Friday, April 19Modern Manufacturing
×

IRPC ไตรมาส 3 ขาดทุน 1,321 ล้านบาท

ไออาร์พีซี แจง ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 1,321 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบขาลงและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

IRPC ไตรมาส 3 ขาดทุน 1,321 ล้านบาท

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC  เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2562 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2562 บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) เพิ่มขึ้น 1.04 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มปิโตรเลียม โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินที่ปรับเพิ่มขึ้น และมีกำไรจากการขายที่ดินใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง จำนวน 124 ล้านบาท                      

IRPC ไตรมาส 3 ขาดทุน 1,321 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ การประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน ส่งผลให้ความต้องการซื้อถดถอย ขณะที่ราคาน้ำมันดิบผันผวนและปรับลงอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3/2562 ปรับตัวอยู่ในกรอบ 56.45  – 67.55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาเฉลี่ยทั้งไตรมาสอยู่ที่ 61.16 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 6.20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากไตรมาส 2/2562  ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2562 บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 1,321 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3/2561 ที่มีกำไรสุทธิ 2,560 ล้านบาท และไตรมาส 2/2562 ที่มีกำไรสุทธิ 507 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากขาดทุนจากสต็อกน้ำมันสุทธิ 1,333   ล้านบาท   

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4 /2562 มีสัญญาณที่ดีขึ้น จากการเจรจาทางการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตลาด ขณะเดียวกันเตรียมได้รับผลดีจากการที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ International Marine Organization (IMO) กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% เริ่มตั้งแต่           1 มกราคม 2563 ซึ่งส่งผลทำให้ความต้องการน้ำมันเตากำมะถันต่ำเพิ่มสูงขึ้นมาก และ IRPC เป็นโรงกลั่นเดียวในประเทศที่มีหน่วยกำจัดกำมะถันในน้ำมันเตา ซึ่งจะสามารถทำการผลิตได้เต็มที่ โดยบริษัทฯ รับรู้รายได้จากการจำหน่ายน้ำมันเตากำมะถันต่ำตามมาตรฐานเป็นรายแรกของประเทศแล้วในไตรมาส 3 และคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการขายเป็นเท่าตัวในไตรมาส 4 จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังได้รับประโยชน์จากความต้องการน้ำมันดีเซล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมน้ำมันเตาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ IMO กำหนดเพิ่มสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะมีรายได้มากขึ้นจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเม็ดพลาสติกพีพี คอมพาวด์ ในกลุ่มอุตสาหกรรม   ยานยนต์ ตามนโยบายของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาวด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ และ   การซื้อขายเม็ดพลาสติกผ่าน E-commerce platform “Plastket.com”

นายนพดล ยังได้กล่าวถึงภาพรวมของราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/2562 ว่า ตลาดยังคงจับตามองการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ซึ่งมีสัญญาณในตลาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ รวมทั้งการกลับมาผลิตของโรงกลั่นหลังการปิดซ่อมบำรุง  ทำให้มีความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น โดยมีแรงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศโอเปก ที่ยังคงมาตรการควบคุมปริมาณการผลิต เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบต่อเนื่องยาวไปถึงเดือนมีนาคมปีหน้า  อีกทั้ง ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงราคา

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×