Saturday, April 20Modern Manufacturing
×

งานซ่อมบำรุง ความขาดแคลนแห่ง 4.0

งานซ่อมบำรุง ความขาดแคลนแห่ง 4.0

ไม่แปลกใจหากใครหลายคนจะกังวลกับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่เข้ามาก่อกวน (Disruption) วันนี้ MM Thailand ชวนคุณบุญสม กอประเสริฐถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค บริษัท มากิโน (ประเทศไทย) จำกัด มาพูดคุยในประเด็นของความเปลี่ยนแปลงยุค 4.0 ผ่านสายตาผู้มากประสบการณ์ในวงการ เพื่อความพร้อมของผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านครับ

งานซ่อมบำรุง ความขาดแคลนแห่ง 4.0

EV vs ICE สายการผลิตที่เปลี่ยนไป

เมื่อ EV กลายเป็นเทรนด์และกระแสตลาดเกิดการตอบรับอย่างล้นหลามด้วยคุณภาพที่สูงขึ้นและต้นทุนที่น้อยลง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องยนต์ต้องร้อนๆ หนาวๆ กันบ้าง เพราะเครื่องยนต์ ICE เป็นสิ่งแรกที่จะถูกกลืนหายไปเปลี่ยนเป็นอะไรใหม่ๆ ที่น้อยชิ้นอย่างแบตเตอรี่ที่ชาร์จได้ไว พวกชิ้นส่วนช่วงล่างก็ยังต้องใช้เหมือนเดิมไม่ต้องห่วงอะไร สำหรับระบบเบรครูปแบบเดิมจะมีความสำคัญน้อยลงเพราะเบรคระบบไฟฟ้าที่ใช้สนามแม่เหล็กมีความแม่นยำสูงกว่าและยังชาร์จพลังงานกลับได้อีก ต้องยกผลประโยชน์ให้มอเตอร์ เซอร์โว ที่ทำงานได้อย่างแม่นยำไม่ว่าสั่งหยุด สั่งหมุน ควบคุมความเร็ว ต่างจากมอเตอร์ปั๊มน้ำหรือพัดลมที่บ้านที่จะมีแรงเหวี่ยงเหลือแล้วค่อยๆ ลดแรงลง สำหรับแรงออกตัวและแรงบิดถ้าตั้งค่าให้ดีมีความสามารถเหนือความซุปเปอร์คาร์หลายๆ คันตอนนี้อีก ระบบส่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยถ้ามองส่วนของเกียร์อาจจะไม่ต้องมีแล้วก็ได้ ขนาดเครื่องซักผ้ายังใช้มอเตอร์ แบบต่อตรงกับตัวถังซักไม่ต้องผ่านสายพานแบบเก่าแต่สามารถทำงานได้ดีกว่าชิ้นส่วนน้อยกว่า ประหยัดกว่า จากการพูดคุยกับสายการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์อย่างฝาสูบหรือเสื้อสูบสายงานที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงแล้ว

ตัวอย่างการทำงานของ EV

ตัวอย่างการทำงานของเบรค Servo

ต้องรออีกนานไหมสำหรับ EV

ผู้ผลิตมีเทคโนโลยีนี้หมดแล้ว แต่เอาออกมาไม่ได้ Infrastructure บ้านเรายังไม่พร้อม ต่างประเทศทำได้เพราะมีโรงไฟฟ้าที่สร้างมลพิษได้น้อยมาก บ้านเราโรงไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งแปรผันเยอะมากน้ำเยอะก็ล้นท่วม น้ำน้อยก็ไม่มีไฟใช้ ถึงมีคนสนับสนุนผลักดันแต่เอาเข้าจริงโครงสร้างพื้นฐานบ้านเราไปได้ไม่หมด ขนาดไปห้างยังมีจุดชาร์จอยู่ไม่กี่จุด ถ้าเกิดขับรถมาหลายคันจะทำยังไงได้ ถ้าจะเกิดได้ต้องให้รัฐผลักดันอย่างจริงจังก่อน

อุตสาหกรรมโลหะการที่น่าสนใจนอกเหนือจากยานยนต์

อุตสาหกรรมของไทยที่น่าจับตานอกจากยานยนต์แล้วก็มี OA (Office Automation) และงานอากาศยานซึ่งบ้านเราเริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับ Medical Device มองว่าตลาด Aerospace มีความเป็นไปได้มากกว่ามากเพราะ Medical Device มีปัญหาเรื่อง Hygienic หรือพวกสุขอนามัยอย่างมากสำหรับประเทศไทย ลองคิดดูว่า Coolant ใช้ซี้ซั้วไม่ได้ต้องให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยเท่านั้น พอเป็นอะไรที่เกี่ยวกับมนุษย์แล้วความปลอดภัยทางสุขอนามัยมาต้องมาเป็นลำดับแรก ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะเทียมหรือชิ้นส่วนที่ต้องฝังเข้าไปในร่างกายทำให้ Hygienic พลาดไม่ได้เลย ไม่ว่า Coolant ที่ใช้ ลมที่ใช้ มันต้องระวังกันตั้งแต่แรกไม่ให้เกิดการปนเปื้อนหรือลดเสป็คของ สิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ตัวทำละลาย เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ทั้งหมดต้องถูกควบคุมและทดสอบตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงกระบวนการผลิตทั้งหมด

ตัวอย่างเครื่องจักรคุณภาพสำหรับงาน Aerospace จาก Makino

3D Printing – Mould & Die

3D Printing ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ Disruption เทคโนโลยีอื่นโดยเฉพาะแม่พิมพ์ แต่เทคโนโลยี 3D Printing มีการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง มันมีข้อดีของมันเอง เพราะการสร้างแม่พิมพ์แต่ละตัวขึ้นมามีค่าใช้จ่ายสูง ถ้าทำแค่ผลิตตัวต้นแบบคงไม่คุ้ม ทีนี้ต้องมองถึงผลได้ผลเสีย คิดถึงความเหมาะสมของงาน เช่น พวกท่อน้ำ ระบบหล่อเย็น ซึ่งขึ้นรูปง่ายใส่รายยละเอียดยิบย่อยซับซ้อนภายในได้ ซึ่งเหล็กเป็นก้อนขึ้นรูปสร้างอะไรเล็กๆ ละเอียดจุ๊กจิ๊กมากแบบนั้นไม่ได้ ต่อมาต้องดูคุณภาพของวัสดุว่าใช้งานได้ไหม การใช้งานซีเรียสแค่ไหนอย่างไร ถ้างานซีเรียสในเรื่องรายละเอียด 3D Printing ใช้ได้ แต่สำหรับงานที่ต้องการความแข็งแรงมากรวมถึงการผลิตแบบ Mass แม่พิมพ์ตอบสนองได้ดีกว่าอยู่แล้วทั้งด้านความทนทานและจำนวน แต่ถ้าทำงานน้อยชิ้นแล้วไปสั่งหล่อก็ไม่คุ้ม ถึงตอนนี้ 3D Printing สามารถผสมวัตถุดิบได้แล้วแต่ค่าใช้จ่ายถือว่ายังสูงอยู่ ยังไม่นับรวมระยะเวลาในการผลิตต่อชิ้น ข้อดีของทั้งสองอย่างนี้จึงสามารถแยกได้ด้วย ความละเอียดของชิ้นงาน ความแข็งแรง และสุดท้ายปริมาณการผลิต

เปรียบเทียบการผลิตระหว่าง 3D Printing และแม่พิมพ์

แรงงาน VS 4.0 

ผู้ประกอบการกลัวเทรนด์ Demand ของตลาดที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง EV และ Disruption อื่นๆ แรงงานเองก็กลัว Disruption เช่นกัน แรงงานกลัวการถูกแทนที่เทคโนโลยีอัจฉริยะและระบบออโตเมชัน ในปัจจุบันทิศทางแรงงานกลายเป็น Skilled Labor หรือแรงงานฝีมือลดน้อยลงแต่แรงงานที่ใช้ความรู้จะเยอะขึ้น ถ้าอยากได้แรงงานราคาถูกนักลงทุนจะย้ายไปกัมพูชา ไปเวียดนามกันหมดแล้ว กลับกันในส่วนงานซ่อมบำรุงแรงงานยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่อย่างมาก พวกติดตั้งและดูแลระบบก็ยังมีอยู่ บทบาทและความต้องการของแรงงานในอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไป แต่ละหน้าที่มีอยู่เหมือนเดิมแค่เปลี่ยนสัดส่วน แต่ที่แน่ๆ ความรู้เรื่องเทคโนโลยีต้องมีทุกคน

ปวช. ปวส. ป.ตรี มหาวิทยาลัย ตัวเลือกไหนเหมาะกับ 4.0

ถ้าคุยกันเรื่องสายงานการศึกษาเป็นรากแก้วที่ขาดไม่ได้ เบื้องต้นแยกพวกเรียน ป.ตรี วิศวะออกเป็นสองสายก่อน แบบแรกสายทฤษฎีพวกถนัดงานวิจัยพัฒนางานวิชาการทั้งหลายเรียกสายมือสะอาด แต่ถ้าสายปฏิบัติสายช่างมาจากพวก ปวช. ปวส. อะไรแบบนี้เขาจะฐานแน่นมากเป็นสายมือเลอะ เมื่อก่อนมีสถาบันรองรับเปิดสอนหลากหลายที่เดี๋ยวนี้ปิดกันไปเยอะ ทุบช็อปฝึกงานไปไม่น้อย ทั้งที่พวกงานซ่อมบำรุงยังเป็นที่ต้องการจำนวนมากงานพวกนี้หุ่นยนต์ออโตเมชันไหนๆ ก็ทดแทนไม่ได้ ถ้าพื้นฐานไม่แน่นต่อยอดลำบากถ้าให้คนที่ไม่เคยรื้อไม่เคยจับมาทำครึ่งวันจะเจอตัวปัญหาไหมยังไม่รู้เลย แต่พวกสายมือเลอะมาทำแป๊ปๆ ได้แล้ว แต่จุดเด่นพวกสายมือสะอาดก็มีพวกนี้ทำงานพัฒนาสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้รวมถึงพวกงานบริหารต่างๆ เพียงแค่ยุค 4.0 งานซ่อมบำรุงกลายเป็นสิ่งที่ตลาดออโตเมชันที่เป็นเทรนด์หลักต้องการอย่างมากพอๆ กับวิศวกรสายบริหารหรือสายเทคนิค ท้ายสุดแล้วมันก็จำเป็นทั้งสองส่วนไม่ว่าจะเลอะหรือสะอาด

เมืองไทยกับการเป็นเจ้าของเทคโนโลยี

การเป็นเจ้าของเทคโนลยี R&D เป็นสิ่งจำเป็นแต่บ้านเรายังไม่มีงานวิจัยและพัฒนามากนัก ไม่ช้าก็เร็วมันจำเป็นต้องเกิด Innovation เพื่อผลในระยะยาวขึ้นไม่งั้นเราก็จะเป็นได้แค่ฐานการผลิตให้ใครที่ไหนก็ไม่รู้ ให้ไปแข่งตัดราคาเขาก็ไม่ได้ตลอดการย้ายฐานการผลิตมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ หลายครั้งนโยบายบ้านเราเปิดโอกาสให้องค์กรใหญ่เท่านั้นที่จะเติบโตหรือพัฒนาได้ มันน่าคิดนะว่าทั้งๆ ที่เมืองไทยมีคนไปแข่งนู่นชนะ ประกวดไอ้นั่นได้ เก่งๆ เยอะแยะไปหมด ไหนจะประสบการณ์งานอุตสาหกรรมที่ยาวนานของประเทศอีก ทำไมคนเก่งๆ กลายเป็นถูกซื้อตัวหมด เสียดายไม้มีการสนับสนุนคนเหล่าให้เขาอยู่ได้ ให้เขาได้ทำสิ่งที่เขาถนัด ทำสิ่งที่เขาต้องการ

Innovation’s Demand

ถ้าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลาดนี่แหละที่เป็นตัวขับเคลื่อนที่มีดีมาก หลายอย่างภาครัฐไม่กล้าออกตัวสนับสนุนมากเท่าไหร่ออกหน้ามากเดี๋ยวรายใหญ่ย้ายฐานผลิตจะเป็นป้ญหาใหญ่ เช่น พลังงานทางเลือกก็ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย Compressed Air นี่มีคนทำกันเยอะนะ แต่ท้ายที่สุดต้องรอตลาดอยู่ดี รอให้มันเป็น Mass ไม่งั้นราคามันก็จะสูง ทั้งๆ ที่มีแต่คนต้องการสิ่งเหล่าเพราะราคาทุนถูกกว่า คุณภาพดีกว่า เกิดตัวเลือกที่หลากหลายมาก เหมือนน้ำมัน จะซื้อจากไหน ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา ว่ากันไปนั่น ดูอย่าง EV สิ แต่สุดท้ายมาจบที่โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอยู่ดี มันต้องมีคนเป็นเจ้าภาพรัฐบาล กฟผ. หรือปตท. หน่วยงานรัฐต้องสนับสนุนและให้ความสำคัญก่อนเพราะขนาดโครงการมันใหญ่เกินความสามารถเอกชน

การเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศไทยแม้จะมีตลาดเป็นตัวผลักดัน แต่การสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสิ่งจำเป็น ต้องส่งเสริมมาตั้งแต่รากฐานเริ่มตั้งแต่การศึกษา การสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของรูปแบบการทำงานที่แตกต่าง เมื่อเกิดบุคลากรคุณภาพขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นวิศวกรสายบริหารหรือปฏิบัติการ การสนับสนุนบุคคลเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างพื้นที่ให้ประเทศไทยในตลาดโลก ก้าวเข้าสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยี หากการพัฒนาและความก้าวหน้าสู่สิ่งใหม่เป็นความจำเป็น หน่วยสนับสนุนดูแลอย่างงานซ่อมบำรุงก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

Thos
"Judge a man by his questions rather than his answers"
Voltaire
READ MORE
×