Tuesday, April 23Modern Manufacturing
×

จับต้น… ชนปลาย อนาคตใหม่ของยานยนต์ไฟฟ้า

จากการที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะเปลี่ยนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลแล้วหันไปพึ่งพาพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมได้ หนึ่งในหมากตัวสำคัญของแผนการดำเนินงานที่รัฐบาลเร่งผลักดัน นั่นคือ ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้วางมาตรการการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (Energy Efficiency Plan: EEP 2015) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2579 รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน

จับต้น... ชนปลาย อนาคตใหม่ของยานยนต์ไฟฟ้า

จับต้น… ชนปลาย อนาคตใหม่ของยานยนต์ไฟฟ้า

ไร้เครื่องยนต์ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT กล่าวถึงยานยนต์ไฟฟ้าว่า ขณะนี้ทั่วโลกมียานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 2 ล้านคัน ประเทศจีนมียานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด ในอนาคตจะมียานยนต์ที่ไร้เครื่องยนต์ ซึ่งจะขับเคลื่อนด้วยการใช้มอเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่จึงทำให้ในปัจจุบันมีราคาสูง อย่างไรก็ตามในกลุ่มที่ไม่มีเครื่องยนต์ที่ได้รับความนิยมและขายดีในขณะนี้ คือ เทสลา โมเดล S กับนิสสัน Leaf และในปี 2018 เทสลาจะมียอดจองถึง 4 แสนคัน ขณะที่ในปี 2035-2040 จะมีรถยนต์ไฟฟ้า 50%

“ปัจจุบันมีอัตราการผลิตรถยนต์จำนวน 80 ล้านคันต่อปี โดยในปี 2020 จะมีการผลิตประมาณ 120 ล้านคัน ทั่วโลก
มีรถยนต์ประมาณพันล้านคัน แต่มี EV เพียง 2 ล้านคัน นั่นเท่ากับว่ายังไม่ถึง 1% ของจำนวนรถทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมากในจำนวนรถสะสมทั้งหมด 30% ประมาณในปี 2030 สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในเรื่องของการพัฒนาตลาดของเทคโนโลยีใหม่ๆ มาร์เก็ตแชร์ก็น้อยมาก 1 ปี ขายได้ 80 ล้านคัน เป็นรถไฟฟ้าไม่ถึง 1 ล้านคันต่อปี สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาของเทคโนโลยีใหม่ๆ”

การส่งเสริมเงินทุนการที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศนั้น

  1. จะต้องส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง EV ในอาเซียน
  2. ส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
  3. ประเทศไทยมีฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศ ทำอย่างไรให้เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้
  4. ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาในประเทศ
  5. การส่งเสริมเงินทุน

ส่งเสริมตลาด ปั้นโครงสร้างพื้นฐาน กำจัดซากแบตเตอรี่

ดร.ยศพงษ์ ได้กล่าวถึงยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกว่า ในประเทศไทย EV เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2015 ขณะนั้นคณะกรรมการปฏิรูปมองว่าการสนับสนุน EV เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่การที่ยานยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องมีการส่งเสริมตลาดในประเทศ และภาครัฐต้องมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 20% มีการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐาน และมองไปถึงการกำจัดซากแบตเตอรี่ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร แต่จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อีกทั้ง ยานยนต์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นมีราคาค่อนข้างสูง แต่หากในอนาคตมีการใช้งานมากขึ้นก็จะทำให้มีราคาถูกลง

“ทุกวันนี้หลายคนตั้งคำถามว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะมาหรือไม่ คำว่าจะมา คือ เรามีคนที่พร้อมเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 1 ใน 3 หรือไม่ หรือครึ่งหนึ่งที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่ การที่เรามีโครงการที่ส่งเสริมให้กับคนที่พร้อมจะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นโอกาสที่ดี เพราะการเกิดเทคโนโลยีต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ตั้งแต่เรื่องของการสาธิต อย่างในต่างประเทศมีคอมเมอร์เชียลสเกลแต่ยังคงเป็นตลาดเฉพาะ กว่าจะไปถึงการเป็นที่ยอมรับของทุกคนเป็นไปได้แต่ก็ต้องใช้เวลา ซึ่งมีข้อจำกัด คือ ราคาแบตเตอรี่ ระยะทาง ข้อมูลผู้ใช้งาน

ตอนนี้เรามีไฮบริดกับปลั๊กอินไฮบริดเกือบ 8 หมื่นคัน มีการประมาณการณ์ว่าปลั๊กอินไฮบริดสิ้นปีนี้จะมีถึง 1 หมื่นคัน ซึ่งมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาก และยังคงเป็นตลาดกลุ่มพรีเมี่ยมเนื่องจากมีราคาแพง แต่ในอนาคตหากมีการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ราคาถูกลง”

มุ่งผลักดันการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ

ดร.ยศพงษ์ มองว่า ความเป็นไปได้ที่ยานยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นมีความท้าทายเป็นอย่างมาก แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งในเรื่องของการใช้และการผลิต ขณะเดียวกันการที่จะพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอาจจะต้องสร้างระบบนิเวศให้ครบวงจรและยกระดับการผลิตให้ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ การผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าก็ต้องเผชิญกับกฎระเบียบบางประการที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อสิ่งใหม่ๆ ดังนั้น การพัฒนาจึงต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

“การเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น จะทำให้กระบวนการผลิตมีผลิตภาพสูงขึ้น ผู้ประกอบการจะมีการปรับตัวเรื่องของการใช้พลังงานในขั้นตอนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ความท้าทายในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าก็ยังคงต้องเผชิญกับเรื่องของกฎระเบียบที่ยังคงไม่เอื้ออำนวยต่อเรื่องใหม่ๆ ให้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องค่อยๆ ปรับแก้กันไป ที่สำคัญ คือ จะต้องผลักดันให้เกิดการผลิตแบตเตอรี่ภายในประเทศให้ได้”

ประเภทของยานยนต์ไฟฟ้า

ประเภทของยานยนต์ไฟฟ้า

  • ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEVs) ใช้เชื้อเพลิงที่บรรจุในยานยนต์และทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มกำลังของยานยนต์ให้เคลื่อนที่ ทำให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จึงมีความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่ายานยนต์ปกติ กำลังที่ผลิตจากเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้อัตราเร่งของยานยนต์สูงกว่ายานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ลูกสูบขนาดเดียวกัน รวมทั้งยังสามารถนำพลังงานกลที่เหลือหรือไม่ใช้ประโยชน์เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บในแบตเตอรี่
  • ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicle, PHEVs) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาต่อมาจากยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด โดยสามารถประจุพลังงานไฟฟ้าได้จากแหล่งภายนอก (Plug-in) ทำให้ยานยนต์สามารถใช้พลังงานพร้อมกันจาก 2 แหล่ง จึงสามารถวิ่งในระยะทางและความเร็วที่เพิ่มขึ้นด้วยพลังงานจากไฟฟ้าโดยตรง
  • ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle, BEVs) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเฉพาะมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังให้ยานยนต์เคลื่อนที่ และใช้พลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่เท่านั้น ไม่มีเครื่องยนต์อื่นในยานยนต์ ดังนั้น ระยะทางการวิ่งของยานยนต์จึงขึ้นอยู่กับการออกแบบขนาดและชนิดของแบตเตอรี่ รวมทั้งน้ำหนักบรรทุก
  • ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEVs) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงมีข้อดีหลายๆ ประการ ข้อดีที่สำคัญที่สุดคือ ประสิทธิภาพของเซลล์เชื้อเพลิงมีค่าสูงถึง 60% และความจุพลังงานจำเพาะที่สูงกว่าแบตเตอรี่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เร่งติดตั้ง 150 สถานีอัดประจุไฟฟ้า

ดร.ยศพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวทางการสนับสนุนของภาครัฐน่าจะช่วยผลักดัน ส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5-10% ภายในช่วงระยะเวลา 5-8 ปีนี้อย่างแน่นอน เบื้องต้นคาดว่ามีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อินไฮบริดหรือ PHEV และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่หรือ BEV มากขึ้น เป็นสัดส่วน 5-10% ของรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2568 จากปัจจุบันที่มียอดการใช้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า 0.1% ของยอดการใช้ภายในประเทศไทยที่ 800,000 คันในปีที่ผ่านมา

“รถยนต์ไฟฟ้าได้เริ่มมีการกล่าวถึงและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งจากนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และจากองค์กรและบริษัทเอกชนเองที่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้ง ภายในปี พ.ศ. 2562 กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) จำนวนไม่น้อยกว่า 150 สถานีทั่วประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อินมี 2 ประเภทที่เป็นที่นิยมอยู่ในตลาดโลก ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle-PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle-BEV) โดยเป้าหมายในระยะยาวที่รัฐบาลไทยได้ตั้งไว้ คือ การส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (PHEV & BEV) ทั้งประเทศให้ถึง 1.2 ล้านคันในปี พ.ศ. 2579 จากแผนของภาครัฐร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนที่จะส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย


Source:

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×