Friday, April 19Modern Manufacturing
×

ปตท. เผย ไตรมาส 2 ปีนี้ กำไรเพิ่มขึ้น

ปตท. เผย ผลประกอบการไตรมาส 2 ปีนี้มีกำไรเพิ่มขึ้น 21,823 ล้านบาท จากนโยบาย 4R’s  มุ่งเน้นการสร้างประสิทธิภาพองค์กร จัดหาพลังงานต่อเนื่อง พร้อมเคียงข้างคนไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

ปตท. เผย ไตรมาส 2 ปีนี้ กำไรเพิ่มขึ้น

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผย ผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 54,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,823 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.4 จากไตรมาส 1 ปี 2563 โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนเป็นผลมาจากการวางแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีค่าเสื่อมราคาและภาษีเงินได้ลดลงส่งผลให้มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2563 จำนวน 12,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 100 จากขาดทุนสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 1,554 ล้านบาท

ปตท. เผย ไตรมาส 2 ปีนี้ กำไรเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตา ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 86,593 ล้านบาท ลดลง 67,734 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 43.9 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากสงครามราคาน้ำมัน สภาวะอุปทานล้นตลาดของน้ำมันดิบ ประกอบกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งนำไปสู่มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อย  มีกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 2563 เป็นจำนวน 10,499 ล้านบาท ลดลง 44,751  ล้านบาท หรือร้อยละ 81.0 จากในครึ่งแรกของปี 2562

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ยังคงไว้ซึ่งภารกิจหลักด้านความมั่นคงทางพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน ในด้านการบริหารองค์กร กลุ่ม ปตท. ได้ประเมินผลกระทบและติดตามสถานการณ์ พร้อมวางแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผ่านศูนย์ PTT Group Vital Center ด้วยแนวคิด 4 R’s เริ่มจาก Resilience สร้างความยืดหยุ่นพร้อมดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร ลด-ละ-เลื่อน ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกลุ่ม ปตท. ในปี 2563 ได้ 10%-15% 

พร้อมทั้งจัดความสำคัญของโครงการลงทุน Restart เตรียมความพร้อมในการนำธุรกิจ พนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดและรักษาความสามารถทางการแข่งขัน Re-imagination เตรียมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งการเติบโตในธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ และ Reform พิจารณาปรับเปลี่ยนโดยจัดโครงสร้างองค์กรหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีนโยบายในการบริหารการเงินอย่างเคร่งครัด ทั้งการรักษาสภาพคล่องและความแข็งแกร่งทางการเงินของกลุ่ม ปตท. โดยในช่วงที่ผ่านมา ปตท. ได้เสนอขายหุ้นกู้จำนวน 3 ครั้ง เพื่อใช้ในการลงทุนเป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนด  ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีและสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  แบ่งเป็น การออกหุ้นกู้สกุลเหรียญสหรัฐ อายุ 50 ปี วงเงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เสนอขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งการออกหุ้นกู้ของ ปตท. ครั้งนี้ ถือเป็นการออกหุ้นกู้สกุลเหรียญสหรัฐอายุ 50 ปี ครั้งแรกที่ออกโดยบริษัทในกลุ่ม Asia and Emerging Markets

อีกส่วนคือการออกหุ้นกู้สกุลบาท เสนอขายให้กับนักลงทุนในประเทศ ทั้งนักลงทุนทั่วไป นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้ รวมการออกหุ้นกู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือกรีนบอนด์ จำนวน 2,000 ล้านบาทด้วย  ซึ่ง ปตท. ถือเป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่เสนอขายกรีนบอนด์ให้กับนักลงทุนทั่วไป และกรีนบอนด์ของ ปตท. ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ที่ได้รับ Certification ด้านอนุรักษ์ป่าจาก Climate Bond Institution (CBI) เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย

Nichaphan W.
Marketing
READ MORE
×