โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard เราไปทำความรู้จักกันว่า EEC คืออะไรอย่างใกล้ชิดพร้อมกัน
พื้นที่เป้าหมาย
EEC คือการครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีความพร้อมในการเป็นเมืองท่องเที่ยวในอันดับต้นๆ ของโลก มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม และด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งสามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ซึ่งขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และจะผลักดันให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคล้ายกับ EEC ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศไทย
ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve)
- อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next-Generation Automotive)
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronics)
- การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง (Advance Agriculture and Biotechnology)
- อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food processing)
- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Tourism)
สร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)
- หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และชีวิตประจำวัน (Advance Robotics)
- อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
- อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
- อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemical)
- อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
อนาคตจุดศูนย์กลางด้านการลงทุนระดับโลก
เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ที่เรียกว่า ‘ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor : EEC) คือ การเป็นจุดศูนย์กลางในระดับโลก โดยเฉพาะด้านการลงทุน เป็นฐานอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 5 โรง อุตสาหกรรมกลุ่มปิโตรเคมี 3 แห่ง โรงผลิตไฟฟ้า 20 โรง และนิคมอุตสาหกรรม 29 แห่ง ทั้งยังเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่มีความสะดวก สบาย ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 200 กม. ที่เชื่อมผ่านเส้นทางสายหลัก ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
ศักยภาพสำคัญของพื้นที่ EEC คือ การเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งภูมิภาคอาเซียน เป็นประตูสู่เอเชีย สามารถเข้าถึงประชากรโลกได้กว่าครึ่งหนึ่ง โดย EEC คือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในเชิงงบประมาณ และขนาดพื้นที่ GDP ของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกอาเซียน และอินเดีย มีมูลค่ารวมกว่า 1/3 ของ GDP โลก โดยในอนาคต EEC จะคือศูนย์กลางเชื่อมโยงกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และระเบียงตะวันออก-ตะวันตก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของความเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และทางตอนใต้ของประเทศจีนด้วย
|
ประเมินงบฯ การลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
1.5 ล้านล้านบาท (43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก
แผน 5 ปี ลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท รับ EEC
พื้นที่เป้าหมายของ EEC คือพื้นที่เดียวกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด และเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกสนใจมาลงทุนตั้งฐานการผลิตที่ไทย ‘EEC’ จึงต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างดี ขณะที่การขนส่งก็ออกแบบไว้ครอบคลุมทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ด้วยงบฯ การลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
สำหรับแผนการลงทุนของรัฐบาลตามกรอบการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) รวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของภาครัฐไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ภาคเอกชน 5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกจะเป็นการร่วมทุนของภาครัฐกับเอกชน 7 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมลงทุนก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ
5 โครงการหลัก ปี’60
สำหรับแผนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของการพัฒนา ‘ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ ในปี พ.ศ. 2560 จะมีการขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญ 5 โครงการ ดังนี้
การพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหานครแห่งการบินภาคตะวันออก เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น 15 ล้านคน ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
รถไฟความเร็วสูง ในปี พ.ศ. 2560 จะดำเนินการเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภาให้ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงด้วยรถไฟความเร็วสูง รองรับผู้โดยสาร 110 ล้านคน/ปี และยกระดับทางคู่จากท่าเรือแหลมฉบังไปท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด โดยเชื่อมต่อท่าเรือหลักกับนิคมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเส้นทางใหม่ ได้แก่
แหลมฉบัง – ปลวกแดง – ระยอง
มาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด
|
ประตูตะวันออกสู่เอเชีย จะมีการดำเนินการเพื่อให้ 3 ท่าเรือ เป็นส่วนหนึ่งของ Eastern Sea Gateway พร้อมทั้งมีการประมูล PPP ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 Gateway to Asia และ PPP ท่าเรือมาบตาพุด ตลอดจนการก่อสร้าง Ferry และ Cruise ที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ
ขณะที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในปี พ.ศ. 2560 บริษัทชั้นนำจะเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และหุ่นยนต์ ตลอดจนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อก้าวสู่การเป็น Medical Hub รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) ได้แก่ อาหารแห่งอนาคต การผลิตพลาสติกชีวภาพ เครื่องสำอาง
ตะวันออกเมืองแห่งอนาคต มุ่งยกระดับเมือง ชุมชน คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม สู่ระดับมาตรฐานสากลพัฒนาเมืองการศึกษานานาชาติโดยมีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนนานาชาติชั้นนำ เป็นผู้นำในด้านสาธารณสุขโดยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และโรงพยาบาล อีกทั้ง มุ่งพัฒนาเมืองใหม่สำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ พร้อมทั้งขับเคลื่อนศูนย์กลางธุรกิจพาณิชย์ที่ทันสมัยในภูมิภาค และจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ EEC ทั้งในด้านสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อมและการศึกษา
นอกจากนี้ โครงการ EEC ได้มีการแบ่งโครงการย่อยเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- โครงการ EECi ในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการ Vistec ใช้พื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ แบ่งเป็น 5 เฟส โดยในเบื้องต้นเฟส 1 จะมีพื้นที่ทั้งหมด 350 ไร่ ไว้สำหรับการพัฒนานวัตกรรม และส่งเสริมเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดนักลงทุนด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่
- โครงการ EECd ตั้งอยู่ที่ชลบุรี โดยเน้นเรื่องการวิจัยอวกาศและอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเป็นดิจิทัลพาร์ค เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในภาคตะวันออก และเป็นจุดเชื่อมต่อระบบการสื่อสารกลุ่ม CLMV รวมถึงเป็นจุดแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเทศและต่างประเทศ (One Belt One Road) เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่และเพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะรองรับ E-Commerce ให้กับกลุ่มภูมิภาค CLMV
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาครัฐจะพยายามผลักดันโครงการ EEC อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังคงขับเคลื่อนได้ช้า ซึ่งหากโครงการ EEC ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ภาครัฐก็จะสามารถนำเอาแนวความคิดและรูปแบบการพัฒนานี้ไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต
Source:
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก