Wednesday, April 24Modern Manufacturing
×

TBCSD ร่วมขจัด 3 สาเหตุก่อปัญหา PM 2.5

TBCSD ชี้ 3 สาเหตุหลักก่อปัญหา PM 2.5 พร้อมเสนอมาตรการที่ TBCSD จะดำเนินการโดยสมัครใจและการสร้างการรับรู้ของประชาชนโดยทั่วไป เพื่อร่วมแก้ปัญหา PM 2.5

TBCSD ร่วมขจัด 3 สาเหตุก่อปัญหา PM 2.5

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD)

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) กล่าวว่า ปัญหา PM 2.5 นั้นถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจากปัญหานี้ส่งผลกระทบกับทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดย TBCSD ได้หารือถึงสาเหตุของปัญหา และกำหนดมาตรการเพื่อขอความร่วมมือจากสมาชิกโดยสมัครใจ ในการร่วมแก้ไขปัญหานี้

TBCSD ร่วมขจัด 3 สาเหตุก่อปัญหา PM 2.5

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศของ TEI กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ถึงแหล่งของ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ พบว่า เกิดจากสาเหตุหลัก 3 อันดับแรกมาจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ดีเซล การเผามวลชีวภาพในที่โล่ง และ secondary particles จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และยังพบว่า ค่ามลพิษทางอากาศจะสูงขึ้น เมื่อการจราจรติดขัดมากขึ้น อีกด้วย

สำหรับแหล่ง PM 2.5 หลักๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย คือ การเผาในที่โล่ง เช่น การเผาขยะ การเผาจากการเกษตรและไฟป่า สำหรับมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 สามารถทำได้โดยการลด PM 2.5 จากแหล่งกำเนิด กำจัดมลพิษออกจากอากาศ หรือลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ด้านดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการของ TBCSD และผู้อำนวยการ TEI กล่าวว่า สำหรับแนวทางความร่วมมือของสมาชิก TBCSD เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีเดือนธันวาคม ถึงต้นปีเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม โดยเป็น 3 ส่วน คือ มาตรการที่ TBCSD จะดำเนินการเองโดยสมัครใจ มาตรการที่ขอความร่วมมือจากสมาชิก และการสร้างการรับรู้ของประชาชนโดยทั่วไป

มาตรการที่ดำเนินการเองโดยสมัครใจ TBCSD จะขับเคลื่อนเรื่องการตรวจสภาพและบำรุงรักษารถและเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ การบรรทุกและขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Loading Efficiency) และการมีพฤติกรรมการขับขี่ ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ (Driving Behavior)

ในส่วนของมาตรการขอความร่วมมือในช่วงวิกฤต PM2.5 สมาชิกของ TBCSD จะพิจารณาใช้น้ำมันที่เป็น Bio-based (น้ำมัน B ต่างๆ) หรือ NGV หรือน้ำมันที่มีค่ากำมะถันต่ำ (ไม่เกิน 10 ppm) ตามความเหมาะสมของประเภทเครื่องยนต์ เพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า

และหลีกเลี่ยงการนำรถดีเซลเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ลดการใช้รถใช้ถนนโดยอาจให้พนักงานบางส่วนทำงานจากบ้านหรือมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ส่งเสริมให้พนักงานใช้คมนาคมสาธารณะหรือหลีกเลี่ยงการใช้รถดีเซล และสนับสนุนการลดการเผาในที่โล่ง ในส่วนของการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนโดยทั่วไปนั้นจะมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกและใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ซึ่งสามารถส่งข้อมูลถึงคนได้ในวงกว้างและรวดเร็ว

นอกจากนี้ TBCSD ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นธุรกิจชั้นนำของประเทศเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยังได้มีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบในทุกด้านทั้งในช่วงวิกฤตและในระยะยาว เช่น การคิดค้น ประดิษฐ์ และนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ การใช้ระบบสื่อสารที่ทันสมัยเพื่อกระตุ้นการรับรู้ของประชาชน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบไม่เผา และการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม และภาคธุรกิจอื่นๆ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม และส่งผลกระทบในวงกว้างของประเทศ

ด้านนายวีระ อัครพุทธิพร กรรมการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ผ่านโครงการส่งเสริมระบบบริหารจัดการพลังงานในภาคขนส่ง (Logistics and Transport Management: LTM) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในกระบวนการผลิตและการขนส่ง รวมถึง การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์และใช้เชื้อเพลิงสะอาด และการเพิ่มมาตรการ ตรวจติดตามและป้องกันฝุ่นอย่างใกล้ชิด สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา PM 2.5 ของภาคธุรกิจไทย (TBCSD) โดยเฉพาะมาตรการด้านLogistic/Transportation ส.อ.ท. ได้ขอความร่วมมือจากสมาชิก ส.อ.ท. ให้นำมาตรการดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

Kanokkarn .T
READ MORE
×