Wednesday, April 24Modern Manufacturing
×

สรุป COD ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน VSPP-SPP AEDP แค่เอื้อม

การพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทยเพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไว้ให้ลูกหลานกลายเป็นธุรกิจที่ตกอยู่ภายใต้เกมส์การเงินที่อาศัยเกมส์การเมืองเป็นที่พึ่งพิง มีการคาดการณ์และประเมินสภาวะสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าในตลาดหุ้น หากภาครัฐยืนแถวตรงมองประโยชน์ประเทศชาติแล้วละก็ ใครชาติไหนจะเล่นเกมส์อย่างไร ลูกหลานไทยก็จะยังมีพลังงานสะอาดไว้ใช้

สรุป COD ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน VSPP-SPP AEDP แค่เอื้อม

สรุป COD ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน VSPP-SPP AEDP แค่เอื้อม

ก่อนอื่นขอขอบคุณสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่กรุณาสรุปข้อมูลภาพรวมมาให้พวกเราได้คาดการณ์อนาคตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างไม่หลงทาง

อาจเป็นครั้งแรกที่ได้นำเอาข้อมูลในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบให้เห็นแนวโน้มของเป้าหมาย AEDP ชุดแรกที่มีลักษณะแบบกราฟแท่ง เป็นข้อมูลรวมของสถานการณ์ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งรวมทั้ง SPP และ VSPP ส่วนชุดที่เป็นตารางเป็นข้อมูลจากกองวางแผนแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นขนาด VSPP คือโครงการขนาดน้อยกว่า 10 เมกะวัตต์

เมื่อนำข้อมูลทั้งสองหน่วยงานมาเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า ส่วนต่างก็คือส่วนที่เป็น SPP คือ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งเจ้าภาพก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่วนการไฟฟ้านครหลวงซึ่งดูแลในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ยังมีผู้เสนอขายไฟฟ้าน้อยมาก ดังนั้น จะขอวิเคราะห์ในแต่ละเชื้อเพลิงว่าสถานการณ์การลงทุนจะเป็นเช่นไร

พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell): มีผู้เสนอขายไฟฟ้าล้นปริมาณที่ภาครัฐรับได้ คือเสนอขาย 3,000 กว่าเมกะวัตต์ แต่ภาครัฐกำหนดปริมาณไว้เพียง 2,000 เมกะวัตต์ หากจะมีการเพิ่มก็ต้องผ่าน กพช. (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ Solar Cell น่าจะเป็น Solar Roof มากกว่า Solar Farm

ส่วนผู้ที่ขอขายไฟไว้ด้วยเทคโนโลยี Thermal หากยังไม่ลงนามในสัญญา ก็จะได้รับการผ่อนผันให้เปลี่ยนเทคโนโลยี แต่ลดค่า Adder ลงเหลือ 6.50 บาท เป็นเวลา 10 ปี ก็นับว่ายังมีโชคช่วยอยู่ สำหรับผู้ที่ได้รับ Adder 8 บาท แต่ได้ราคาแผงโซล่าร์ปัจจุบันนับว่าโชคดีที่สุด จนมีผู้เปรียบผู้โชคดีเหล่านี้ว่ามีเครื่องแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นธนบัตร

พลังงานลม (Wind Energy): อีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่ไม่จำเป็นต้องวิ่งหาเชื้อเพลิง (Feedstock) การทำธุรกิจนี้ต้องใช้เวลาในการตรวจวัดลมอย่างน้อย 1-2ปี เพื่อให้แน่ใจว่าในพื้นที่เป้าหมายของโครงการมีกระแสลมเฉลี่ยที่แน่นอนทั้งปีเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากอัตรากระแสลมเฉลี่ยเมืองไทยค่อนข้างต่ำ คือประมาณ 4-5เมตรต่อวินาที โครงการพลังงานลมในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นขนาด SPP คือตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ดังนั้น หากท่านดูตารางของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จะมีผู้เสนอขายไฟฟ้าไม่สูงนัก

หากท่านดูจากแผนผังรวมก็จะเห็นว่า โครงการพลังงานลมมีการติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยและพร้อมขายไฟให้การไฟฟ้าฯ กว่า 200เมกะวัตต์ เซ็นต์สัญญาแล้วอีก 200กว่าเมกะวัตต์ และผ่านการอนุมัติเบื้องต้นอีก 800กว่าเมกะวัตต์ ในขณะที่เป้าหมายตามแผน 10ปีตั้งไว้ 1,200เมกะวัตต์

พลังงานน้ำ (Hydro-Power): ตั้งเป้าหมายไว้ถึง 1,608เมกะวัตต์ แต่มีกำลังการผลิตติดตั้งพร้อมขายไฟฟ้าเพียง 29เมกะวัตต์ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่า อัตราส่วนเพิ่ม (Adder) ไม่จูงใจ และพื้นที่ดำเนินโครงการที่เหมาะสมส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น จึงควรนำเป้าหมายของพลังงานจากน้ำไปเพิ่มให้กับ Biomass และ Waste to Energy

พลังงานชีวมวล (Biomass): พลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้าหลักของเมืองไทย ตามแผน AEDP กำหนดเป้าหมายไว้ 3,630เมกะวัตต์ สถานการณ์ปัจจุบันก็คือ พร้อมจ่ายไฟฟ้าแล้ว 1,818เมกะวัตต์ และลงนามในสัญญาแล้วกว่า 1,400เมกะวัตต์ ดูจากภาพรวมแล้วน่าจะสบายใจได้

ส่วน Biomass ขนาดเล็ก ถ้าดูจากผังของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว อาจจะยังรู้สึกว่าต่ำอยู่ เนื่องจาก Biomass ส่วนใหญ่มาจากชานอ้อยและของเหลือทิ้งทั้งจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่

พลังงานก๊าซชีวภาพ (Biogas): ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเดิม (15ปี) กำหนดเป้าหมายไว้ 120เมกะวัตต์ จากความสามารถของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการ โดยมีงบประมาณสนับสนุนจนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกินเป้าหมาย ดังนั้น ในแผน AEDP 10ปี จึงปรับเป้าหมายมาที่ 600เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ไม่ยากนัก หากรัฐมีการอุดหนุนงบประมาณหรือปรับ Adder ในอัตราที่เหมาะสม เนื่องจาก Biogas ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กและเล็กมาก ดังนั้น หากเราเปรียบเทียบจากข้อมูลทั้ง 21แหล่ง จะเห็นว่ากว่า 80%เป็นโครงการขนาดไม่ถึง 10 MW ข้อควรตระหนักก็ยังคงเป็นเรื่องความมั่นคงของ Feedstock ในอนาคตว่าอีก 10-15ปีจะมาจากไหน? มีต้นทุนสูงต่ำแค่ไหน? รัฐจึงควรใช้ระบบ Adder มากกว่าระบบ FIT

พลังงานขยะ (Waste to Energy): พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าที่ท้าทายที่สุดในขณะนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “พลังงานขยะ” คือธุรกิจที่ “High Risk, High Return” ท่านที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อนหรือรับฟังจากผู้ที่ไม่เข้าใจธุรกิจนี้รับรอง 100%ว่าต้องร้อง “ยี้” และไม่ยอมรับฟังเหตุผลใด ๆ ต่อไปอีก แต่ก็ยังมีกลุ่มธุรกิจที่สายตาเฉียบคมมุ่งเจาะธุรกิจนี้ และยังวางแผนจะเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตพลังงานจากขยะ ซึ่งได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลัก ๆ ของพลังงานขยะ ก็คือ (1) เจ้าของขยะ (2) ชุมชน และ (3) เทคโนโลยี ซึ่งต้องแปลงขยะให้เป็นเชื้อเพลิง RDF ก่อนนำไปใช้ผลิตพลังงาน มิฉะนั้นจะเสี่ยงกับสารก่อมะเร็ง เช่น ไดออกซิน เป็นอย่างมาก ดังนั้น โครงการพลังงานขยะขนาดเล็กและขนาดกลางจึงมักจะล้มเหลวและไม่สามารถคืนทุนได้ เนื่องจาก Adder ต่ำเกินไป ดังที่เห็น ๆ อยู่หลายโครงการ นอกจากนี้สถาบันการเงินในประเทศก็ยังขาดข้อมูลในการพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อพลังงานจากขยะ

จากแผน AEDP ของกระทรวงพลังงาน 10 ปี ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากหลากหลายเชื้อเพลิงไว้ 9,198 MW วันนี้มี COD (Commercial Operation Date) ที่เริ่มจะจำหน่ายไฟฟ้าได้แล้ว 2,719 MW เมื่อเดือนมีนาคม 2556 หรือประมาณ 30% ดังนั้น เป้าหมาย AEDP จึงอยู่แค่เอื้อม

แต่ถ้าเจาะลึกลงไปว่าพลังงานแสงอาทิตย์มีศักยภาพผลิตไฟฟ้า (Plant Factor) ประมาณ 15-16% ส่วนพลังงานลมก็ประมาณ 20-25%นอกจากนี้ พลังงานที่ต้องมี Feedstock อย่างชีวมวล ก๊าซชีวภาพ รวมทั้งพลังงานขยะ ปริมาณ COD กับประมาณไฟฟ้าขายเข้าสู่ระบบจริงอาจจะแตกต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ VSPP ดังนั้น ถ้าจะฟันธงว่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนวันนี้ เสาหลักก็คือ “พลังงานชีวมวล” ที่เป็น SPP ก็คงไม่มีใครปฏิเสธ

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×