Friday, April 19Modern Manufacturing
×

TGI จัดทำมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพแมคคาทรอนิกส์ สาขาคลัสเตอร์หุ่นยนต์… สำเร็จ พร้อมประกาศใช้

TGI จัดทำมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพแมคคาทรอนิกส์ สาขาคลัสเตอร์หุ่นยนต์… สำเร็จ พร้อมประกาศใช้

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยนับเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคอาเซียน และเป็นผู้ผลิตรายสำคัญของภูมิภาคเอเชีย เราสั่งสมทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์จนแข็งแกร่ง ทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพที่มากขึ้นเรื่อยๆ

TGI จัดทำมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพแมคคาทรอนิกส์ สาขาคลัสเตอร์หุ่นยนต์… สำเร็จ พร้อมประกาศใช้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ การเข้ามาของเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นจุดคานงัดสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เราไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า อีกหนึ่งความท้าทายที่ตามมากับการเปลี่ยนแปลงนั่นคือการพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรให้ได้มาตรฐานเพื่อรับมือกับระบบและโจทย์ความต้องการใหม่ๆ นั่นเอง

พูดคุยกับคุณวรินทร์ รอดโพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotic Center) สถาบันไทย-เยอรมัน (Thai – Greman Institute) ถึงหมุดหมายสำคัญในการสร้างมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพด้านคลัสเตอร์หุ่นยนต์ ว่ากันตั้งแต่กระบวนการ สมรรถนะ และความสำคัญของวิชาชีพที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งตัวบุคลากร องค์กร ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมไทย

วิชาชีพแมคคาทรอนิกส์ สาขาคลัสเตอร์หุ่นยนต์

ใช้เวลาดำเนินการกว่า 1 ปี ในที่สุดศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotic Center) สถาบันไทย-เยอรมัน จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพแมคคาทรอนิกส์ สาขาคลัสเตอร์หุ่นยนต์ได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมประกาศใช้เป็นมาตรฐานในการยกระดับบุคลากรช่างเทคนิคสาขานี้ให้ได้มาตรฐานสากล

คุณวรินทร์ รอดโพธิ์ทอง กล่าวถึงมาตรฐานวิชาชีพ สาขาคลัสเตอร์หุ่นยนต์ว่า เบื้องต้นแบ่งเป็น 3 อาชีพ ได้แก่ ช่างควบคุมหุ่นยนต์ (Robotic Operator) ช่างเทคนิคหุ่นยนต์ (Robotic Technician) และช่างเทคนิคระบบหุ่นยนต์ (System Robotic Technician) ซึ่งแต่ละอาชีพจะมีหน่วยสมรรถนะ (Unit of Competency : UOC) ที่ต้องการทักษะต่างกันในแต่ละระดับ ซึ่งอาชีพในสาขานี้ มี UOC ทั้งสิ้น 43 หน่วย โดยแต่ละหน่วยก็จะมีตัววัดหรือตัวประเมินว่าบุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถแสดงออกว่ารู้และเข้าใจหรือไม่ โดยต้องออกแบบข้อสอบเพื่อประเมินความรู้ตรงนี้

“หน่วยสมรรถนะ คือ ความสามารถที่ตัวพนักงานต้องทำได้ทำแล้วเกิดมูลค่าและเกิดประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งความสามารถที่ว่านี้ ประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และทัศนคติที่ดี (Attitude) ต่องานนั้นๆ เช่น วิชาชีพเลขานุการ ต้องมีหน่วยสมรรถนะ (UOC) ต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ ต้องบันทึกรายงานการประชุมเป็น เขาต้องมีความรู้เรื่องประเด็นที่ประชุมมีทักษะการบันทึกและจับประเด็น และมีจิตใจที่รักในการฟังผู้อื่นด้วยความอดทน เป็นต้น

ในสาขาคลัสเตอร์หุ่นยนต์ก็เช่นกัน สมมติอาชีพช่างควบคุมหุ่นยนต์ชั้น 2 ต้องมี UOC ต่างๆ เช่น ต้องตรวจสอบความปลอดภัยในการทำงาน และใช้อุปกรณ์ควบคุมหุ่นยนต์ได้

โดยสมรรถนะ UOC ต่างๆ นี้ จะแบ่งย่อยให้ละเอียดขึ้นเป็นองค์ประกอบของสมรรถนะ (EOC: Element of Competency) และแบ่งย่อยลงไปให้ละเอียดยิ่งขึ้นเป็นเกณฑ์ประเมินความสามารถที่แสดงออกให้เห็น (PC: Performance Criteria) และ PC เหล่านั้นจะถูกออกแบบเป็นข้อสอบที่ต้องใช้ประเมินและทดสอบพนักงาน” คุณวรินทร์ รอดโพธิ์ทอง ขยายความคำว่า UOC หรือหน่วยสมรรถนะ

วรินทร์ รอดโพธิ์ทอง
คุณวรินทร์ รอดโพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สถาบันไทย-เยอรมัน

ตกผลึก 3 อาชีพหุ่นยนต์ TGI ตั้งเป้าเป็นสถาบันรับรองวิชาชีพ

จากคราวแรกที่เริ่มดำเนินการ วางแผนไว้ให้สาขาคลัสเตอร์มี 5 อาชีพ แล้วใช้เวลาตกผลึกกว่า 15 เดือนจนเหลือ 3 อาชีพ โดยตัดอาชีพโปรแกรมเมอร์ และอาชีพผู้สร้างผู้ประกอบหุ่นยนต์ (Machine OEM) ทิ้งไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณวรินทร์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจาก UOC หรือสมรรถนะของอาชีพโปรแกรมเมอร์แล้วพบว่าซ้ำซ้อนกับอาชีพช่างเทคนิคหุ่นยนต์และอาชีพช่างเทคนิคระบบหุ่นยนต์ หรือกล่าวคือ โปรแกรมเมอร์ต้องมีสมรรถนะทัดเทียมกับช่างเทคนิคและช่างเทคนิคระบบนั่นเอง ส่วนผู้สร้างผู้ประกอบหุ่นยนต์นั้น เป็นเรื่องสำคัญแต่ยังไม่ใช่ความจำเป็น (Need) ของภาคอุตสาหกรรมไทยในขณะนี้

คุณวรินทร์ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกระบวนการทำงานว่า เริ่มจากการที่สถาบันไทย-เยอรมันเป็นเจ้าภาพในการพิจารณาถึงหน่วยสมรรถนะที่แต่ละอาชีพที่วิชาชีพคลัสเตอร์หุ่นยนต์ต้องมี และเสนอแก่ผู้เกี่ยวข้องและกรรมการต่างๆ ซึ่งเป็นบุคคลในสายอาชีพ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้งานเพื่อเสนอวาระแก่คณะทำงานรวม 22 คน จากนั้นส่งเรื่องต่อไปถึงคณะรับรองอีก 10 คน

“จาก PC ทั้งหมด ต้องนำมาออกข้อสอบเพื่อวัดสมรรถนะและการแสดงออกถึงความรู้ความสามารถและทักษะในวิชาชีพหุ่นยนต์ตามอาชีพนั้นๆ โดยมีคณะกรรมการประเมินเครื่องมือหรือประเมินข้อสอบทั้งหมดอีก 7 คน เราออกข้อสอบ เขาดูความยากง่ายและความถูกต้องว่าข้อสอบของเรา วัด PC ของ UOC นั้นได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้เบ็ดเสร็จแล้วแต่ละอาชีพมีข้อสอบเพื่อวัดสมรรถนะทั้งหมดประมาณ 2,165 ข้อ

ในกระบวนการประเมินข้อสอบนั้น เราใช้วิธีเชิญประชุมแบบทำเวิร์กช้อปกันเลย จากนั้นเอาข้อสอบไปใช้งาน เชิญบริษัทห้างร้านเข้ามาทดสอบ หลายบริษัทที่มีหุ่นยนต์ใช้ก็อยากให้เอามาประเมินพนักงานของเขา เราสอบไป 3 สาขาอาชีพ ทั้งช่างควบคุม ช่างเทคนิคและช่างเทคนิคระบบ แค่ขั้นต้นของทุกอาชีพ โดยเบื้องต้นมีผู้เข้าสอบ 48 คน จาก 3 บริษัท ทำข้อสอบผ่านและได้ใบรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพทั้งหมด 7 คน” คุณวรินทร์ให้รายละเอียด

อย่างไรก็ตาม คุณวรินทร์เปิดเผยว่า สถาบันไทย-เยอรมัน กำลังดำเนินการเสนอตัวเองเป็นสถาบันรับรอง (CB: Certified Body) ด้วย โดยหน่วยงานที่มีคุณสมบัติและปัจจัยที่เหมาะสม สามารถเป็น CB ของวิชาชีพนี้ได้ นอกจากสถาบันไทย-เยอรมันเอง ยังมีสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

สอบเลื่อนชั้นได้เพื่อความก้าวหน้า

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 อาชีพนั้น มีระดับชั้นที่แสดงถึงสมรรถนะที่แตกต่างกัน ได้แก่ ช่างควบคุมหุ่นยนต์ชั้น 2 และ 3 ช่างเทคนิคหุ่นยนต์ ชั้น 3 4 และ 5 ส่วนช่างเทคนิคระบบหุ่นยนต์แบ่งเป็น 3 ชั้นเช่นกัน คือ ชั้น 4 5 และ 6 โดยสามารถสอบเลื่อนชั้นได้หากตนเองมีสมรรถนะหรือความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น

คุณวรินทร์กล่าวว่า การมีระบบรับรองโดยสถาบันคุณวุฒิ วิชาชีพที่สามารถสอบเลื่อนชั้นได้นี้ ได้ประโยชน์ทั้งสองทาง เจ้านาย ผู้ประกอบการ หรือองค์กร ได้ใช้ระดับชั้นนี้ในการประเมินและโปรโมทพนักงาน ตั้งเป็นตัวชี้วัด (KPI) ระดับความสามารถของพนักงานได้ ส่วนตัวพนักงานเองก็ได้พัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง ซึ่งจะนำมาสู่การเพิ่มมูลค่าให้องค์กรเช่นกัน

มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพนี้ มีกลุ่มเป้าหมายคือคนที่อยู่ในสายงานนั้นอยู่แล้ว การสอบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อโรงงานเอง คือ สามารถใช้มาตรฐานนี้ในการโปรโมทระดับของพนักงานได้ วัดกันชัดๆ เป็น KPI นอกจากนี้ ยังรู้ Productivity ของตัวเอง รู้ผลิตภาพแรงงาน สามารถพัฒนาได้ถูกที่ถูกทาง สำหรับตัวพนักงานเอง มาตรฐานนี้จะเป็นการบอกว่า คุณมีความสามารถด้านนี้ มีความก้าวหน้าและไต่เต้าในหน้าที่การงาน ทั้งในองค์กร และเปลี่ยนงาน หรือหากสอบไม่ผ่าน ก็จะได้รู้ตัวว่าคุณขาดเรื่องอะไร ต้องเรียนรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมนอกจากจะรู้ระดับความสามารถตัวเองแล้ว ยังทำให้รู้จุดอ่อนหรือจุดด้อย สามารถพัฒนาได้ถูกจุดอีกด้วย สิ่งนี้จะทำให้ชีวิตช่างเทคนิคโรงงานง่ายขึ้นมาก” คุณวรินทร์กล่าว

ระดับสมรรถนะในสาขาอาชีพคลัสเตอร์หุ่นยนต์

ทำไมต้องสอบ จุดอ่อนของช่างเทคนิค คือ ความปลอดภัย

“ช่างควบคุมหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมไทยมักไม่มีวุฒิ ไม่ได้เรียนมาด้านช่างโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นคนหน้างานที่อาจจะจบ ม.3 หรือ ปวช. ส่วนระดับช่างเทคนิคหุ่นยนต์อาจจะมีวุฒิ ปวช. หรือ ปวส. และระดับช่างเทคนิคระบบหุ่นยนต์นั้น เป็นส่วนผสมระหว่าง ปวส.กับระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่จึงสอบตกเรื่องความปลอดภัยที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพราะช่างของเราทำงานไม่เป็น ในทางกลับกันเป็นเพราะธรรมชาติของเราไม่กลัวเครื่องจักร ทำงานกันหน้างาน กล้าที่จะลองผิดลองถูก เรียนรู้ ไม่กลัว นั่นทำให้ทั้งพนักงานและโรงงานละเลยประเด็นมาตรฐานความปลอดภัยที่ถูกต้องไป

หุ่นยนต์ยุคก่อน 4.0 เป็นเครื่องจักรที่คนจะทำงานเป็น Direct Interface ไม่ได้ เราสื่อสารโดยตรงกับหุ่นยนต์ไม่ได้ ต้องสื่อสารผ่านโปรแกรมและมีขั้นตอนที่ต้องอาศัยตัวกลาง แต่หุ่นยนต์ยุค 4.0 เป็น Collaborative Robot มีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงและมีคู่มือความปลอดภัยกำกับชัดเจน ต้องเสียงเท่าไร ยืนห่างกี่เมตร เช่น เราแตะโดนหรือเดินชนมัน หรือเข้าใกล้ในระยะเซนเซอร์ มันจะหยุดการเดินเครื่องทันทีเพราะถือว่าละเมิดมาตรฐานความปลอดภัยแล้ว มันไวมาก มันเร็ว ถ้าเกิดความเสียหายหรือผิดพลาดขึ้นมา ความเสียหายมันจะมากทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หุ่นยนต์จึงถือเป็นเครื่องจักรอันตราย” คุณวรินทร์ชี้ให้เห็นความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัย

คุณวรินทร์กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ในกระบวนการออกแบบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพนี้ อ้างอิงจากมาตรฐานระดับสากล ใช้มาตรฐานของประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าเป็นหนึ่งในตัวอ้างอิง เช่น มาตรฐานของมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี ทำให้มาตรฐานนี้มีความเป็นสากล หากช่างเทคนิคไทยมีมาตรฐานนี้ จึงยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานอีกด้วย

การเข้ามาของเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างหุ่นยนต์นั้น เป็นไปเพื่อช่วยผ่อนแรง ลดความสูญเสีย ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มผลิตภาพให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม แต่เป็นที่รู้กันว่า การลงทุนกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก ทว่าการปั้นบุคลากรให้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อควบคุมและใช้งานมันได้อย่างปลอดภัยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่างหากที่เป็นความท้าทาย

แม้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ของโลกอุตสาหกรรมครั้งนี้ ทำให้เราต่างต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ แต่มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพสาขาคลัสเตอร์หุ่นยนต์จะเป็นสิ่งสำคัญที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยแข็งแกร่งในยุคของ 4.0

EXECUTIVE SUMMARY

Mr. Warin Rodpothong, Director of Manufacturing Automation and Robotic Center, Thai – German Institute mentioned upon the vocational standard in robotic cluster that is preliminary divided into 3 professions as Robotic Operator, Robotic Technician, and System Robotic Technician. Each profession shall have Unit of Competency (UOC) that requires different skills in each level. All professions in this field have UOC in the total of 43 units, which each unit has its own indicator or evaluator to measure whether personnel has knowledge, understanding, and capability to explain what they know and understand, or not without the need of evaluating examination.

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×