Thursday, April 25Modern Manufacturing
×

5 หลักสูตรยอดนิยม ดันผู้ค้าสู่ตลาดดิจิทัล

เอ็นอีเอ โชว์ท็อป 5 หลักสูตรอินเทรนด์ ยกระดับผู้ประกอบการ สู่สนามการค้าดิจิทัล พร้อมเตรียมเปิดหลักสูตร “YELG” ดันนักส่งออกรุ่นใหม่ 300 ราย ส่งสินค้าไทยโกอินเตอร์

5 หลักสูตรยอดนิยม ดันผู้ค้าสู่ตลาดดิจิทัล

5 หลักสูตรยอดนิยม ดันผู้ค้าสู่ตลาดดิจิทัล

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภายใต้นโยบาย Local to Global เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมในการทำการค้าในรูปแบบเศรษฐกิจยุคใหม่ กรมฯจึงได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้ให้กับผู้ประกอบการ และเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มเติมความรู้ เสริมทักษะในการทำธุรกิจ ให้เท่าทันกับสถานการณ์การค้าในยุคดิจิทัล โดยในการดำเนินงานของสถาบัน ไม่เพียงแค่ชี้ให้เห็นถึงช่องทางและเทคนิคการทำการค้า และพฤติกรรมความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกัน แต่ยังได้สร้างสัมพันธภาพที่ดีทั้งพันธมิตรทางการค้า การลงทุน สร้างเครือข่ายที่แข็งแรงให้กับการดำเนินธุรกิจจากผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งถือได้ว่าพร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกระดับ

ด้านนายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า จากการสำรวจยอดผู้เข้าร่วมโครงการ หลักสูตรที่ได้รับความนิยม และถือเป็นโครงการที่ไม่ควรพลาดของสถาบันนั้น ประกอบไปด้วย 5 โครงการหลักๆ ได้แก่

– โครงการ “ผู้ส่งออกอัจฉริยะ : SMART EXPORTER” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการมาโดยตลอด เป็นการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มธุรกิจ Startup กลุ่มทายาทธุรกิจ และผู้ประกอบการส่งออกรายใหม่ให้เป็นนักการค้าด้านการส่งออกมืออาชีพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างครบวงจร อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เช่น Top Thai Brands, Thailand Week และ Mini Thailand Week รวมถึงมีโอกาสได้เข้าร่วมในงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

– โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “ความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจส่งออก” เป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 134 ซึ่งจากเดิมหลักสูตรนี้ถือเป็นโครงการแรกเริ่มและเป็นที่จดจำจากผู้ประกอบการถึงเนื้อหาโครงการที่เข้มข้น ที่จะช่วยเพิ่มความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและพื้นฐานการส่งออกมาอย่างยาวนาน ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ส่งผลให้หลักสูตรนี้จำเป็นต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยและทันต่อสถานการณ์การค้ายุคใหม่อยู่เสมอ

– โครงการ “Train the Trainer” หลักสูตรพี่เลี้ยงทางการค้า ซึ่งมุ่งเน้นในการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความชำนาญ รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ทางการค้าและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการส่งออกที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาบุคลากรด้านการค้าระหว่างประเทศจากภาครัฐ และเอกชน ให้ปฏิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำทางการค้า (Trainer) ให้กับผู้ประกอบการในระดับต่างๆ จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการสร้างพี่เลี้ยงทางการค้า (Train the Trainers by NEA) ประจำปี 2562 ขึ้น โดยมีกำหนดจัด จำนวน 6 ครั้ง ประกอบด้วย การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในภูมิภาค จำนวน 5 ครั้ง และการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในกรุงเทพฯ จำนวน 1 ครั้ง

– โครงการ E-Commerce Week by NEA เป็นโครงการต่อยอดจากหลักสูตร IT4SMEs เพื่อมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการด้านการค้าออนไลน์ จากการร่วมมือกันของหลากหลายหน่วยงานพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยจะจัดขึ้นทั้งหมด 5 รุ่น รุ่นละ 4 วัน จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าออนไลน์และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาร่วมแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นการสร้างรากฐานองค์ความรู้ด้านการค้าออนไลน์อย่างครบวงจรและเป็นแรงกระตุ้นไปสู่การแข่งขันทางการค้าในระดับสากล

– โครงการ “CLMVT Executive Program” ถือเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยการเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจร่วมกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ที่ได้เปิดเวทีให้ผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารชั้นนำ ทั้งในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่เข้มแข็ง

นอกจากนี้ ในปี 2562 ทางสถาบันยังได้เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มเติมคือ โครงการพัฒนานักส่งออกรุ่นใหม่ : Young Exporter from local to Global (YELG) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักส่งออกรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวสู่ทิศทางที่ดีขึ้น จัดขึ้นจำนวน 2 ระยะ ที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 6 จังหวัด ได้แก่ 1.ลำปาง 2.อุดรธานี 3.กรุงเทพ 4.นครสวรรค์ 5.ราชบุรี 6.กระบี่ โดยระยะที่ 1 เป็นการจัดฝึกอบรมด้านพื้นฐานการค้าระหว่างประเทศ(จำนวน 1,400 ราย)

ระยะที่ 2 จัดฝึกอบรมพื้นฐานการค้าระหว่างประเทศในเชิงลึก พร้อมฝึกปฏิบัติ ระยะเวลา 3 วัน เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการส่งออกและจะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนแล้ว (จำนวน 300 ราย) และส่งต่อนักส่งออกรุ่นใหม่ไปยังโครงการต่างๆของกรม อาทิ โครงการส่งเสริมและศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs Pro-active Program) เป็นต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้เป็นนักส่งออกรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต

Kanokkarn .T
READ MORE
×