Friday, March 29Modern Manufacturing
×

ก.อุต ดัน ปัญหามลพิษ PM 2.5 วาระแห่งชาติ

กระทรวงอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ  การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง  ดัน 3 มาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมบริหารจัดการระยะสั้น–ระยะยาว ร่วมกับภาคเอกชน

ก.อุต ดัน ปัญหามลพิษ PM 2.5 วาระแห่งชาติ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และได้เดินหน้าขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าว ผ่านคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานในสังกัด จาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม

ก.อุต ดัน ปัญหามลพิษ PM 2.5 วาระแห่งชาติ

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมออก 3 มาตรการสำคัญ เพื่อแก้ปัญหา ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับโรงงาน ขอความร่วมมือโรงงานในการลดกำลังการผลิตและควบคุมอย่างเข้มงวด การระบายมลพิษอากาศ โดยเฉพาะจังหวัดปริมณฑลที่มีโรงงานจำนวนมาก และพื้นที่ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ที่มีการประกอบกิจการเหมืองแร่เป็นจำนวนมากซึ่งมีความเสี่ยงที่จะปล่อยฝุ่นละออง

มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง โดยวางแผนการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ปี 2562 – 2564 และระยะยาว ปี 2565-2567 โดยผลักดันมาตรการสำคัญทั้งใน  กลุ่มยานยนต์ ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการหาแนวทางควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ อาทิ มาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การจัดการรถยนต์ตลอดช่วงอายุการใช้งาน ตลอดจนบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ ยูโร 5 ภายในปี 2564 และ ยูโร 6 ภายในปี 2565

นอกจากนี้ในส่วนของการจัดทำมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถบรรทุก ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ให้ความเห็นชอบร่างมาตรฐานยูโร 4 ยูโร 5 และยูโร 6 ได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 นอกจากนี้กลุ่มรถเก่า มอบหมายให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หารือกับกรมการขนส่งทางบก จัดทำมาตรฐานระดับการปล่อยมลพิษค่า PM 2.5 เพื่อการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ และวิธีการตรวจทดสอบรถยนต์

ส่วนรถใหม่มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หารือกับค่ายรถยนต์ ในการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 4-6  กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม กระทรวง ฯ จะเข้มงวดกับการควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง อาทิ กำหนดมาตรการทางกฎหมายโดยการออกระเบียบกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 50 ในฤดูการผลิตปี 2563 ร้อยละ 20 ในปี 2564 และร้อยละ 5 ในปี 2565 ตามลำดับ

โดยในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ได้ดำเนินการหักค่าอ้อยไฟไหม้ในส่วนของชาวไร่อ้อย 30 บาทต่อตัน และในส่วนของโรงงานที่รับซื้ออ้อยไฟไหม้เกินร้อยละ 50 หัก 12 บาทต่อตัน ทั้งยังกำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อย และจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นการสนับสนุนการตัดอ้อยสด ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ได้ในระยะยาว  กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางการอากาศ โดยคำนึงถึงศักยภาพการรองรับของพื้นที่ พร้อมติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่องที่โรงงานอุตสาหกรรม และให้มีการรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ ไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้มีการปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ แผนการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ปี 2562 – 2564 และระยะยาว ปี 2565-2567 จะเน้นหนักในด้านการส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ควบคุม ลดมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการส่งเสริมสร้างความตระหนักจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรม และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกันอย่างจริงจัง มุ่งให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อการแก้ปัญหาที่มีศักยภาพอย่างยั่งยืนต่อไป

Nichaphan W.
Marketing
READ MORE
×