Secure tech 2024

สมอ.โชว์ผลงานปี 64 ทะลุเป้าหมาย กำหนดมาตรฐาน 450 เรื่อง

Date Post
01.10.2021
Post Views

สมอ. โชว์ผลงานปี 64  ทุบสถิติผลงานรอบปี กำหนดมาตรฐาน 450 เรื่อง ออกใบอนุญาต มอก. เฉียด 20,000 ฉบับตรวจจับสินค้าผิดกฎหมายในท้องตลาด และขายออนไลน์ รวมกว่า 2,040 ล้านบาท 

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังแถลงผลการดำเนินงานของ สมอ. รอบปีงบประมาณ 2564 ว่า ผลการดำเนินงานของ สมอ. ในปีนี้ ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการกำหนดมาตรฐานปีนี้ ปีเดียวกำหนดมาตรฐานไปแล้วถึง 450 เรื่อง และกำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับ 48 เรื่อง  ออกใบอนุญาตไปแล้ว 18,526 ฉบับ ทำลายสถิติเดิมทุกรายการและนับว่ามากที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้ง สมอ.

สำหรับการออกใบอนุญาต มอก. ปีนี้ สมอ. ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการไปแล้ว 18,526 ฉบับ ซึ่งเป็นการออกใบอนุญาตที่มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์  โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการออกใบอนุญาตเพียงแค่ 6 วันทำการเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตจะต้องแสดง QR Code คู่กับเครื่องหมายมาตรฐาน เพื่อแสดงรายละเอียดข้อมูลในใบอนุญาต และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่แสดงบนตัวสินค้า ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดของสินค้าได้โดยสแกน QR Code รวมทั้งเป็นข้อมูลในการร้องเรียนกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ระบุไว้ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

นอกจากการกำหนดมาตรฐานสินค้าแล้ว สมอ. ยังได้กำหนดมาตรฐานระบบการจัดการภายในหน่วยงานหรือสถานประกอบการ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล  อาทิ มาตรฐาน มตช. 45005-2564 การทำงานอย่างปลอดภัยระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมาตรฐาน มตช. 4-2564 การจัดการความปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่ง สมอ. ได้ลงนาม MoU กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. กว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ นำมาตรฐานไปใช้เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในโรงเรียน

ด้านนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (EV) สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 91 มาตรฐาน อาทิเช่น มาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เต้าเสียบและเต้ารับ ระบบกักเก็บพลังงาน สถานีชาร์จ มอเตอร์  เซลล์แบตเตอรี่  และล่าสุดจะกำหนดมาตรฐานเรือไฟฟ้าในปีงบประมาณ 2565 ด้วย

ด้านการขับเคลื่อนนโยบาย BCG สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับ BCG ไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 470 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค สมอ. ได้ตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างเข้มงวด ทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบ การเฝ้าระวังการนำเข้าผ่านระบบ NSW และการตรวจติดตามการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) โดยในปีนี้ สมอ. สามารถตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มูลค่ากว่า 2,040 ล้านบาท เป็นกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 1,834 ล้านบาท  รองลงมาคือกลุ่มสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 106 ล้านบาท  กลุ่มสินค้าเหล็ก มูลค่ากว่า 90 ล้านบาท  กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท  และเป็นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จําหน่ายออนไลน์ มูลค่ากว่า 128 ล้านบาท   ซึ่งจากตัวเลขการดำเนินคดีดังกล่าว ทำให้ปีนี้ สมอ.ปรับผู้กระทำความผิดทุกราย รวมมูลค่ากว่า 55 ล้านบาท

ด้านภารกิจการแต่งตั้ง Third parties สมอ. ได้แต่งตั้งห้องแล็ป จํานวน 486 มาตรฐาน  และแต่งตั้งผู้ตรวจสอบโรงงานแทน สมอ. (IB) จํานวน 346 มาตรฐาน  เพื่อเพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ

ด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ ปีนี้ สมอ. ได้ลงนามข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (ASEAN AP MRA)  ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 17 มกราคม 2565 เป็นต้นไป และข้อตกลงยอมรับร่วมสำหรับผลิตภัณฑ์วัสดุอาคารและสิ่งก่อสร้างของอาเซียน (ASEAN BC MRA) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศในอาเซียนโดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ

ด้านการบริการผู้ประกอบการและประชาชน สมอ. ได้นําระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทํางานทุกกิจกรรมแบบเต็มรูปแบบ เพื่ออํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่ง สมอ. ได้พัฒนาระบบสมบูรณ์แล้ว ทั้งระบบ e-License ระบบ e-Surveillance  ระบบ e-Accreditation ระบบ National Single Window – NSW ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมศุลกากร เพื่อป้องกันการนำสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ รวมทั้ง การชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านระบบ e-Payment ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐของกรมบัญชีกลาง เพื่อชำระค่าบริการผ่านทางแอพพลิเคชั่น Krungthai NEXT และ Internet Banking ของทุกธนาคาร รวมทั้ง เคาท์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขาตลอด 24 ชม. 

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบฯ แห่งแรกในอาเซียน ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% และเปิดให้บริการทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 (มอก.2721) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หากได้รับการจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เหลืออีกราว 1,600 ล้านบาท ในปี 2566 คาดว่าสนามจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบปลายปี 2568

“ผลงานในรอบปี 2564 ของ สมอ. ได้มุ่งเน้นการทำงานที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ทั้งนโยบาย Thailand 4.0 การพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนด้วยโมเดล BCG  EV การแก้ไขปัญหา PM 2.5 และการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยจากการใช้สินค้า แม้วันนี้ สมอ. ได้ออกมาตรการ Work from home เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ สมอ. แต่ถึงอย่างไร สมอ. ก็ยังคงให้บริการตามปกติในทุกส่วนงาน จึงขอให้ผู้ประกอบการและประชาชนมั่นใจว่า การดำเนินงานของ สมอ. ยังคงประสิทธิภาพเหมือนเดิมทุกประการ” เลขาธิการ สมอ. กล่าว 

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์