Thursday, April 25Modern Manufacturing
×

รู้จัก 11 บริษัทสุดเจ๋งที่ World Economic Forum ให้การยอมรับด้าน Circular Economy

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่ได้เป็นเพียงเทรนด์ที่เอาไว้คุยกันเก๋ๆ แต่แท้จริงแล้วเป็นแนวทางสำหรับรักษาทรัพยากรที่มีน้อยนิดและกำลังจะหมดลงไปจากโลกนี้ ซึ่งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเรียกได้ว่าเป็นอันดับต้น ๆ ในการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายตื่นตัวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยให้ความสำคัญกับธุรกิจและสิ่งแวดล้อม โดยมีองค์กรต่าง ๆ คอยสนับสนุนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เช่น World Economic Forum เป็นต้น

รู้จัก 11 บริษัทสุดเจ๋งที่ World Economic Forum ให้การยอมรับด้าน Circular Economy

รู้จัก 11 บริษัทสุดเจ๋งที่ World Economic Forum ให้การยอมรับด้าน Circular Economy

การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นนอกจากจะรักษาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติแล้วยังส่งเสริมให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอีกด้วย ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสำคัญกับปัจจัยเหล่านี้ไม่น้อยไปกว่าคุณภาพสินค้าเลยทีเดียว โดย World Economic Forum และ Forum of  Young Global Leader ร่วมมือกับ Accenture Strategy คัดเลือกบริษัทที่มีการใช้แนวคิดการหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็น Reuse (ใช้ซ้ำ), Reduce (ลดการใช้งาน) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) ที่ดีที่สุดจาก 450 บริษัทใน 45 ประเทศ โดยมีบริษัทที่เรียกได้ว่าใช้หลักการเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ 11 บริษัท ได้แก่

Winnow

เราคุ้นเคยกับการใช้ระบบมาตรวัดอัจฉริยะสำหรับตรวจวัดไฟฟ้าและน้ำ แต่ Winnow บริษัท Startup จากเกาะอังกฤษนั้นพัฒนามาตรวัดอัจฉริยะสำหรับตรวจสอบขยะ เน้นการใช้งานในครัวพาณิชย์เพื่อตรวจหาขยะเหลือทิ้งและวิเคราะห์หนทางแก้ไข สามารถลดปัญหาอาหารเหลือทิ้งได้กว่าครึ่งใน 40 ประเทศ ประหยัดเงินไปได้กว่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ผลงานนี้ทำให้ได้รับรางวัล Circular Economy Tech Disruptor Award อีกด้วย

DyeCoo

อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นมีการใช้น้ำและสารเคมีจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ของเสียที่เป็นพิษขึ้นและกลายเป็นปัญหาสำคัญในประเทศอย่าง จีน เวียดนาม ไทย อินเดีย และบังกลาเทศ ซึ่ง DyeCoo บริษัทชาวดัชท์ได้พัฒนากระบวนการย้อมผ้าที่ไม่ต้องใช้น้ำ ไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ใช้เพียงสีย้อมเท่านั้นด้วยการใช้ Supercritical คาร์บอนไดออกไซด์แรงดันสูงอย่างละครึ่งระหว่างสภาวะของเหลวและก๊าซ ซึ่งจะละลายสารเคมีเข้าไปในเนื้อผ้า และเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ระเหยไปสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดย 98% ของสีย้อมนั้นซึมลึกเข้าไปในเนื้อผ้าให้สีที่สด นอกจากนี้เมื่อไม่มีการใช้น้ำทำให้ไม่ต้องใช้เวลาในการตากแห้งทำให้ลดเวลาในการผลิตลงครึ่งหนึ่ง ใช้พลังงานน้อยกว่าและมีต้นทุนที่น้อยกว่า ซึ่งนตอนนี้ DyeCoo ได้เป็นร่วมเป็นพันธมิตรกับ Nike และ IKEA แล้ว

Close the Loop

บริษัทจากออสเตรเลียที่มีความพยายามในการนำตลับหมึกเครื่องพิมพ์และพลาสติกอ่อนกลับมาสร้างคุณค่าใช้งานใหม่อีกครั้ง โดยนวัตกรมล่าสุด คือ การเปลี่ยนวัตถุดิบดังกล่าวให้เป็นถนน โดยใช้ในการผสมระหว่างยางมะตอยและแก้วที่ถูกรีไซเคิลทำให้ผิวถนนมีคุณภาพดี มีอายุใช้งานยืนยาวขึ้นกว่า 65% หากเทียบกับการปูยางมะตอยโดยทั่วไป โดยถนน 1 กิโลเมตรใช้ถุงพลาสติกมากถึง 530,000 ใบ ขวดแก้ว 168,000 ใบ และตลับหมึกพิมพ์อีกกว่า 12,500 อัน ทำให้แทนที่จะต้องทิ้งขยะเหล่านี้ก็เปลี่ยนมันเป็นเส้นทางที่มีคุณภาพให้ใช้งานดีกว่า

Enerkem

ใครจำเรื่อง Back to the Future ได้บ้างครับ? จำได้ไหมว่ามีการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงรถ และมันเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ในตอนนี้ด้วยฝีมือของบริษัท Enerkem จากแคนาดา ด้วยการสกัดคาร์บอนจากขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ใช้เวลาในการแปรรูป 5 นาทีเพื่อทำให้คาร์บอนกลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างเมธานอลและเอธานอล ยกตัวอย่างเมือง Edmonton ที่นำเสียกว่า 90% กลับมาใช้อีกครั้งประหยัดพื้นที่กว่า 1 แสนเมตริกตันต่อปีสำหรับการถมที่

Schneider Electric

Schnieder Electric จาก ฝรั่งเศสนั้นขึ้นชื่อด้านพลังงานเป็นทุนเดิมอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการพลังงานหรือระบบอัตโนมัติทำให้ได้รับรางวัล Award for the Circular Economy Multinational ด้วยการจ้างงานกว่า 142,000 คน ในกว่า 100 ประเทศ มีการใช้ชิ้นส่วนรีไซเคิลกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมา ยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ด้วยการเช่าซื้อและการจ่ายเป็นครั้งต่อการใช้ (Pay Per Use) รวมถึงบริการนำสินค้าที่หมดอายุการใช้งานกลับมารีไซเคิล ซึ่งกิจกรรมหมุนเวียนเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 12% ของรายได้ที่เกิดขึ้น

Cambrian Innovation

บริษัทจากสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้งานเทคโนโลยี EcoVolt ในการบำบัดน้ำที่ปนเปื้อนจากกิจการอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงเปลี่ยนน้ำให้สะอาดเท่านั้นแต่มันยังผลิตก๊าซชีวภาพที่สามารถใช้ในการผลิตพลังงานสะอาดได้อีกด้วย โดย Cambrian Innovation มีโรงงาน 9 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกาที่สามารถรองรับน้ำจากกระบวนการอุตสาหกรรมเพื่อทำการบำบัดได้กว่า 300 ล้านลิตร

Lehigh Technology

บริษัทจากแอตแลนต้านี้ทำการเปลี่ยนยางรถยนต์เก่ารวมไปถึงผลิตภัณฑ์ของเสียจากยางอื่น ๆ เป็น Micronized Rubber Powder ซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวาง อาทิ ยาง พลาสติก ยางมะตอยและวัสดุก่อสร้าง เชื่อหรือไม่ว่ายางใหม่กว่า 500 ล้านเส้นนั้นผลิตจากวัตถุดิบที่แปรรูปจาก Lehigh Technology ซึ่งทำให้ได้รับรางวัล Circular Economy SME

HYLA Mobile

ด้วยค่านิยมเทคโนโลยีสดใหม่ทำให้โลกทุกวันนี้มีขยะที่เกิดจากเทคโนโลยีกองเป็นภูเขาเหล่ากา ซึ่ง HYLA Mobile ได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตและผู้ให้บริการชั้นนำของโลกหลายรายเพื่อนำอุปกรณ์เหล่านั้นหรือชิ้นส่วนกลับมาใช้ซ้ำใหม่อีกครั้ง มีการประมาณว่าอุปกรณ์มากกว่า 50 ล้านชิ้นถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ทำเงินให้กับบริษัทเหล่านั้นกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหยุดขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 6,500 ตันไม่ให้กลายเป็นชิ้นส่วนถมที่ได้

TriCiclos

ผู้ชนะรางวัล People’s Choice Aware อย่าง TriCiclos เริ่มธุรกิจในชิลีปี 2009 ด้วยแนวคิดการทำงาน “โลกที่ไร้ขยะของเสีย” โดยในปัจจุบันมาเครือข่ายสถานีรีไซเคิลขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในอเมริกาใต้รีไซเคิลวัสดุกว่า 33,000 เมตริกตันจากวัสดุที่เทถมกันไว้ในกองขยะ และลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 140,000 เมตริกตัน

Miniwiz

ด้วยเจตนารมย์ของผู้ก่อตั้งอย่าง Arthur Huang ที่ไม่เคยคิดว่ามีสิ่งไหนเลยที่เป็นขยะ เขาจึงเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนวัสดุเก่าให้กลายเป็นสิ่งใหม่ แม้ว่าจะไม่ใช่ไอเดียใหม่อะไรแต่เขาได้นำไอเดียนี้ก้าวเข้าสู่อีกระดับที่สูงขึ้นไป ด้วยความร่วมมือจากเหล่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรใน Miniwiz Trash lab คิดค้นวัสดุ Sustainable Material กว่า 1,000 ชนิด ด้วยเครื่อง Trashpresso ทำให้สามารถยืดอายุวัสดุได้นานขึ้นอย่างยั่งยืน (Sustainable Upcycling) มันเป็นเหมือนโรงงานเคลื่อนที่ที่สามารถแปลกเป็นตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่สองตู้ได้เมื่อไปถึงลูกค้า และสามารถเปลี่ยนขวดพลาสติก 50 กิโลกรัมให้เป็นวัสดุต้นทุนต่ำได้โดยไม่ต้องใช้น้ำ และใช้เพียงพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น

AB InBev

นี่คือหลักฐานั้นดีว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่บริษัทเทคโนโลยี Startup ขนาดเล็กเสมอไป นี่คือหนึ่งในผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของโลกที่ตั้งเป้าให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง 100% นั้นอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถส่งกลับหรือผลิตจากวัสดุหลักที่นิยมใช้ในการรีไซเคิลได้ภายในปี 2025 ตอนนี้กว่าครึ่งของเครื่องดื่ม AB InBev ที่ขายอยู่นั้นอยู่ในรูปแบบขวดแก้วที่ส่งคืนได้ (ให้ลองนึกถึงขวดโซดาที่นำมาคืนขวดได้สมัยก่อน) ด้วยการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และลูกค้าเพื่อขยายผลลัพธ์ที่ต้องการ นอกจากนี้ยังเปิดตัวโครงการเครื่องดื่มโปรตีนที่ผลิตจากพัญพืชที่ได้ภายหลังจากกระบวนการหมักซึ่งปรกติจะขายเป็นอาหารสัตว์อีกด้วย

เมื่อทรัพยากรหมดลง ธุรกิจไม่อาจหาสินค้าหรือบริการมาขาย หรือถ้าสิ่งแวดล้อมพังทลายคนซื้อก็ล้มหายตายจาก ดังนั้นการรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมและทรัพยากรเป็นเรื่องของทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่เก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เช่น ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบทั้งต่อธุรกิจตัวเองและสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นทรัพย์สินของทุกสิ่งมีชีวิตด้วยเช่นกัน

ที่มา:
Weforum.org

Thos
"Judge a man by his questions rather than his answers"
Voltaire
READ MORE
×