Thursday, April 25Modern Manufacturing
×

Lean Talk: คอนเสิร์ตร็อค ช็อกโกแลต และ Visual Management

ปี 2020 โลกได้สูญเสีย นักกีตาร์ฮาร์ดร็อคที่มีชื่อเสียงมากในยุคทศวรรษ 80 Eddie Van Halen วงดนตรี Van Halen ของเขามีเพลงติดอันดับ 1 ของ Main Stream Rock นิตยสาร Billboard ถึง 13 เพลง หากเคยเห็นวิธีการเล่นกีตาร์โซโลแบบนิ้วจิ้มสายแทนการดีด นั่นคืออิทธิพลจากนักกีตาร์คนนี้

Lean Talk: คอนเสิร์ตร็อค ช็อกโกแลต และ Visual Management

วง Van Halen มีการจัดการคอนเสิร์ตที่สนุกสานเร้าใจ พร้อมกับประเด็นน่าสนใจ ให้กล่าวถึงกับการเชื่อมโยงแนวคิด Visual Management เพื่อร่วมอาลัยนักกีตาร์ในตำนานผู้จากไปด้วยครับ

Lean Talk: คอนเสิร์ตร็อค ช็อกโกแลต และ Visual Management

ช็อกโกแลต M&M กับ คอนเสิร์ตร็อค

หากเราเป็นผู้จัดงานคอนเสิร์ตและติดต่อวง Van Halen ให้มาเล่น หลังจากตกลงยอมรับในค่าตัวนักดนตรีและทีมงานแล้ว ทางวงจะมอบ คู่มือการเตรียมการ เพื่อมาให้ปฏิบัติตามเล่มหนึ่ง

คู่มือจะครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่ต้องดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่อาคาร โครงสร้างเวที ระบบเสียง แสงประกอบเวที ระบบรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงการเตรียมห้องพัก อาหาร เครื่องดื่ม เพื่อบริการทีมงานและนักดนตรี 

เงื่อนไขต่างๆถูกระบุในคู่มือ พร้อมกับสัญญาที่ระบุชัดเจนว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตามเกิดข้อผิดพลาดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ทางวงสามารถยกเลิกการจัดงานโดย ผู้จัดจะยังคงต้องรับผิดชอบจ่ายค่าตัวให้กับทางวงเต็มจำนวน

ข้อกำหนดต่างๆถูกระบุไว้ อย่างละเอียดยิบ เช่น น้ำหนักของลำโพงที่ใช้ในงาน หรือแม้กระทั่งยี่ห้อกระดาษชำระที่ต้องมีในห้องน้ำ สัญญาข้อหนึ่งในกลุ่มของขนม/อาหารว่าง คือต้องเตรียมช็อกโกแลต M&M ใส่โถไว้ในห้องพักนักดนตรี พร้อมกับในพื้นที่หลังเวทีให้กับทีมงานด้วย

แต่ข้อความเงื่อนไขที่ดูจะเป็นความหยุมหยิมอย่างไม่มีเหตุผลคือ ห้ามมีเม็ดสีน้ำตาลอยู่ด้วยเด็ดขาดM & M’s (WARNING: ABSOLUTELY NO BROWN ONES) 

นั่นหมายถึงในฐานะผู้จัด เราต้องเพิ่มงานเพื่อจัดการแยกช็อกโกแลตเม็ดสีน้ำตาล ออกจากสีอื่นๆที่เหลือ และความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆที่อาจเกิดขึ้นได้จากช็อกโกแลตเม็ดเดียว สามารถส่งผลให้เกิด ความสูญเสียทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล

ฟังเงื่อนไขประหลาดช็อคโกแลตสีน้ำตาลนี้แล้ว อาจชวนให้คิดว่า วงดนตรีนี้เพี้ยนสิ้นดี ทำตัวให้เรื่องมากอย่างไม่มีเหตุผลนะครับ

ตัวชี้วัดความสอดคล้องกับมาตรฐาน

หากเปลี่ยนข้างมาเป็นผู้จัดการวงดนตรี เราย่อมต้องการให้การแสดงคอนเสิร์ต เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ ในทุกรายละเอียดทั้งแสง เสียง การตกแต่งเวที การแสดง การจัดการผู้เข้าชม

อาคารและเวทีต้องมีความมั่นคงแข็งแรง รองรับน้ำหนักของอุปกรณ์เครื่องมือจำนวนมาก ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทำงานร่วมกัน พร้อมกับผู้ชมจำนวนมากกระโดดโลดเต้นระหว่างการแสดง โดยไม่มีความเสี่ยง ต่ออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น

แต่หากถามว่าในทางปฏิบัติแล้ว ทางวงจะรู้ได้อย่างไร ว่าผู้จัดคอนเสิร์ตได้ปฏิบัติตามครบถ้วนสมบูรณ์ใส่ใจในรายละเอียดแล้ว? 

นอกจากการตรวจสอบประเมินตามปกติแล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่วงใช้คือ การมองเข้าไปในโถช็อกโกแลตว่า มีสีน้ำตาลปะปนอยู่หรือไม่

มีเหตุการณ์ทัวร์คอนเสิร์ตครั้งหนึ่ง หลังจากการพบแล้ว จึงมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นในรายละเอียดทุกจุด พบว่าอาคารสถานที่ไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับกับงานแสงเสียงที่ใหญ่โต มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้เป็นจำนวนมากเช่นนี้

นอกจากนั้น ความแข็งแรงของเวทีไม่ได้มาตรฐาน อาจเกิดการทรุดตัวหรือเสียหาย ส่งผลต่อความปลอดภัย ทั้งนักดนตรี ทีมงานและผู้ชมได้ การแสดงครั้งนั้นถูกยกเลิกไปในที่สุด 

นักร้องนำของวง ได้เปิดเผยวิธีคิดนี้ในภายหลังว่า เป็นความตั้งใจในการตั้งเงื่อนไข ที่ดูเป็นความเรื่องมาก เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จัดคอนเสิร์ตพิถีพิถัน ใส่ใจอ่านทุกข้อความรายละเอียดที่ต้องเตรียมการ 

ข้อความเงื่อนไขเรื่องห้ามมีช็อกโกแลตสีน้ำตาล กลายเป็นตัวชี้วัดถึงความเสี่ยง ว่าผู้จัดปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ทำให้มองเห็นปัญหาด้วยวิธีการที่ง่ายขึ้น

เปรียบกับรถยนต์ เมื่อเครื่องยนต์ร้อนเกินมาตรฐานหรือน้ำมันใกล้จะหมด ก็จะมีไฟเตือนให้กับผู้ขับขี่รู้ได้ทันที เป็นตัวชี้วัดง่ายๆแสดงถึง ความไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน ที่กำหนดไว้

Visual Management

แนวคิดหลักข้อหนึ่งของ Visual Management คือ การทำปัญหาปรากฏขึ้นมาให้เห็น ไม่ใช่ซุกไว้ใต้พรม การประยุกต์ใช้คือการสร้างเครื่องมือ ที่จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นถึงปัญหาได้อย่างง่ายๆ 

ด้วยการ “เห็น” ช็อกโกแลตสีน้ำตาลซึ่งไม่เป็นตามมาตรฐาน ข้อผิดพลาดหรือปัญหาจุดเล็กๆ กลายเป็นสัญญาณ ที่บอกให้เห็นถึงปัญหาอื่นๆหรือปัญหาใหญ่กว่าที่อาจซ่อนอยู่ เพื่อตรวจสอบโดยละเอียดต่อไป

ในชีวิดจริงธุรกิจ เครื่องมืออื่นๆ ที่ถูกนำมาใช้ เช่น สีเขียว-เหลือง-แดง แผนภูมิ กราฟ รูปภาพ ไฟแจ้ง สัญญาณเตือน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นรากฐานที่สุดคือ ทัศนคติหรือวัฒนธรรมองค์กร ที่ต้องมองเชิงบวกต่อปัญหาว่า คือสิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อรักษามาตรฐาน รวมไปถึงการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น

ผู้บริหารที่ชอบฟังแต่ข่าวดี ตอบสนองเชิงลบกับปัญหา เช่น การตำหนิ ลงโทษ จะทำให้ทีมงานไม่อยากรายงานหรือเปิดเผยปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาจะถูกปิดบังไว้ไม่ได่รับการแก้ไข

ความน่าฉงนในสัญญาการเล่นคอนเสิร์ต ได้กลายเป็นกรณีศึกษาหนึ่งของการทำธุรกิจ ด้วยการทำปัญหาให้เห็น ได้อย่างง่ายๆครับ

Kritchai Anakamanee
Columnist
กฤชชัย อนรรฆมณี kritchai.a@gmail.com
Lean and Productivity Consultant / Trainer

Industrial Engineer; Lean and productivity consultant & trainer;
Experiences in manufacturing and marketing at Toyota, and productivity organization in Thailand (Thailand productivity institute) and Japan (APO-Asian Productivity Organization Tokyo)
READ MORE
×