Friday, April 19Modern Manufacturing
×

กรอ.เผยยอดตั้งโรงงานใหม่ 3 ไตรมาสปี 64 เพิ่มกว่า 1,800 โรง

กรอ.เผย ผลการดำเนินงาน 3 ไตรมาสปี 64 ได้ผลตามเป้า มี โรงงานใหม่ 1,894 โรง เม็ดเงินลงทุนกว่า 2.25 แสนล้านบาท แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

กรอ.เผยยอดตั้งโรงงานใหม่ 3 ไตรมาสปี 64 เพิ่มกว่า 1,800 โรง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับการรายงานผลการดำเนินงานในช่วง 3 ไตรมาสของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมการประกอบกิจการโรงงาน ตั้งใหม่ ขยาย และการตั้งเขตประกอบการ ในปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค.63 – 30 มิ.ย.64) ภาพรวมทั่วประเทศมีการประกอบกิจการโรงงานใหม่ จำนวน 1,894 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 225,710.24 ล้านบาท มีการจ้างงาน 58,765 คน โดยมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.24 ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์โลหะ ตามลำดับ

กรอ.เผยยอดตั้งโรงงานใหม่ 3 ไตรมาสปี 64 เพิ่มกว่า 1,800 โรง

ในส่วนของการขยายโรงงานใหม่มีจำนวน 209 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 69,083.30 ล้านบาท มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 35,663 คน ขณะเดียวกันมีการเลิกประกอบกิจการโรงงานจำนวน  567 โรงงานคิดเป็นมูลค่าการลงทุน จำนวน 29,541.10 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตเขตประกอบการอุตสาหกรรมใหม่ ของบริษัท ไทยอีสเทิร์น อินดัสเตรียล แลนด์ จำกัด อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาการขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการ ด้วยทุนจดทะเบียน 510 ล้านบาท

 “ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกระลอกนั้น แต่ในภาพรวมของการประกอบกิจการโรงงานยังสามารถไปต่อได้ ซึ่งผมรู้สึกพอใจกับตัวเลขของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งที่มีการตั้งโรงงานใหม่ หรือการขยายโรงงาน เพราะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิดในหลาย ๆ ประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย คาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชน ซึ่งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น”นายสุริยะ กล่าว

เลือกมอเตอร์เกียร์อย่างไรให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และยา | Vanich Group [SuperSource]

ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กรอ. ได้ดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในเขตกรุงเทพมหานคร โดยสามารถตรวจติดตามและกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ครบ 100% ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันมีการติดตามสถานการณ์และรายงานการตรวจเชิงรุกของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมประสานข้อมูลโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้า หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง มีการพัฒนาระบบบริหารกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (E-FULLY MANIFEST) มีระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (GPS) เพื่อติดตามรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ (Real Time) และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการจัดการกากอุตสาหกรรมตามหลัก 3Rs และ KAIZEN และมีโครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีเครื่องมือตรวจวัดมลพิษขั้นสูง เพื่อมาตรวจสอบการระบายมลพิษโรงงานแบบตลอดเวลา(Real-time) พร้อมระบบสื่อสารรายงานผลตรวจวัดแบบปัจจุบันผ่านอินเทอร์เน็ตในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ลดการใช้เจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลโรงงาน สอดคล้องกับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และการใช้ระบบ IT ในการช่วยการปฏิบัติงาน ลดการใช้คน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจกำกับ  อาทิ ระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring System : CEMS) ที่เป็นระบบตรวจวัดมลพิษ อากาศจากปล่องระบาย โดยกลุ่มเป้าหมายคือโรงงานที่มีขนาดใหญ่ มีการระบายมลพิษปริมาณมาก หรือมีการระบายสารมลพิษที่มีความเป็นพิษสูง 

การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 ในปี 2564 กรอ.อยู่ระหว่างดำเนินการ “โครงการรายงานและติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม” เพื่อขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ รวมถึงประเมินผลตัวเลขการลดก๊าซเรือนกระจก (tracking report) รายปี สำหรับมาตรการต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เพื่อรองรับการรายงานตามพันธกรณีความตกลงปารีสและกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ต่อไป

โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) จากข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวมาแล้ว จำนวน 42,551 ใบรับรอง โดยปีงบประมาณ 2564 ประกอบด้วย ระดับ 1 จำนวน 369 ใบรับรอง ระดับ 2 จำนวน 574 ใบรับรอง ระดับ 3 จำนวน 727 ใบรับรอง ระดับ 4 จำนวน 74 ใบรับรอง และ ระดับ 5 จำนวน 8 ใบรับรอง รวมจำนวน 1,752 ใบรับรอง ทั้งนี้มีการกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (พ.ศ. 2564 – 2580) ว่าสถานประกอบการจะต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมดภายในปี 2568  โดยในปีนี้ให้สถานประกอบการได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวร้อยละ 40

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กรอ.ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 อาทิ การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 กว่า 56,000 โรงงาน ซึ่งเบื้องต้นผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564  

“ภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มจะเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การ“ปรับตัวแล้วรอด” คือการก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และนำมาปรับใช้หรือต่อยอดกับธุรกิจของตนเอง เพื่อลดปัญหาการหยุด หรือเลิกกิจการ ตลอดจนการเลิกจ้างแรงงาน ลดปัญหาการว่างงานจากภาคอุตสาหกรรม  โดย กรอ.พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวและสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ตามปกติ” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

Nichaphan W.
Marketing
READ MORE
×