Store Master - Kardex

Lean Talk: ระบบ Lean กับ Agility และ Resilience

Date Post
22.10.2020
Post Views

หลังโควิด-19 เราได้ยินคำว่า Agility หรือ Agile บ่อยครั้ง ในความหมายการปรับตัวองค์กรได้รวดเร็ว รวมถึงการล้มแล้วลุก Resilience ด้วย ในบทความนี้ผมจะขอนำเสนอ การยกระดับแนวคิด Lean ด้วยการเชื่อมโยงมุมคิดจากคำทั้งสองครับ

Lean Strategy ในโลกที่หมุนเร็ว

‘ปิดโรงงานผลิตเสื้อชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อดัง หลังประสบภาวะขาดทุนช่วงโควิด-19’ คือพาดหัวข่าว แสดงถึงธุรกิจที่ ไม่สามารถแข่งขันในตลาด ได้อีกต่อไป 

เปรียบเทียบกับโรงงานคู่แข่ง ที่ปรับตัวผลิตหน้ากากผ้ารับความต้องการที่พุ่งขี้นมา รัดเข็มขัดกับกิจกรรมลดต้นทุน ใช้ระบบ Online ช่วยชดเชยข่องทางการขายรูปแบบเดิม จึงยังสามารถอยู่รอดได้

ตั้งแต่ปิดเมือง องค์กรจำนวนมากเข้าสู่ภาวะวิกฤต หลายแห่งเรียกว่าภาวะสงคราม ในสภาพเช่นนี้ ความเร็ว และ ความชัดเจนกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดขององค์กร ทั้งการกำหนดทิศทาง การตัดสินใจของผู้บริหาร และการร่วมแรงร่วมใจลงมือปฏิบัติของทีมงาน

หลักการของ Lean ที่มุ่งขจัดไขมันหรือความสูญเสีย เพื่อให้ใช้ทรัพยากรไปกับการส่งมอบคุณค่าที่ลูกค้าต้องการเท่านั้น เป็นสิ่งที่จะมาช่วยตอบโจทย์ การลดต้นทุน ที่ต้องทำอย่างเข้มข้นในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้

ในระบบการผลิตโตโยต้า ซึ่งเป็นกรณีศึกษาของระบบ Lean มีหลักการข้อหนึ่งกล่าวถึงกระบวนการทีมี “ความยืดหยุ่น(Flexibility)” เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ‘Heijunka’ หรือ การปรับเรียบการผลิต

คำที่เข้าใจได้ง่ายกว่าในระบบโรงงานคือ การผลิตจำนวนน้อยต่อรุ่น (Small Lot) ตามความต้องการของลูกค้าเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Stock และลดความผันผวนจากภาระงาน (Workload) ที่ขึ้นๆลงๆ เดี๋ยวมากเดี๋ยวน้อยในกระบวนการ

การปรับเรียบนั้นทำได้เมื่อ คน เครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือ ระบบการทำงาน มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ของตนเองได้ง่าย ใช้เวลาสั้นที่สุด

ในกรณี เครื่องจักรอุปกรณ์ การเปลี่ยนรุ่นสินค้าที่ผลิตหรือการตั้งเครื่องจักรทำได้อย่างรวดเร็ว (Quick Changeover/Set up) เกิดการควบรวมอุปกรณ์เครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อลดเวลาการค้นหาและจัดเก็บ

พนักงานมีทักษะหลายอย่าง (Multi-skill) ทำงานร่วมกันเป็นทีมโดยมีเป้าหมายร่วมกัน เมื่อคนใดคนหนึ่งมีปัญหาหรือขาดงาน เพื่อนในทีมสามารถหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันได้เช่นเดียวกับทีมฟุตบอล 

จุดแข็งขององค์กรที่ Lean คือ ‘ตัวเบา’ ทำงานได้อย่างหลากหลาย มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ ใช้เวลาในการทำงานสั้น

หลักคิดที่กล่าวนี้ โดยทั่วไปมักมีมุมมองที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ ในระดับปฏิบัติการ หรือกระบวนการ ของสินค้า/บริการปัจจุบันเป็นหลัก

Flexibility, Agility และ Resilience

ในโลกที่พฤติกรรมผู้บริโภคปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เกิดความต้องการใหม่ๆขึ้นมา สินค้า บริการ หรือ ธุรกิจรูปแบบเดิม อาจไม่สามารถสนองความต้องการลูกค้าได้อีกต่อไป

โควิด-19 ทำให้ความยืดหยุ่นต้องขยายยกระดับ จากระดับปฏิบัติการมาจนถึงระดับ กลยุทธ์องค์กรและห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ที่ต้องพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ 

ตัวอย่างเช่น หลักการ JIT (Just In Time) คือ การควบคุมสินค้าคงคลังให้มีน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ (Zero Inventory) ในอุดมคติ 

แต่สิ่งเรียนรู้จาก โควิด-19  คือ เมื่อประเทศจึนซึ่งเป็นฐานสำคัญของเครือข่าย Supply Chain ในโลก ประกาศปิดประเทศธุรกิจจำนวนมากเกิดปัญหาทันที

JIT จึงต้องมีความยืดหยุ่นเช่นกัน ตามความเสี่ยงและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ กล่าวได้ว่าเป็น JIT + Just In Case ตามสถานการณ์ ทั้งที่คาดการณ์ได้และคาดการณ์ไม่ได้

คำว่า Agility ได้ถูกนำมาใช้โดยสื่อถึง ความคล่องแคล่วว่องไวขององค์กร โดยมุ่งเน้นปัจจัยสำคัญที่สุดคือ “คน” และระบบภายใน ที่ต้องมีความเร็วได้เท่าทันกับสภาพการแข่งขันและสิ่งแวดล้อม

นอกจากทักษะที่จำเป็นในปัจจุบันแล้ว พนักงานต้องมีทัศนคติ พร้อมเรียนรู้เปิดรับสิ่งใหม่ ทักษะใหม่ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ทิศทางใหม่ขององค์กรข้างหน้า

ตั้งแต่ความเข้าใจในตลาดและลูกค้า, การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ (New Product/Service Design), การเข้าสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ (New Business Model), การออกแบบกระบวนการใหม่ (New Process Design) จนถึงกระบวนการผลิตและส่งมอบลูกค้า (Operation and Delivery Process)

ด้วยความไม่แน่นอนในอนาคต องค์กรมีวัฒนธรรม ยอมรับความเสี่ยง กับผลลัพธ์ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังด้วยมุมมองเชิงบวก พนักงานกล้าลองผิดลองถูก แม้ว่าจะล้มเหลว แต่ได้เรียนรู้เพื่อจะพัฒนาสู่ความสำเร็จต่อไป

องค์กร Startup มักกล่าวว่า Fail fast, Fail cheap, Fail forward เพราะหากไม่เกิดความล้มเหลวก่อน สิ่งใหม่หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรม ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

เมื่อเกิดผลกระทบรุนแรงจนซวนเซ ต้องมีความสามารถที่จะกลับลุกขึ้นยืน กลับคืนสู่สภาวะเดิมได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ ‘ตุ๊กตาล้มลุก’ ไม่ว่าจะถูกผลักเอนไปทางใดจะย้อนกลับมาตั้งตรงได้เสมอ นี่คือแนวคิด Resilience

หากเปรียบเป็นนักมวยแล้ว ความผอมเพรียวและแข็งแรง ในระบบ Lean ทำให้มีพลังออกหมัดรูปแบบต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ต่อสู้กับคู่ชกได้ 

แต่เมื่อเจอนักชกคนใหม่ ลีลาการชกใหม่จากฝ่ายตรงข้าม ก็มีความว่องไว (Agility) ปรับรูปแบบยุทธวิธี ของตนเองตามสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นๆ

เมื่อถูกหมัดไปกองกับพื้น ด้วยความแข็งแกร่งและจิตวิญญาณนักสู้ มีกำลังกายและกำลังใจทำให้ฟื้นคืนสภาพ (Resilience)กลับสู่สังเวียนชก ไม่ต้องถูกนำตัวออกไปจากเวที เพื่อหาโอกาส กลับมาใหม่ในยกต่อไป

โลกได้เรียนรู้ว่า วิกฤตใหญ่เช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ธุรกิจจำนวนมากล้มหายไปแต่มีองค์กรที่ อยู่รอด รวมถึง เกิดขึ้นใหม่สามารถแซงหน้าธุรกิจเดิมที่มีอยู่ได้ ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับตลาดและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปครับ

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Kritchai Anakamanee
กฤชชัย อนรรฆมณี [email protected] Lean and Productivity Consultant / Trainer Industrial Engineer; Lean and productivity consultant & trainer; Experiences in manufacturing and marketing at Toyota, and productivity organization in Thailand (Thailand productivity institute) and Japan (APO-Asian Productivity Organization Tokyo)
Store Master - Kardex