Tuesday, April 23Modern Manufacturing
×

อินเตอร์โรล (ประเทศไทย) พัฒนาอย่างมุ่งมั่น สู่โลจิสติกส์อัจฉริยะ ในยุค INDUSTRY 4.0

บริษัท อินเตอร์โรล (ประเทศไทย) จำกัด ปักหลักสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย ครบรอบ 25 ปี นอกจากเตรียมขยายโรงงานเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทั่วอาเซียนแล้ว ยังเดินหน้าวิจัยและพัฒนาระบบ Internal Logistics จากชิ้นส่วนลูกกลิ้งที่ใช้ในการลำเลียง สู่โลติสติกส์อัจฉริยะเต็มรูปแบบ พร้อมรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมทั่วภูมิภาค

พูดคุยกับ คุณไกรสร นาคะพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์โรล (ประเทศไทย) จำกัด ถึงโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงโปรดักส์ของอินเตอร์โรลที่มาในรูปโฉมของโมดูล ได้มาตรฐานสากล สามารถเชื่อมต่อและปรับประยุกต์เข้ากับความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างหลากหลายและเหมาะสม

อินเตอร์โรล (ประเทศไทย) พัฒนาอย่างมุ่งมั่น สู่โลจิสติกส์อัจฉริยะ ในยุค INDUSTRY 4.0

ไกรสร นาคะพงษ์

อินเตอร์โรล (ประเทศไทย)
ฐานใหญ่ของอาเซียน

คุณไกรสร นาคะพงษ์ เริ่มกล่าวถึงความเป็นมาของบริษัทว่า บริษัทแม่ของอินเตอร์โรลก่อตั้งขึ้นที่สวิตเซอร์แลนด์มากว่า 50 ปี โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนของสายพานลำเลียง (Conveyer) โดยเฉพาะชิ้นส่วนอย่างลูกกลิ้ง (Roller) เช่นเดียวกับอินเตอร์โรล (ประเทศไทย) ที่เริ่มดำเนินการผลิต และจัดจำหน่ายฮาร์ดแวร์สำหรับการลำเลียงและโลจิสติกส์มา 25 ปี จนปัจจุบันกำลังมีแผนจะขยายโรงงานครั้งยิ่งใหญ่เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางของบริษัทอินเตอร์โรลระดับภูมิภาคอาเซียน

อินเตอร์โรล (ประเทศไทย) ที่ดำเนินการมา 25 ปี เรียกว่าอยู่ในวัยหนุ่ม กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยังจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ส่วนบริษัทแม่ที่อยู่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1959 เราเน้นเรื่องโลจิสติกส์มาตลอด โฟกัสเรื่องนี้เรื่องเดียว ทำให้มีการพัฒนาตัวเองจนมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

เราเป็นบริษัทที่ให้บริการสินค้าด้าน Internal Logistics หรือเรียกว่า Material Handling ไม่ว่าจะเป็นลูกกลิ้งสำหรับ Conveyer รวมถึง Storage ต่างๆ โดยบริษัทชั้นนำทั้งระดับประเทศและระดับโลกไว้ใจเลือกใช้บริการสินค้าและระบบของเรา อาทิ Amazon CocaCola DHL Nestle Redbull Lazada เป็นต้น” คุณไกรสรกล่าว

แม้จะมีบริษัทลูก 32 บริษัททั่วโลก ทว่าในทวีปเอเชีย มีโรงงานใหญ่ที่ผลิตสินค้าป้อนตลาดอยู่เพียง 2 แห่ง คือ จีน ที่ดูแลพื้นที่เอเชียด้านบน ได้แก่ ในประเทศจีนเอง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน กับอีกโรงงานคือที่อมตะนครของอินเตอร์โรล (ประเทศไทย) ที่ดูแลพื้นที่ภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด ไม่ว่าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

การมีโรงงานขนาดใหญ่ มีกำลังและศักยภาพการผลิตสูงทั้ง 2 แห่งในทวีป ถือเป็นความได้เปรียบและกลายเป็นจุดแข็งของอินเตอร์โรล เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที หากเกิดความขัดข้องหรือปัญหาเฉพาะหน้าที่โรงงานแห่งใดแห่งหนึ่งไม่สามารถผลิตได้ทัน ก็สามารถหาชิ้นส่วนจากอีกโรงงานมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว

คุณไกรสร กล่าวว่า การมีโรงงานขนาดใหญ่ มีกำลังและศักยภาพการผลิตสูงทั้ง 2 แห่งในทวีป ถือเป็นความได้เปรียบและกลายเป็นจุดแข็งของอินเตอร์โรล เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที หากเกิดความขัดข้องหรือปัญหาเฉพาะหน้าที่โรงงานแห่งใดแห่งหนึ่งไม่สามารถผลิตได้ทัน ก็สามารถหาชิ้นส่วนจากอีกโรงงานมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว

“สมัยก่อตั้ง เราเริ่มสร้างโรงงานที่ถนนบางนาตราด และเพิ่งย้ายไปที่อมตะนครเมื่อปี 2552 แต่ในเวลาอันใกล้นี้ เรากำลังจะขยายโรงงานอีกเท่าตัว จาก 2,000 ตารางเมตร เป็น 5,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมในภูมิภาคที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ปีที่ผ่านๆ มา สถานการณ์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยจะอยู่ในสภาพทรงๆ ไม่ขยายตัวเท่าไรนัก แต่การที่เราสามารถประคองตัวไปได้ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ” คุณไกรสรกล่าวถึงแผนการขยายโรงงานของอินเตอร์โรล (ประเทศไทย)

ลูกกลิ้ง Interroll

จากลูกกลิ้งสู่ ระบบ FIFO และ Fast-Moving

คุณไกรสร ยังเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของบริษัทอีกว่า อินเตอร์โรล (ประเทศไทย) ในช่วงแรก เป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนและอะไหล่ เน้นผลิตตัวลูกกลิ้ง (Roller) ของระบบสายพานลำเลียง (Conveyer) โดยสามารถแบ่งสัดส่วนกลุ่มลูกค้าคร่าวๆ ได้ว่า ขายให้บริษัทรับจ้างผลิต (OEM) สายพาน ประมาณ 80% ส่วนอีก 20% เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการหาซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนสายพานเอง

แต่ด้วยทิศทางและเทรนด์ของโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้อินเตอร์โรล หันมาให้ความสำคัญกับ ‘ระบบจัดเก็บ’ หรือ Storage มากขึ้น โดยนำเอาระบบการจัดเก็บแบบ FIFO (First in, First out) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการสินค้าหรือวัตถุดิบคงคลังที่ช่วยลดค่าเสื่อมและความสูญเสียได้อย่างมหาศาล รวมถึงมีการนำระบบที่ตอบโจทย์สินค้าที่เป็น Fast-Moving เข้ามาเสิร์ฟอุตสาหกรรมไทยที่ต่างกำลังพัฒนาเรื่องระบบโลจิสติกส์ด้วย

“เราเพิ่ม Volume ตรงส่วนระบบการจัดเก็บและ Internal Logistics ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจมาก สรุปคือ ยังขายชิ้นส่วนของคอนเวย์เยอร์เหมือนเดิม แต่สำเร็จรูปมากขึ้น อเนกประสงค์มากขึ้นรวดเร็วขึ้น และอัจฉริยะมากขึ้น ระบบคอนเวย์เยอร์ก็บริษัท OEM หรือโรงงานซื้อเราไปประกอบเอง สามารถลดขนาดโรงงานลงได้ เท่ากับว่า ใช้พื้นที่คุ้มค่ามากขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง ใช้คนน้อยลงได้” คุณไกรสรกล่าว

โมดูลคอนเวย์เยอร์ ตอบโจทย์โลจิสติกส์ 4.0

ในงาน Warehouse 2017 ที่เพิ่งผ่านมา อินเตอร์โรล (ประเทศไทย) ได้นำเทคโนโลยีล่าสุด อย่าง MCP หรือ Modular Conveyer Platform ซึ่งยังมีรากฐานที่การทำชิ้นส่วนและระบบสายพาน แต่เพิ่มเติมหลักคิดเรื่อง Modular เข้าไป กล่าวคือ แต่ละชิ้นส่วนหรือระบบย่อยๆ ของระบบสายพาน ต้องทำให้ได้มาตรฐานสำหรับการนำไปเชื่อมต่อกับชิ้นส่วนอื่นๆ ได้อย่างเป็นอิสระ

“จุดเด่นของ MCP คือ หนึ่ง ง่ายกับลูกค้าที่เป็น OEM เนื่องจากเป็นสินค้ามาตรฐาน สอง ใช้เวลาน้อย สาม ติดตั้งหน้างานง่ายมากด้วยระบบ Multi Control การเดินสายไฟทั้งหมดของระบบถูกคิดมาแล้ว ไม่เยอะและไม่เกะกะด้วยระบบที่อัจฉริยะขึ้นทำให้ระบบทุกอย่างกระชับขึ้นส่วนสำหรับ End User ด้วยความที่ชิ้นส่วนและระบบเราได้มาตรฐานสากล ทำให้สะดวกต่อการปรับเปลี่ยน ต่อขยายไลน์การขนส่งภายในได้ง่ายมาก เพิ่มไลน์ได้อย่างเป็นอิสระเพราะทุกชิ้นเป็นสล็อต เป็นโมดูลขึ้นอยู่กับผู้ใช้ เอาไปทำอะไร ใช้คุ้มแค่ไหน ออกแบบระบบให้เหมาะกับตัวเองได้แค่ไหน สามารถใช้งานแบบ Internet of Things ได้” คุณไกรสรกล่าวถึง MCP

โมดูลคอนเวย์เยอร์

นอกจากนี้ ยังมีอีกไฮไลท์ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานมาก คือ Automated Warehouse เป็นเทคโนโลยีใหม่ของอินเตอร์โรล ใช้ Magnetic Speed Controller และ Separator ตัวใหม่ ที่จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมมีระบบคลังสินค้าและการขนส่งภายในแบบอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น

“ลูกค้าชอบคิดว่าระบบนี้ต้อง Manual แต่จริงๆ สามารถทำให้เป็นระบบอัตโนมัติได้ เราเอามาแสดงให้เห็น อย่างการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือวัตถุดิบ ถ้าเป็นแบบ Manual จะต้องขนของไปวางบนพาเลท แล้วใช้รถฟอล์กลิฟต์ยกพาเลทเพื่อเคลื่อนย้าย แต่จริงๆ แล้วเรายังสามารถใช้ร่วมกับระบบเครนได้ ซึ่งระบบครนที่สูงกว่า 20 เมตรนี้เหมาะกับโรงงานทุกขนาด สามารถเขียนโปรแกรมให้มัน มันก็อ่านบาร์โค้ดแล้วเดินไปตามโปรแกรมที่เราตั้งค่าไว้

“นอกจากนี้ สามารถใช้สินค้าของเราร่วมกับ Third Party ได้ อย่างบริษัท Murata ก็เลือกใช้เครนของเขา ร่วมกับ ระบบ Storage ของเรา ปรับแต่งและเขียนโปรแกรมตามความต้องการ” คุณไกรสรกล่าว

นอกจากนี้ เรายังมีการใช้โปรแกรม Layouter ที่จะช่วยให้ผู้ใช้วางเลย์เอ้าท์ของระบบคอนเวย์เยอร์ทั้งหมดใน Internal Logistics ได้ก่อน โปรแกรมช่วยคิด คำนวณ และวิเคราะห์วิธีการที่ประหยัดและรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ใช้คุ้มค่าที่สุด

จับตา อุตสาหกรรม E-Commerce และขนส่ง

คุณไกรสร ยังวิเคราะห์ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมในบ้านเราว่า ปีที่ผ่านๆ มา แม้โดยรวมผลประกอบการต่างอยู่สภาวะทรงๆ ไม่ขยายตัวมากนัก แต่กลับมีตัวเลขการลงทุนด้านโลจิสติกส์ของแต่ละอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ โดยกลุ่มที่โดดเด่นและถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของอินเตอร์โรล คือ กลุ่ม Food and Beverage และกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ การเติบโตของธุรกิจ E-Commerce และธุรกิจคลังสินค้า (Distribution Warehouse) รวมถึงธุรกิจขนส่ง (CEP: Courier, Express and Parcel services) ในประเทศไทย

“อีกกลุ่มที่ขยายตัวอย่างมากในเอเชีย คือ สนามบินซึ่งต้องมีสายพานลำเลียง ทั้งการโหลดกระเป๋า และการตรวจความปลอดภัย อย่างเครื่องเอกซเรย์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ลูกกลิ้งที่ขับเคลื่อนสายพานตรวจกระเป๋า หรือกระทั่งงานระดับสากลต่างๆ หรือลูกค้าอาจจะนำโรลเลอร์ของเราไปประกอบร่วมกับเครื่องชั่งหรือตัววัดแรงเข้าไปเพิ่ม” คุณไกรสรกล่าว

ระบบโลจิสติกส์ดูเหมือนกำลังเข้ามามีบทบาทในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยิ่งด้วยการเผชิญภาวะวิกฤตขาดแคลนแรงงาน ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น

“ระบบ Sortation หรือระบบการคัดแยกสินค้าอัตโนมัติเป็นระบบที่ตอบโจทย์ได้แทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม จะทำงานโดยอาจเพิ่มเติม Pick Tool เข้าไป คือ ใช้เครื่องหรือแขนกลหยิบจับวัตถุได้ตามที่โปรแกรมไว้ หรือกระทั่งในกระบวนการบรรจุหีบห่อ ที่ต้องตรวจวัดคุณภาพ (QC) ยุคนี้ ก็ไม่ใช้คนนั่งนับจำนวนสินค้าในกล่องกันแล้ว บางรายอาจติดบาร์โค้ดเพื่อให้เครื่องอ่าน หรือบางรายอาจใช้การเติมเครื่องชั่งเข้าไประหว่างสายพานให้เครื่องนับแทน ประหยัดกว่าเร็วกว่า และความผิดพลาดน้อยกว่าด้วย”

โมดูลคอนเวย์เยอร์ ตอบโจทย์โลจิสติกส์ 4.0

โลจิสติกส์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง ประหยัดรายจ่ายได้ถึง 30%

คุณไกรสรกล่าวเพิ่มเติมถึงจุดเด่นของฮาร์ดแวร์ชิ้นส่วนต่างๆ ของอินเตอร์โรลว่า จุดเด่น คือ ความเป็นมาตรฐาน แต่ละชิ้นส่วนถูกออกแบบและผลิตให้สามารถเชื่อมต่อกับชิ้นส่วนหรือระบบหรือโปรแกรมรุ่นอื่น เจ้าอื่นได้ ซึ่งกลายเป็นข้อได้เปรียบของผู้ใช้ว่า สามารถออกแบบระบบของตัวเองโดยหยิบเลือกชิ้นส่วนเป็นสล็อตๆ หรือเป็นโมดูลได้นั่นเอง ซึ่งการมีระบบโลจิสติกส์ที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับการใช้งาน ทำให้สามารถประหยัดได้มหาศาลและยังมีอีกจุดเด่น คือ ความยืดหยุ่น (Flexible) ง่ายต่อการติดตั้ง ปรับแต่ง ดูแล และบำรุงรักษา

“หากถามถึงรายจ่ายที่ลูกค้าสามารถประหยัดลงได้เมื่อใช้ระบบของเรา สามารถประเมินเป็นตัวเลขคร่าวๆ ได้ว่า ลดลง 15% หรือมากกว่านั้นเพราะหากประเมินอัตราการสูญเสียต่างๆ ที่สามารถลดลงได้ อาจลดต้นทุนลงได้รวม 30%” คุณไกรสรกล่าว

คุณไกรสรยังกล่าวทิ้งท้ายถึงหัวใจในการทำงานของอินเตอร์โรลอีกด้วยว่า บุคลากรของอินเตอร์โรลทำงานร่วมกัน มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างแต่ละฝ่าย ทั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนา Product Manager รวมถึงพนักงานตาม Sales Unit ต่างๆ ทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ด้วยโจทย์การทำงานที่มาจากความต้องการของผู้ใช้ อินเตอร์โรลจึงวิจัยและพัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นั้นๆ อย่างตรงประเด็นที่สุด

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×