Kosmo
6 skill 2025

6 ทักษะสำคัญที่ SME ไทยต้องพัฒนาเพื่อความสำเร็จในปี 2025

Date Post
13.12.2024
Post Views

Key
Takeaways
  • ทักษะสำคัญสำหรับ SME ไทยปี 2025 – การคิดวิเคราะห์, ความคิดสร้างสรรค์, ความสามารถในการปรับตัว เพื่อเสริมความได้เปรียบทางธุรกิจ

  • ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร – การพัฒนาความคล่องแคล่วในภาษาอังกฤษและจีน พร้อมทักษะการเล่าเรื่องเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

  • ความเป็นผู้นำยุคใหม่ – การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน

ปี 2025 กำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว แต่คงหนีไม่พ้นโลกของธุรกิจที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รุนแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในประเทศหรือภาคการส่งออก ไม่เว้นแม้แต่ในภูมิภาคอาเซียนซึ่งกำลังกลายเป็นตลาดเศรษฐกิจสำคัญ  จึงอยากนำเสนอทักษะที่จำเป็นให้กับ SME ไทยเพื่อที่จะช่วยให้พวกเขาสร้างความได้เปรียบและกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม 

ในบทความนี้ ได้รับเกียรติสัมภาษณ์ คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งได้แบ่งปันมุมมองต่อทักษะสำคัญที่ SME ไทยควรพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนไว้ ดังนี้

1. การคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจ (Analytical Thinking and Decision-Making)

ในปัจจุบันที่ข้อมูล (Data) มีปริมาณมหาศาล ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง SME ต้องสามารถเลือกข้อมูลที่สำคัญมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ทักษะนี้เป็นรากฐานที่ช่วยให้การวางแผนธุรกิจมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้อย่างทันท่วงที

MM Thailand ขอเสนอแนะขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเป็นแนวทางในการปรับใช้ให้กับ SME ทุกท่านผ่าน 5 ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลและแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการตัดสินใจที่ดี

  1. ระบุปัญหาและตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน (Identify Issues and Define Objectives) – เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ระบุว่าปัญหาเกิดจากอะไร และผลกระทบที่สำคัญต่อองค์กรคืออะไร การตั้งคำถามที่ชัดเจน เช่น “เราต้องการข้อมูลอะไร” หรือ “จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร” จะช่วยกำหนดทิศทางการดำเนินการที่ถูกต้อง
  2. รวบรวมและจัดเตรียมข้อมูล (Collect and Prepare Data) – ข้อมูลที่ครบถ้วนและเชื่อถือได้ คือ รากฐานของการวิเคราะห์ที่ดี ใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งที่เกี่ยวข้อง เช่น ฐานข้อมูลภายใน รายงานภายนอก หรือข้อมูลแบบเรียลไทม์ จากนั้นตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล เช่น การลบข้อมูลซ้ำ ข้อมูลขาดหาย หรือข้อมูลที่ผิดพลาด เพื่อให้พร้อมสำหรับการวิเคราะห์
  3. วิเคราะห์ข้อมูลและชั่งน้ำหนักทางเลือก  (Analyze Data and Weigh Options) –  เลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เช่น การวิเคราะห์เชิงสถิติ หรือ AI เพื่อค้นหาความสัมพันธ์และแนวโน้มของข้อมูล เมื่อได้ผลลัพธ์แล้วให้ประเมินข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกผ่านกรอบการวิเคราะห์ เช่น SWOT หรือโมเดลต้นทุน-ผลประโยชน์ เพื่อช่วยให้การตัดสินใจมีความมั่นใจมากขึ้น
  4. ตัดสินใจและลงมือทำ (Make Decisions and Take Action) – หลังจากประเมินตัวเลือก ให้เลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุด พร้อมดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ติดตามผลลัพธ์และประเมินความสำเร็จ หากพบว่าผลลัพธ์ไม่ตรงกับเป้าหมาย ควรปรับเปลี่ยนวิธีการและเรียนรู้จากกระบวนการที่ผ่านมา
  5. นำเสนอและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Present and Continuously Improve) – จัดทำรายงานหรือการนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เช่น แผนภูมิหรือสไลด์ เพื่อสื่อสารผลลัพธ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงรวบรวมข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการวิเคราะห์ในอนาคต

2. ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

ความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว SME ควรมองการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด การเพิ่มมิติด้านนวัตกรรมและการริเริ่มสิ่งใหม่จะช่วยสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขันให้มีความโดดเด่นในตลาดมากขึ้น

3. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)

ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว SME ต้องมีความยืดหยุ่นและความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่ ๆ ทักษะการปรับตัวช่วยให้ธุรกิจสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับปรุงกระบวนการและสร้างทีมงานที่พร้อมเผชิญกับความท้าทาย โดยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้และพัฒนา

4. ทักษะด้านภาษา (Language skills)

ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีนอย่างคล่องแคล่วเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในยุคของการเชื่อมต่อระดับโลก ทักษะด้านภาษาไม่เพียงช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มคุณภาพการบริการและการสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติ การลงทุนในการพัฒนาทักษะภาษาของบุคลากรจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าในปัจจุบันจะมี AI ด้านการแปลภาษามาเชื่อมช่องโหว่ในเรื่องของกำแพงภาษาได้แต่การ ทำแบบนี้จะเป็นการเพิ่ม Process การทำงานที่เยอะเกินไป

                                                                                                       ความสำเร็จมักเป็นของผู้ที่เตรียมพร้อมที่จะคว้าโอกาสไว้ได้อย่างรวดเร็วเสมอ

5. ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills)

การสื่อสารเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในทุกมิติของการทำธุรกิจ SME ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการพูด การฟัง การตั้งคำถาม และการเล่าเรื่อง ตลอดจนการใช้สื่อสร้างสรรค์ เช่น อินโฟกราฟิก หรือคอนเทนต์ดิจิทัล เพื่อถ่ายทอดวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะการสื่อสารที่ดีจะช่วยสร้างความเข้าใจร่วมกันในทีมงานและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า

6. ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership Skills)

ทักษะความเป็นผู้นำในยุคใหม่ต้องไม่ใช่เพียงการนำองค์กรเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้นำที่สามารถเป็นผู้ตามและผู้สนับสนุนในบางโอกาสได้ การพัฒนาผู้นำในองค์กรให้มีความสามารถในการวางกลยุทธ์ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ SME ได้ในระยะยาว

                                                                                                       ความสำเร็จในอนาคตขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวและการเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง

การพัฒนาทักษะเหล่านี้จะช่วยให้ SME ไทยสามารถรับมือกับความท้าทายของโลกธุรกิจในอนาคต และก้าวสู่การเติบโตอย่างมั่นคงในปี 2025 การเรียนรู้และปรับตัวอย่างต่อเนื่องเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน ขอขอบคุณ คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ที่ร่วมแบ่งปันมุมมองที่มีประโยชน์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ SME ที่จะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Pisit Poocharoen
Former field engineer seeking to break free from traditional learning frameworks. อดีตวิศวกรภาคสนามที่ต้องการหลุดออกจากกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ๆ