Friday, April 19Modern Manufacturing
×

6 ปัจจัยเสี่ยงฉุดส่งออกปี 62 ติดลบ 3 %

สรท.ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปี 62 จาก  -1.5 % เป็น -3% ถึง -2.5%  เผย 6 ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของไทย แนะ ธปท.เพิ่มมาตรการเข้ม ในการบริหารจัดการค่าเงิน

6 ปัจจัยเสี่ยงฉุดส่งออกปี 62 ติดลบ 3 %

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 62 เหลือหดตัว -3% ถึง -2.5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวราว -1.5% บนสมมติฐานค่าเงินบาทที่ 33 (บวก/ลบ 0.5) บาท/ดอลลาร์ หลังจากในเดือน ต.ค.62 มูลค่าส่งออกหดตัว -4.5% และช่วง 10 เดือนแรกหดตัว -2.5%  และ คาดว่าในปี 63 การส่งออกจะเติบโต 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.5 บาท/ดอลลาร์

6 ปัจจัยเสี่ยงฉุดส่งออกปี 62 ติดลบ 3 %

เนื่องจากมองว่า ยังไม่มีปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย มีแต่ปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย 1.สงครามการค้า ยังมีความกังวลต่อท่าทีในการลงนามในเฟส 1 เพราะยังมีหลายประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ประกอบกับ สหรัฐประกาศสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนโดยตรง และหากไม่สามารถตกลงกันได้สหรัฐอาจปรับเพิ่มภาษีตามกำหนดการเดิม 15 ธ.ค.62 มูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ อัตราภาษี 15% ขณะที่จีนขอให้สหรัฐพิจารณาลดภาษี (Rollback) สำหรับสินค้าที่มีการปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้า

2.มาตรการ IMO Low Sulphur 2020:จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.63 สายเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเริ่มออกประกาศอัตราเรียกเก็บเพิ่มค่า Bunker Surcharge หรือค่า Low Sulphur Surcharge (LSS) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของค่าระวางในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและกระทบต่อต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการทั้งส่งออกและนำเข้าในประเทศ

3.สถานการณ์ค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นเดียวกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการชะลอตัวภาคการส่งออกทุกกลุ่มสินค้า

4.เศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว เห็นได้จากไตรมาส 3/62 เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 2.6% และในช่วงไตรมาส 4/62 ต้องมีการขยายตัวที่ 2.8% จึงจะทำให้ปี 62 ทั้งปีขยายตัวที่ 2.6% ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออก

5.แนวโน้มการเรียกเก็บภาษีซึ่งเป็นต้นทุนผู้ประกอบการมีมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐต้องการเพิ่มรายได้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถขอคืน VAT ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มช่องทางเก็บภาษีให้มากขึ้น

 6.กฎหมายและมาตรการภาครัฐ ที่กำหนดเพิ่มเติมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นการลดทอนความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกให้ถดถอยมากขึ้น อาทิ แนวคิดการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, การแบนสารเคมีการเกษตร, การเรียกเก็บภาษีความหวานและความเค็ม

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ

1.ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องการบริหารจัดการค่าเงินด้วยมาตรการที่เข้มข้นไม่ให้บาทแข็งค่าไปมากกว่านี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสรรพากร ต้องสนับสนุนรูปแบบการชำระค่าใช้จ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แทนเงินบาท เพื่อลดความสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ การจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ

2.ภาครัฐควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการพลิกฟื้นการส่งออก โดยต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ อาทิ ค่าใช้จ่ายภายในประเทศ (Local Charge) ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ การชะลอการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อำนวยความสะดวกในการใช้มาตรการมุมน้ำเงินสำหรับสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรแล้วส่งออก เป็นต้น

3.สนับสนุนผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก, สนับสนุนการลงทุน Automation, การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานภาครัฐให้ก้าวไปสู่ e-Government เพื่อลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ อาทิ License Digitization & Analytic, Digital Authentication เช่น Digital ID, Trade Digitization เป็นต้น และ พัฒนาเกษตรกรให้มีทักษะและความรู้ในการใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน รวมถึงหาแนวทางสนับสนุนเครื่องจักรทางการเกษตรยุคใหม่ การพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Productivity) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และด้านปศุสัตว์

Nichaphan W.
Marketing
READ MORE
×