Thursday, March 28Modern Manufacturing
×

WORKPLACE บริการ FACEBOOK เพื่อการทำงาน

หากยังจำกันได้ ราวสองปีก่อนผู้เขียนได้เคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับบริการตัวใหม่ของ Facebook ที่มีชื่อว่า Facebook At Workไป ซึ่งในช่วงนั้นบริการดังกล่าวยังเป็นบริการ ที่เปิดให้ทดลองใช้งานเฉพาะกลุ่ม (Private Beta) ซึ่งหลังจากเปิดทดลองไปราว 2 ปี ก็พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้ เนื่องจากสามารถนำมาช่วยในการทำงานของบุคลากรในภาคธุรกิจได้ โดยจุดเด่นของ Facebook At Work ก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อมูลระหว่างพนักงานภายในองค์กรกับผู้ใช้งานนอกองค์กร เช่น ลูกค้า คู่ค้า ภาคี เครือข่าย เป็นต้น อีกทั้งยังมีเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลอย่างดี ซึ่งจุดนี้ถือเป็นข้อแตกต่างที่ดีกว่า Facebook ในแบบปกติที่ผู้ใช้งานทั่วไปใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

WORKPLACE บริการ FACEBOOK เพื่อการทำงาน

WORKPLACE บริการ FACEBOOK เพื่อการทำงาน

อย่างที่ทราบกันดีว่า Facebook เป็นบริการโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก เมื่อกระจายจำนวนผู้ใช้ไปตามระดับอายุก็จะพบว่าประชากรช่วงวัยทำงานเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากที่สุด ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นบางบริษัทมีนโนบายขอ Account Facebook ของพนักงานเอาไว้สำหรับเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการติดต่อกับพนักงาน รวมไปถึงบริษัทสามารถที่จะขอ Add พนักงานมาเป็น Friend เพื่อให้สามารถเข้าไปอ่านโพสต์ต่างๆ ได้เฉกเช่น Friend ในลิสต์ปกติ

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะในประเทศที่มีผู้ใช้งาน Facebook มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกก็มีนโยบายลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ทางฝ่ายบุคคลก็จะแจ้งให้พนักงานทราบและบันทึกเก็บเอาไว้ในโปรไฟล์ของพนักงานกันอยู่แล้ว

อันที่จริงแล้ว Facebook ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการทำางานระดับองค์กรมาตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการแล้ว โดยเฉพาะการนำมาใช้ในการสื่อสารข้อมูลกันระหว่างพนักงาน จากที่เคยสื่อสารกันด้วยอีเมล ซึ่งมักจะพบว่าเมื่อมีการรับส่งกันในปริมาณมากก็มักจะทำให้เกิดการตกหล่น รวมไปถึงการรวบรวมข้อมูลก็ทำได้ยากทำให้การสื่อสารระหว่างทีมงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เมื่อมีบริการ Facebook At Work เข้ามาเป็นตัวเลือก ปริมาณอีเมลก็ลดลงไปอย่างมาก

ทั้งยังสามารถที่จะติดตามงานในโครงการต่างๆ ได้โดยง่ายไม่เฉพาะแต่เพียงผู้ใช้ที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนี้เท่านั้น ทางทีมงาน Facebook เองก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในข้อนี้ด้วยเช่นเดียวกัน Julien Codorniou ผู้อำนวยการของ Facebook At Work เคยกล่าวไว้ว่า แท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ของการพัฒนาบริการ Facebook At Work นั้นไม่ได้มาเพื่อทดแทนการใช้งานอีเมลแต่อย่างใด แต่ก็เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะอย่างไร การสื่อสารข้อมูลด้วยการใช้อีเมลก็จะถูกทดแทนด้วยบริการสื่อสารที่ดีกว่าอยู่ดี

สำหรับบริการ Facebook At Work เวอร์ชั่นทดลองนั้นทาง Facebook หมายมั่นปั้นมือว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้ในองค์กรหรือหน่วยงาน ทาง Facebook จึงได้คัดสรรบริษัทที่มีความเด่นชัดในเรื่องการสื่อสารภายในองค์กรเป็นสำคัญ ซึ่งก็มีบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายแห่งเข้าร่วมโครงการไม่ว่าจะเป็น Telenor, Royal Bank of Scotland, Danone, Starbucks, Booking.com ฯลฯ รวมๆ กันแล้วมีมากถึง 1,000 บริษัททั่วโลกเลยทีเดียว ในช่วงของการทดสอบนั้นก็ยังได้พบอีกว่ามีการสร้างกรุ๊ปการใช้งานเกิดขึ้นกว่า 100,000 กรุ๊ปเลยทีเดียว โดยประเทศที่ใช้มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ อินเดีย นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส จากความนิยมดังกล่าวทีมงาน Facebook ประเมินว่าบริการ Facebook At Work นั้นได้รับการตอบรับที่น่าพอใจเพียงพอที่จะสานต่อโครงการนี้ต่อไปได้

เมื่อไม่นานมานี้ Facebook ก็ได้ประกาศเปิดตัวบริการ Facebook At Work อย่างเป็นทางการและได้เปลี่ยนชื่อบริการมาเป็น Workplace by Facebook เป้าหมายยังคงเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นองค์กร หน่วยงาน บริษัท หรือห้างร้าน ทั้งยังเปิดให้สถาบันการศึกษาและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรได้ใช้งานกัน โดยไม่คิดค่าบริการอีกด้วย แน่นอนว่า Workplace ยังคงไว้ซึ่ง คุณสมบัติหลักๆ ที่ Facebook ทำได้ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

คุณสมบัติหลักๆ ของ Facebook Workplace

  • Work Chat อย่างที่ทราบกันดีว่าระบบแชทของ Facebook Messenger นั้นมีความสามารถสูงมาก นอกจากจะแชทกันด้วยการพิมพ์ตัวอักษรแล้ว ยังสามารถส่งไฟล์เอกสาร รูปภาพ และยังสามารถสื่อสารกันในลักษณะของ Video Call ได้อีกด้วย
  • Live Video พนักงานสามารถติดต่อสื่อสารกันในรูปแบบของการถ่ายทอดสดได้ และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสาธิตหรืออบรมได้อีกด้วย
  • News Feed ข้อมูลข่าวสารที่โพสต์โดยผู้ใช้ เช่น พนักงาน ทีมงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะถูกนำมาแสดงบน Timeline ให้ได้เห็นโดยตลอด ทำให้สามารถติดตามข้อมูลที่สำคัญได้
  • Search ถือเป็นคุณสมบัติของบริการ Workplace ที่สำคัญอย่างมาก ข้อมูลใด ๆ ที่พนักงานได้เคยโพสต์หรือเคยอัปโหลดไว้สามารถที่จะหาได้โดยง่าย ด้วยการพิมพ์คำหรือคีย์เวิร์ดเพื่อสืบค้น
  • Groups เมื่อมีโครงการใด ๆ เกิดขึ้น ผู้ที่มีอำนาจก็สามารถที่จะสร้างกรุ๊ปขึ้นมาเพื่อที่จะนำทีมงานหรือผู้เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุย ปรึกษาหารือ หรือระดมสมองเพื่อทำงานร่วมกันได้
  • Multi-Company Groups องค์กรใดที่มีบริษัทในเครือ คู่ค้า หรือภาคี ก็สามารถที่จะสร้างกรุ๊ปขึ้นมาได้ด้วยเช่นเดียวกัน
  • Dashboard ส่วนนี้มีขึ้นเพื่อควบคุมดูแลการใช้งานทั้งหมดของ Workplace แน่นอนว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของ Admin นอกจากจะทำการตั้งการใช้งานต่าง ๆ แล้วยังสามารถติดตามพฤติกรรมการใช้ในเชิงสถิติได้อีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจจะทดลองใช้งาน Workplace ก็สามารถสมัครใช้งานได้ฟรีที่ https://workplace.fb.com/ โดย Facebook ได้เปิดให้ใช้งานฟรีถึง 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ในการสมัครนั้น จำเป็นจะต้องใช้อีเมลของบริษัทเท่านั้น ไม่สามารถใช้อีเมลส่วนตัวในการสมัครได้ใช้งานได้ เหนือสิ่งอื่นใดก่อนที่จะทำการทดลองใช้บริการนั้นควรมีการตระเตรียมทีมงานให้พร้อม ลองนำโครงที่มีระดับความสำคัญไม่มากนักเข้ามาทดลองใช้กันก่อน จากนั้นต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าเหมาะสมกับการนำมาใช้ในองค์กรหรือไม่ ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั่นเอง

EXECUTIVE SUMMARY

Recently, Facebook has been announced the service ‘Facebook At Work’ officially and changed the name into Workplace by Facebook. The target segments are still corporate, agency or store user, also institute and NPO (Nonprofit Organization) for free of charge. The Workplace still maintain Facebook’s main feature which are News Feed, Live Video, Work Chat, Search, Group, Multi-Company Groups and Dashboard.

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×