Friday, April 19Modern Manufacturing
×

สศอ.เตรียมชงแผนพัฒนาอุตฯ เครื่องมือแพทย์ เข้าที่ประชุม กอช. 

สศอ. เผย ครม. เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ – กัญชง เตรียมชงแผนพัฒนาอุตฯ เครื่องมือแพทย์ เข้าที่ประชุม กอช. ภายในครึ่งปีแรกปีนี้

สศอ.เตรียมชงแผนพัฒนาอุตฯ เครื่องมือแพทย์ เข้าที่ประชุม กอช. 
สศอ.เตรียมชงแผนพัฒนาอุตฯ เครื่องมือแพทย์ เข้าที่ประชุม กอช. 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ รวมถึงรับทราบและเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กอช. ได้เตรียมผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมภายในครึ่งปีแรกของปี 2566

เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานด้วยหุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ | FactoryNews ep.44/2

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ กอช. จำนวน 3 คณะ ตามมติที่ประชุม กอช. ครั้งที่ 1/2565 ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการด้านความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม คณะอนุกรรมการด้านอุตสาหกรรมยั่งยืน และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานของ กอช. ในประเด็นสำคัญด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

สำหรับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจริยะในอาเซียน รวมถึงมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทย มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพีภาคอุตสาหกรรม ภายในปี 2570 โดยภายใต้แผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 

(2) กระตุ้นอุปสงค์ เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมุ่งเน้น 5 กลุ่ม คือ Smart Home, Smart Factory, Smart Hospital & Health, Smart Farm และรถ EV และ (3) สร้างและพัฒนาระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ   โดยพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ขณะที่ แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียนภายใน 5 ปี มีแนวทางดำเนินงาน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง โดยยกระดับนวัตกรรมอุตสาหกรรมกัญชงสู่การต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีให้รองรับในระดับอุตสาหกรรม การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมนวัตกรรมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา 

(2) ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์ โดยยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกัญชงให้มีความพร้อมด้านทักษะ องค์ความรู้และเทคโนโลยี  เพื่อต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชงในระดับสากล  (3) ส่งเสริมด้านการตลาด โดยสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านช่องทางที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกัญชงไทยได้แสดงศักยภาพและเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กัญชงที่สำคัญในระดับโลก และ (4) สร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการประกอบการ เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ 

ขณะเดียวกัน ได้กำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 8 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มอาหารสัตว์  กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่ม Bio Composite กลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ กลุ่มยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เร่งสร้าง Enabling และความมั่นคงทางวัตถุดิบ ปรับปรุงกฎระเบียบ/มาตรฐานให้เอื้อต่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในระดับสากล เกิด Center of Hemp Excellence (CoHE) มีการพัฒนาระบบ Blockchain และส่งเสริม/ให้การรับรองการทำ Contract Farming/Smart Farming ตลอดจนรับรอง GAP  

ระยะที่ 2 ยกระดับการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์กัญชง ให้การรับรองมาตรฐานสากล/GAP/จดทะเบียนสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ 100 ผลิตภัณฑ์ต่อปี เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่กัญชง 100 รายต่อปี และระยะที่ 3 สนับสนุนการผลิตนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก สร้างช่องทางการตลาดผ่านการจัดงาน Hemp Expo/Hemp Forum สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อไร่

“สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมผ่านกลไก กอช. อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นางวรวรรณ กล่าว

Nichaphan W.
Marketing
READ MORE
×