Thursday, March 28Modern Manufacturing
×

TGI กับการขับเคลื่อน Smart Factory ตามแนวทาง Industry 4.0

เมื่อพูดถึง Industry 4.0 หน่วยงานสำคัญอย่างสถาบันไทย-เยอรมันมักได้รับการนึกถึงในลำดับต้นๆ เนื่องด้วยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแนวนโยบายต่างๆ ไปพร้อมกับการเคลื่อนตัวของเทคโนโลยี 4.0

วันนี้คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน จะมาพูดคุยถึงแนวทางการดำเนินงานของสถาบัน พร้อมทั้งแนะแนวทางการปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญครั้งนี้

TGI กับการขับเคลื่อน Smart Factory ตามแนวทาง Industry 4.0

TGI กับการขับเคลื่อน Smart Factory ตามแนวทาง Industry 4.0

อุตสาหกรรม 4.0 หัวใจ คือ การเชื่อมต่อ

สถาบันไทย-เยอรมัน ที่ก่อตั้งมากว่า 20 ปี ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการผลิตมาโดยตลอดกำลังมีพันธกิจใหม่ครั้งใหญ่ ที่จะต้องขับเคลื่อนและผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งด้านการผลิตเทคโนโลยีเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ รวมถึงด้านองค์ความรู้ของบุคลากร

คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน เริ่มเกริ่นถึงเรื่องนี้ว่า ก่อนจะไปถึง 4.0 เราต้องทำความเข้าใจระบบการผลิตก่อนหน้านี้เสียก่อน เริ่มจากยุค 1.0 ที่มนุษย์รู้จักใช้เครื่องจักรไอน้ำ สู่ยุค 2.0 ที่เริ่มมีพลังงานไฟฟ้าเครื่องจักรก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ 3.0 มนุษย์มีคอมพิวเตอร์ รู้จักการใช้ระบบอัตโนมัติ และให้พัฒนาการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์และเครื่องจักร ฉะนั้น จึงเป็นความเข้าใจผิดที่ว่า อุตสาหกรรม 4.0 หมายถึง หุ่นยนต์

อุตสาหกรรม 4.0 แท้จริงแล้วก็คือ Cyber Physical System ซึ่งหมายถึงการทำงานที่สอดคล้องกันของเทคโนโลยี เช่น Robotics, 3D Printing, Virtual Reality และ Predictive Maintenance เป็นต้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในขั้นของเทคโนโลยี 3.0 อยู่แล้ว แต่ในขั้นของ 4.0 นั้น คือ มีเรื่องของ Internet of Things และ Big Data เข้ามาประสานเชื่อมโยงนั่นเอง เป็นอีกหนึ่งทัศนะที่ทำให้เราเข้าใจในเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ได้เป็นอย่างดี

อุตสาหกรรม 4.0 นั้น หัวใจสำคัญ คือ Connectivity หรือ การเชื่อมต่อ การผลิตแบบ 4.0 นี้ เราจะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบต่างๆ จะมีเซนเซอร์ติดอยู่เต็มไปหมด ฉะนั้น ต้องมีวิศวกรที่ทำงานเกี่ยวกับ Big Data โดยเฉพาะเลยว่าจะวิเคราะห์มันอย่างไร หาค่าอย่างไร บริหารจัดการและวางโปรแกรมอย่างไร จากนั้นใช้ข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ต่อผ่าน Internet of Things เรื่องความปลอดภัย และ Cloud Computing จะเป็นอย่างไร”

สมหวัง บุญรักษ์เจริญ
คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ
ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน

ปั้นฐานรากให้แข็งแกร่ง
เพื่อต่อยอดอย่างมั่นคง

คุณสมหวัง กล่าวถึงสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยว่าอีก 10 ปี อุตสาหกรรมไทยจำนวนหนึ่งจะไปถึง 4.0 ได้ แต่ก็ไม่ทั้งหมด โดยพบข้อมูลจากการทำแบบประเมินต่างๆ พบว่าอุตสาหกรรมไทยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 2 กว่าๆ ไม่ถึง 2.5

จากตัวเลข 2 กว่าๆ หากต้องการไปให้ถึง 4.0 แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องเล็ก คุณสมหวังกล่าวว่า สถาบันไทย-เยอรมัน เรียกว่า เป็นสถาบันแนวนอน ทำหน้าที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เช่น โรบอทส์ CNC เป็นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีการผลิตให้ทุกอุตสาหกรรมสามารถนำไปต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุตสาหกรรมอาหาร

“ในขณะที่เราเป็นสถาบันแนวนอนที่ให้การสนับสนุนทุกอุตสาหกรรม พร้อมกันนั้นเราก็เป็นสถาบันในแนวตั้งด้วย เรามุ่งไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมปลายน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หรืออาหาร อุตสาหกรรมแม่ คือ แม่พิมพ์ส่วนอุตสาหกรรมพ่อ คือ เครื่องจักรและชิ้นส่วนอัตโนมัติ เพราะแม้แต่อุตสาหกรรมแม่ อย่างแม่พิมพ์ก็ยังต้องถือกำเนิดจากชิ้นส่วนทูลส์เครื่องจักรและระบบอัตโนมัต

ทั้งนี้ หลังจากประกาศนโยบายอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ทั้ง 10 อุตสาหกรรม ทางสถาบันไทย-เยอรมันก็ได้โฟกัสเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์อย่างมากในแง่ขององค์ความรู้ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา สอดคล้องกับภาครัฐที่ออกมาตรการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่นักลงทุน ผู้สร้างรวมถึงผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อปรับปรุงผลิตภาพการผลิต”

สถาบันไทย-เยอรมันกับพันธกิจใหญ่ สนับสนุนอุตสาหกรรมไทยไป 4.0

“อย่างที่บอกว่า หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอยู่ในระดับ 3.0 หากต้องไป 4.0 เราต้องเพิ่ม IoT และ Big Data ฉะนั้นกล่าวได้ว่า เรากำลังขับเคลื่อนจากระบบอัตโนมัติในโรงงานให้กลายเป็น Smart Factory วิจัยและพัฒนาเรื่อง IoT และ Big Data เราพยายามทำต้นแบบให้เห็นว่า โรงงานอัจฉริยะมันเป็นอย่างไร ทำงานอย่างไร มีหน้าตาแบบไหน จากนั้น พัฒนาเป็นหลักสูตรอบรมต่อไป

เราแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ หนึ่ง สร้างการตระหนักและรับรู้ว่า มันมาแน่ๆ จะช้าหรือเร็วต้องมาแน่นอน แล้วการมานั้นจะกระทบกับธุรกิจและอุตสาหกรรมของเขาแน่นอน สอง ผู้เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้ เราจะให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสุดท้ายต้องปรับตัว ประยุกต์เอาความรู้และเทคโนโลยีที่เราถ่ายทอดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้” คุณสมหวังกล่าว

อย่างไรก็ตาม Teaching และ Learning Factory ในแบบจำลอง 4.0 ที่สถาบันไทย-เยอรมันเปิดให้เข้าชมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่สนใจได้เห็นภาพจริง มีโมเดลสาธิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จริง ใช้แม่พิมพ์จริง โดยหลังจากนี้จะพัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้จริง

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมไทย

คุณสมหวังวิเคราะห์ถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยว่า ที่น่าสนใจและยังคงเป็นความหวังของเศรษฐกิจ คือ แม่พิมพ์ ยานยนต์ อาหาร และโรบอติกส์ อย่างอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทย มีความเข้มแข็งมาก เพราะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญและด้วยความร่วมมือจากภาควิชาการรวมถึงภาคอุตสาหกรรม ทำให้พัฒนาเป็นอย่างมาก จนทุกวันนี้ เรียกว่าเข้มแข็งมาก มีความเชี่ยวชาญทั้งการผลิต บุคลากร และระบบอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จากยุค 1.0 ที่ยังใช้เครื่องจักรธรรมดาสามารถตอบโจทย์ได้แค่กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าบริโภคภัณฑ์เข้าสู่ยุคแม่พิมพ์ 4.0 ซึ่งต้องเฉพาะมากขึ้น ทำงานได้หลากหลายขึ้น ละเอียดขึ้น และถูกต้องตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และอาหาร ก็มีความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และวิชาการที่พยายามสร้างบุคลากรให้เชี่ยวชาญและพึ่งตัวเองได้อย่างเต็มรูปแบบ

“เมื่อมีสิ่งใหม่ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงเข้ามาก็จะมาทั้งในรูปแบบภัยคุกคามและโอกาส เราต้องปรับตัวให้ได้ ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส เปลี่ยนตัวเองก่อนถูกบังคับให้เปลี่ยนอีกทั้ง ผู้อยู่รอด ไม่ใช่ผู้ที่ฉลาดหรือแข็งแรงที่สุด แต่คือผู้ที่ปรับตัวได้ดีที่สุด

เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงแล้ว ทุกคนต้องขยับตัว และต้องขยับแบบมีวัตถุประสงค์ ถามตัวเองว่าขยับแล้วได้อะไร คุณภาพดีขึ้น ผลิตได้มากขึ้น ส่งมอบได้ตรงเวลามากขึ้น ต้นทุนถูกลงมี KPI ชัดๆ ไม่ใช่วิ่งไป 4.0 ตามๆ เขาไป ทุกโรงงานต้องรู้ตัวเองว่า ขยับไปเพื่ออะไร” คุณสมหวังกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ

EXECUTIVE SUMMARY

Thai – German Institute; founded for over 20 years is in charge of promoting, supporting and strengthening every basic industry of Thailand particularly for production technology throughout its 20 years of operation. Now, the institute has a big commitment to propel and push forward Thai industrial sector toward Industry 4.0 in term of production, machinery technology and automation as well as personnel’s body of knowledge.

Mr. Somwang Boonrakcharoen, Director of Thai – German Institute interestingly said that before reaching 4.0 era, we need to understand earlier production system, starting with 1.0 era as human got to know how to use steam engine, and 2.0 era as electrical energy started to be widely used, to 3.0 era as human had computer and knew how to use automation system, and used robot to do the works instead of human labors and machineries. Therefore, it was the misunderstanding for saying that Industry 4.0 is all about the robot.

Actually, Industry 4.0 is represented as Cyber Physical System, which means the work with technology consistency such as Robotics, 3D Printing, Virtual Reality, and Predictive Maintenance, etc. In addition, these technologies had already been existed in technology 3.0, but for 4.0 stage, they will totally be integrated with Internet of Thing, and Big Data. Therefore, this was another opinion that keenly described about Industry 4.0.

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×