Friday, March 29Modern Manufacturing
×

ส.อ.ท. ชี้นำเข้ารถยนต์เลี่ยงภาษีกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์

รถเลี่ยงภาษี Grey market

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จี้ภาครัฐแก้ปัญหานำเข้ารถยนต์ที่หลีกเลี่ยงภาษี ชี้กระทบผู้บริโภค ภาครัฐ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การนำเข้ารถยนต์ที่เลี่ยงภาษีเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายปี แม้ว่าภาครัฐมีความพยายามที่จะแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ด้านภาษีเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้านคุณภาพ และมาตรฐานความปลอดภัย อีกทั้งเป็นเหตุให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยของภาครัฐ

จากปัญหาการนำเข้ารถยนต์เลี่ยงภาษีที่ยังคงมีอยู่ ประกอบกับปัจจุบันมีแรงกดดันจากผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ที่ขอให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ตลอดจนขอยกเว้นกฎระเบียบต่างๆ เพื่อทำให้กลุ่มผู้นำเข้าอิสระสามารถประกอบธุรกิจได้นั้น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง จึงขอนำเสนอมุมมองอีกด้านให้สังคมได้รับทราบ

เมื่อปี พ.ศ. 2555 บริษัท ไบรอัน เคฟ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำเข้า และจำหน่ายรถยนต์นำเข้าโดยผู้นำเข้าอิสระ (Grey Market) ในประเทศไทย โดยได้ศึกษาถึงกระบวนการและผลกระทบ สามารถสรุปได้ดังนี้

กระบวนการนำเข้ารถยนต์ของผู้นำเข้าอิสระมี 3 รูปแบบหลัก ได้แก่

  1. การนำเข้ารถใหม่ (CBU)
  2. การนำเข้าโดยการสำแดงเป็นรถยนต์ใช้แล้ว ผ่านการขอใบอนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศ
  3. รถจดประกอบหรือการแยกชิ้นส่วน เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีนำเข้าในอัตรารถยนต์สำเร็จรูป

อย่างไรก็ตาม จากการที่ภาครัฐได้เพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้ารถยนต์จดประกอบ ทำให้ปัญหาจากการนำเข้ารถยนต์ผ่านช่องทางนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัญหาจากการนำเข้ารถยนต์ของผู้นำเข้าอิสระ โดยทั่วไปพบว่ามีการสำแดงราคาของรถยนต์ต่ำกว่าความเป็นจริง มีการหลีกเลี่ยงขั้นตอนทางศุลกากร รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน และความปลอดภัย เช่น การทดสอบมาตรฐานมลพิษ และการติด ECO Sticker เป็นต้น

กระบวนการนำเข้าของผู้นำเข้าอิสระในรูปแบบต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้จากภาษีอากร ซึ่งได้แก่ ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ เป็นจำนวนมากแล้ว ยังก่อให้เกิดความสูญเสียและส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. การสูญเสียต่อผู้บริโภค ผู้นำเข้าและจำหน่ายอย่างเป็นทางการ (Authorized Dealer) มีการลงทุนสร้างและปรับปรุงเครือข่ายการซ่อมบำรุงรถยนต์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับรองคุณภาพและรักษามาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าให้อยู่ในระดับสากล แต่รถที่นำเข้าโดยผู้นำเข้าอิสระ มีความไม่แน่นอนด้านคุณภาพสินค้าและมาตรฐานความปลอดภัย นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความเสี่ยงในการถูกยึดรถดำเนินคดี รวมถึงการลงโทษทางภาษีที่ต้องชำระภาษีย้อนหลังและค่าปรับ
  2. การสูญเสียโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทย หากปริมาณการผลิตรถยนต์และการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศลดลง หรือไม่มากพอ เนื่องมาจากการแทรกแซงตลาดโดยผู้นำเข้าอิสระที่อาศัยช่องทางการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ส่งผลให้ Economy of Scale ลดลง บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศไม่ขยายการลงทุนเพิ่ม ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสในหลายๆ ด้าน ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน การจ้างงานและการพัฒนาฝีมือแรงงานของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
  3. การสูญเสียรายได้ของรัฐ และผลกระทบของเศรษฐกิจที่ถูกบิดเบือน ความเสียหายต่อการประเมินศักยภาพในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เนื่องจากมีการสำแดงโครงสร้างราคาของรถเพื่อการชำระภาษีที่เกี่ยวข้องต่ำกว่าความเป็นจริง รวมถึงการเลี่ยงภาษีของผู้นำเข้าอิสระ
  4. ผลกระทบต่อ Authorized Dealer ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจาก Authorized Dealer มีการลงทุนสูงมาก โดยเฉพาะศูนย์บริการแบบครบวงจรและได้ตามมาตรฐานสูงสุด การลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือพิเศษตรวจเช็กที่ครบครันและทันสมัย การจ้างทีมงานช่างผู้ชำนาญการ การลงทุนด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการรับผิดชอบต่อคุณภาพและผลิตภัณฑ์ อาทิ การรับประกันอะไหล่ระยะยาว, การ Recall รถที่จำหน่ายไปแล้ว ฯลฯ

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงขอเสนอแนะมาตรการที่จำเป็นสำหรับปัญหาผู้นำเข้าอิสระ (Grey Market) ดังนี้

  1. ขอให้ภาครัฐพิจารณาคงอัตราภาษีศุลกากรนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศที่ 80% เนื่องจากการลดภาษีจะทำให้มีการนำเข้ารถยนต์มากขึ้น จนกระทบต่อยอดรถที่ผลิตภายในประเทศ ไม่ก่อให้เกิด Economy of Scale ไม่มีการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้ารถยนต์จะส่งผลต่อการเจรจาเขตการค้าเสรีในอนาคต
  2. ขอให้กรมศุลกากรเร่งรัดการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินราคารถยนต์นำเข้าฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถแข่งขันได้บนพื้นฐานเดียวกัน
  3. ขอให้กรมศุลกากรเข้มงวดด้านการตรวจสอบการสำแดงราคานำเข้าเพื่อป้องกันการสำแดงราคารถยนต์นำเข้าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
  4. ขอให้กรมสรรพสามิตเข้มงวดด้านการตรวจสอบการสำแดงราคาขายปลีกแนะนำ รวมถึงการดูแลจัดเก็บภาษีให้ถูกต้องตามประเภทรถยนต์
  1. ขอให้กรมการขนส่งทางบกเข้มงวดด้านการจดทะเบียนรถยนต์จากผู้นำเข้าอิสระ ภายใต้ตราผลิตภัณฑ์เดียวกันกับเจ้าของแบรนด์ฯ
  2. ขอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้มงวดด้านการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ
  3. ภาครัฐไม่ควรนำหลักการของภาษีศุลกากรนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิก ASEAN ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่เป็นศูนย์ มาเป็นเหตุผลในการลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ เนื่องจากการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTA ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศจึงจะได้รับสิทธิทางภาษี
  4. ขอให้ภาครัฐออกนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบด้าน

มาตรการที่กล่าวมานั้น เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาในระยะยาว หากรถที่นำเข้าจากผู้นำเข้าอิสระ (Grey Market) สามารถนำเข้าอย่างถูกกฎหมายโดยผู้นำเข้าและจำหน่ายอย่างเป็นทางการได้ จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับหลายภาคส่วนของประเทศ ทั้งภาครัฐ ในด้านการจัดเก็บภาษีอากร ภาคเอกชนด้านการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดให้มีความเท่าเทียมและเป็นธรรม และภาคประชาชนด้านคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

Jeeraporn T. on Email
Jeeraporn T.
นักข่าวสายอุตสาหกรรม ประจำกองบรรณาธิการ เว็บไซต์ MMThailand.com
พร้อมเกาะติดข่าวในแวดวงอุตสาหกรรม อาทิ ข่าวนโยบายภาครัฐ งานวิจัยใหม่ๆ ข่าวธุรกิจอุตสาหกรรม ข่าวโรงงานอุตสาหกรรม ข่าวเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรม ฯลฯ
READ MORE
×