Secure tech 2024

ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ เปิดนโยบายขับเคลื่อน กฟผ.

Date Post
16.12.2020
Post Views

“บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 เผยหลักการบริหาร กฟผ. สู่ผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจรรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้า สร้างพันธมิตรต่อ ยอดธุรกิจใหม่  ควบคู่การดูแลสังคมชุมชนสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงรูปแบบการผลิตไฟฟ้าซึ่งถูกกำหนดโดยผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น กฟผ. จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุค New Normal ปรับวิธีคิดและการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “EGAT for ALL” หรือ กฟผ. เป็นของทุกคน และทำเพื่อทุกคน 

เพราะนอกจากการผลิตและส่งไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศแล้ว การดำเนินงานของ กฟผ. ยังต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความหลากหลายในยุคดิสรัปชั่น โดยตั้งเป้าเดินหน้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Energy Solutions Provider) ด้วยหลักการบริหารแบบ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์”  เดินหน้าผลักดันงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การพัฒนาโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 Rev.1 ให้แล้วเสร็จตามกำหนด มุ่งเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกการดำเนินงาน ตั้งแต่การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าดิจิทัล (Digital Power Plant) ทำให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบผสมผสาน อาทิ โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ

ด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. มุ่งพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน (Grid Connectivity) ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานของภูมิภาค และปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าในประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยในปี 2564 จะเร่งดำเนินสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา (วัฒนานคร จ.สระแก้ว – พระตะบอง 2 กัมพูชา) เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 

ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศ (RE Forecast Center) ซึ่ง สามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ละเอียดในระดับราย 30 นาที จนถึงในอีก 7 วันถัดไปได้อย่างแม่นยำ 

พร้อมทั้งนำร่องศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เชื่อมต่อกับระบบของ กฟน. และ กฟภ. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการตอบสนองทางด้านโหลดในภาพรวมของประเทศ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) มีความพร้อมจ่ายสูง โดยเริ่มนำร่องที่โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 แล้ว ทำให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีพลังงานหมุนเวียนเชื่อมต่อเข้าระบบไฟฟ้าปริมาณมาก

ผู้ว่าการ กฟผ. บอกว่า ท่ามกลางความท้าทายของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในปัจจุบันต้องเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเดิมด้วย และ กฟผ. จะไม่เดินเพียงลำพัง จะแสวงหาพันธมิตรร่วมเป็นคู่ค้าเพื่อสร้างความหลากหลายทางธุรกิจ ตลอดจนการสร้างการเติบโตผ่านบริษัทในกลุ่ม กฟผ. และเดินหน้ารุกธุรกิจเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเดิม อาทิ การขายไฟฟ้าไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น ธุรกิจนำเข้า LNG ขยายธุรกิจบำรุงรักษาสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 

นอกจากนี้ กฟผ. ยังเตรียมบุกธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า, เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (EGAT DC Quick Charger) ขนาด 100 กิโลวัตต์, ธุรกิจสมาร์ทอีวีชาร์จเจอร์ขนาดเล็กแบบครบวงจรภายใต้แบรนด์ Wallbox, ชุดดัดแปลงสภาพรถยนต์ให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Kit), ธุรกิจแบตเตอรี่อัจฉริยะ (Batt 20C) สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว, ธุรกิจซื้อขายเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC)

ทั้งนี้ กฟผ. ยังมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมต่อยอดการดูแลสังคมอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด “CSR for ALL เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน” ทั้งในมิติเศรษฐกิจ (Prosperity) จากโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคที่อยู่อาศัย ต่อยอดสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการไฟฟ้าแบบครบวงจร เช่น การออกแบบมาตรฐานอุปกรณ์ไฟฟ้า การจัดการใช้ไฟฟ้าผ่านแอพพลิเคชั่น การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน 

ส่วนในมิติสังคมและชุมชน (People) จากการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืนด้วยโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการชีววิถี โครงการห้องเรียนสีเขียว ต่อยอดสู่โคก หนอง นา โมเดลวิถีใหม่ตามศาสตร์พระราชา และพัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชนผ่านการสนับสนุนการท่องเที่ยวและสินค้าชุมชน สำหรับมิติสิ่งแวดล้อม (Planet) จากโครงการปลูกป่าและการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก ต่อยอดสู่นวัตกรรมดูแลคุณภาพอากาศ EGAT Air TIME ได้แก่ การปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Tree) นวัตกรรมสีเขียว (Innovation) การติดตามคุณภาพอากาศ (Monitoring) และการถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความตะหนักในการดูแลคุณภาพอากาศ (Education & Engagement)

“ผมมุ่งมั่นจะวางรากฐานให้ กฟผ. พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยหลักการบริหารแบบ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์” โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เสริมความแข็งแกร่งด้วยพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมกับยกระดับการทำงานสู่มืออาชีพด้านพลังงานไฟฟ้าที่โดดเด่น ตลอดจนสร้างการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์