Wednesday, April 24Modern Manufacturing
×

Power-to-X หนทางใหม่สู่พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรม

Power-to-X หนทางใหม่สู่พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรม

ในปัจจุบันที่ตัวเลือกสำหรับพลังงานสะอาดมีมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ทำให้โลกของเราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้นทุกปี

อ้างอิงจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency – IEA) กว่า 29 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกมาจากพลังงานสะอาดเช่น ลม แสงอาทิตย์ และน้ำ ซึ่งถือเป็นผลดีต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผู้บริโภคทั่วโลก ทั้งในอุตสาหกรรมและในครัวเรือนทั่วไป

Power-to-X หนทางใหม่สู่พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรม

แต่บางอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นไม่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาทดแทนได้ เช่นในอุตสาหกรรมโลหะต่าง ๆ ที่ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติไม่สามารถถูกแทนที่ด้วยไฟฟ้าได้อย่างสมบูรณ์ เพราะคาร์บอนที่อยู่ในเชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวรีดิวซ์ (สารที่ลดออกซิเจนและทำปฏิกริยาออกซิเดชั่น – Reducing Agent) ในการถลุงโลหะ

และการนำแบตเตอรี่ประเภทใหม่ใหม่อย่างลิเธียม-ไอออนมาใช้ก็ยังมีปัญหาจากน้ำหนักที่มากของแบตเตอรี่เมื่อนำไปใส่ในรถที่ต้องขับเป็นระยะทางไกล หรือในเรือที่ทำให้พื้นที่ในการเก็บสินค้าหรือรับผู้โดยสารได้มีน้อยลง

สำหรับการใช้งานในเครื่องบินนั้น เครื่องบินขนาดจัมโบ้เจ็ทแบบทั่วไปที่บรรจุเชื้อเพลิงธรรมดาแบบเต็มถังจะมีน้ำหนักประมาน 160 ตัน ซึ่งหากจะเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนที่สามารถให้พลังงานได้เท่ากันแล้ว แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนนั้นจะมีน้ำหนักเกินกว่า 10,000 ตันเลยทีเดียว เกินน้ำหนักสูงสุดในการ Takeoff ของเครื่องบินจัมโบ้เจ็ทไปกว่า 30 เท่า

Power-to-X หนทางใหม่สู่พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรม
ที่มาภาพ : Ashes Sitoula on Unsplash

Power-to-X เทคโนโลยีที่เปิดความเป็นไปได้ให้ทุกอุตสาหกรรม

เทคโนโลยี Power-to-X (PtX) หรือวิธีการแปรรูปพลังงานไฟฟ้าให้กลายเป็นพลังงานประเภทอื่น ๆ ได้เปิดโอกาสใหม่ให้หลาย ๆ อุตสาหกรรมสามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ด้วยการผลิตเชื้อเพลิงต่าง ๆ เช่น ไฮโดรเจน แอมโมเนีย เมทานอลและเชื้อเพลิงสำหรับการบิน ด้วยกระแสไฟฟ้า

เชื้อเพลิงสะอาดที่ถูกผลิตขึ้นผ่านวิธีการนี้สามารถนำมาใช้ในลักษณะเดียวกับเชื้อเพลิงจากฟอสซิลต่างๆ ได้ และตั้งแต่ปี 2026 ไปก็จะเริ่มมีการบังคับให้สายการบินเพิ่ม “น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน” (SAF) ในการใช้งานเข้าไป 0.5 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งนอกจากนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว กรีนไฮโดรเจนยังสามารถนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมแบบอื่นได้ เช่น ในอุตสาหกรรมเหล็ก กรีนไฮโดรเจนสามารถนำมาแทนที่คาร์บอนในการทำหน้าที่เป็นตัวรีดิวซ์ได้ นอกจากนี้ยังเปิดศักยภาพใหม่ในการปรับปรุงการขนส่งทางไกล เนื่องจากอัตราส่วนของปริมาณพลังงานต่อน้ำหนักของกรีนไฮโดรเจน ที่เบากว่าแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้

ปัจจุบันตัวเลือกในด้านพลังงานสะอาดที่มีมากขึ้นก็ได้เปิดโอกาสให้ทุกอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวเพื่อช่วยกันลดก๊าซที่ปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศในแต่ละปีลงได้เรื่อย ๆ ถือเป็นอีกในหนึ่งในหนทางสู่โลกที่ใช้พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มรูปแบบไปอีกก้าวครับ

Jirapat R.
A Content Creator with multiple interests and a fitness enthusiastic.
READ MORE
×