บ้านปู เดินหน้า ศึกษาธุรกิจใหม่ Energy Trading ในประเทศญี่ปุ่น คาดเปิดให้บริการได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ เล็งลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 50 เมกะวัตต์ในลาว

บ้านปู ลุย ธุรกิจEnergy Trading ในญี่ปุ่น

บ้านปู ลุย ธุรกิจEnergy Trading ในญี่ปุ่น

นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการทำธุรกิจใหม่ คือ การซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มระบบกลาง (Energy Trading) ในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอใบอนุญาตจากทางการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ เชื่อว่าการที่เข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีข้อมูลความต้องการและปริมาณไฟฟ้าของตลาดญี่ปุ่น ช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายพอร์ตการผลิตไฟฟ้านอกเหนือจากปัจจุบันที่ต้องมีสัญญาซื้อขาย (PPA) เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเท่านั้น

ทั้งนี้การซื้อขายไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ทั้งการขายเข้าระบบส่ง หรือ Grid และการขายผ่าน Trading ซึ่งขณะนี้มีบริษัทซื้อขายแบบ Trading นับ 100 บริษัท เมื่อบริษัทเริ่มเข้าสู่ธุรกิจการเทรดก็จะมีข้อมูลตลาดมากขึ้น หากบริษัทมีปริมาณและราคาไฟฟ้าตรงกับที่ตลาดต้องการก็สามารถที่จะขายไฟฟ้าเข้าไปในระบบได้ ทำให้มีโอกาสมากขึ้นในการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมโดยไม่ต้องรอสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็สามารถซื้อไฟฟ้าเพื่อนำมารอขายในระบบในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ด้วย โดยปัจจุบันบริษัทได้ตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อรองรับการดำเนินงาน และมองโอกาสที่จะขยายต่อไปได้ในอนาคต

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่น 13 โครงการ กำลังผลิตรวม 234 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 38 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างพัฒนา ซึ่งจะเดินเครื่องในปีนี้อีก 5 โครงการ รวม 62 เมกะวัตต์ และเดินเครื่องอีก 2 โครงการในปี 63 ส่วนอีก 1 โครงการที่เหลือจะเดินเครื่องผลิตในปี 66

นอกจากโอกาสการลงทุนในญี่ปุ่นด้วยรูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่นี้แล้ว บริษัทก็ยังมองโอกาสการลงทุนในประเทศที่บริษัทมีฐานการผลิตอยู่แล้ว อย่างในลาวที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าหงสา เป็นโรงไฟฟ้าหลักของบริษัทอยู่แล้ว ก็ยังพิจารณาการเข้าลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดเล็ก กำลังผลิต 40-50 เมกะวัตต์ ส่วนจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อใดนั้นยังต้องรอดูการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าในลาวด้วย ซึ่งคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง หากพบว่าเหมาะสมก็จะนำเสนอโครงการให้รัฐบาลลาวต่อไป

รวมถึงมองโอกาสการลงทุนในประเทศใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการในธุรกิจไฟฟ้า ทั้งอินโดนีเซีย ,ฟิลิปปินส์ ,ออสเตรเลีย และไต้หวัน โดยในอินโดนีเซีย มี บมจ.บ้านปู (BANPU) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ทำธุรกิจเหมืองถ่านหินอยู่แล้ว ก็ทำให้มีโอกาสต่อยอดธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้ และเห็นว่าเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่มาก แต่เศรษฐกิจยังไม่เติบโตเท่ากับเวียดนาม โดยมองการลงทุนในพื้นที่ที่กลุ่มบริษัทมีประสบการณ์ถ่านหินเพื่อต่อยอดเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมองโอกาสในด้านพลังงานหมุนเวียนด้วยเช่นกัน

ส่วนฟิลิปปินส์ มีศักยภาพทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ออสเตรเลียและไต้หวัน บริษัทให้ความสนใจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

สำหรับในประเทศไทย นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่รัฐบาลมีโอกาสจะเปิดรับซื้อเพิ่มเติมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ที่บริษัทให้ความสนใจอยู่แล้วนั้น ยังมองการเข้าลงทุนในการผลิตไฟฟ้าพลังงานอาทิตย์บนผิวน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ตามแผน PDP2018 คาดว่าจะมีการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำจากเอกชนในปริมาณ 700 เมกะวัตต์ แต่คงจะอยู่ในช่วงปลายแผน ซึ่งบริษัทก็พร้อมที่จะเข้าร่วมแข่งขัน เนื่องจากมีประสบการณ์ที่เคยศึกษาร่วมกับรัฐบาลลาวที่จะทำโซลาร์ลอยน้ำในลาว แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเพราะต้องรอความต้องการใช้ไฟฟ้าในลาวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย

Kanokkarn .T
READ MORE
×