Friday, April 19Modern Manufacturing
×

ก.อุตฯ เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำเสีย 15 ลำน้ำ

ก.อุตสาหกรรม เดินหน้า “โครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำ” ป้องกันและแก้ปัญหาน้ำเสีย ดึงโรงงานใหญ่ร่วมขับเคลื่อน 15 ลำน้ำ ในปี 64

ก.อุตฯ เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำเสีย 15 ลำน้ำ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมนำเสนอโครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ต่อศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.พระราชทาน) ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงฯ ดำเนินการขยายผลการพัฒนาลุ่มน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

ก.อุตฯ เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำเสีย 15 ลำน้ำ

โดยในปี พ.ศ. 2564 กระทรวงฯ จะขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาเกี่ยวกับการพัฒนาลุ่มน้ำในพื้นที่ 17 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุม 5 คลองและ 10 แม่น้ำสายหลัก แต่ละโครงการเน้นการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำเสียของพื้นที่ รวมทั้งปรับภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ โดยจะประสานขอความร่วมมืออุตสาหกรรมรายใหญ่ช่วยเป็นแกนหลัก เช่น เอสซีจี ปตท.จีซี เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น 

พร้อมทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้นำชุมชนและประชาชนจิตอาสา ส่วนราชการระดับจังหวัดและท้องถิ่น คาดว่าตลอดทั้งปีจะมีจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมฯ มากกว่า 5,000 คน และเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงฯ ยังส่งเครื่องพ่นหมอกไอน้ำ จำนวน 15 ชุด พร้อมเครื่องกำจัดมลพิษทางอากาศ PM 2.5 และ PM 10 รวม 2 เครื่อง ไปช่วยแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กในจังหวัดเชียงรายอีกด้วย 

และขณะนี้ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน “BCG Model” นำร่องในจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีแผนที่จะต่อยอดการจัดการขยะอินทรีย์ที่เน่าเสียและย่อยสลายได้ เช่น จากถังดักไขมันที่กระทรวงฯ แจกจ่ายให้กับประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบลำน้ำ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เป็นปุ๋ยหมักชีวภาพและน้ำมันดิบ เป็นต้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสากระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า โครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำฯ ปีนี้จะขยายพื้นที่จากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นดำเนินการในจังหวัดต่าง ๆ โดยกระทรวงฯ ได้จัดทำแผนตรวจคุณภาพน้ำอย่างเข้มข้น โดยให้เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังโรงงานตามแผนฯ เพื่อไม่ให้โรงงานระบายน้ำเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และเพิ่มจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำจาก 5 ตัวอย่าง เป็นกว่า 10 – 100 ตัวอย่าง รวมทั้งแก้ไขปัญหาของพื้นที่เชิงลึก ตัวอย่างที่น่าสนใจ (Highlight) เช่น 

1. การพัฒนานวัตกรรม กังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ตาข่ายดักขยะ ในคลองแสนแสบกรุงเทพฯ การติดตั้งทุ่นดักขยะลอยน้ำและเครื่องบำบัดน้ำเสียชุมชนในคลองเปรมประชากร การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียแก่โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น 

2. การสร้างระบบบริหารจัดการ เช่น จัดจุดรวมน้ำมันใช้แล้วจากเรือประมงขนาดเล็กและประสานโรงงานมารับซื้อในลุ่มน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ การปลูกต้นไม้และเสริมแนวคันกั้นน้ำให้รองรับมวลน้ำที่มากขึ้น ในแม่น้ำชี จ.ร้อยเอ็ด การตั้งจุดทิ้งขยะพลาสติกในสถานที่ราชการและโรงงานขนาดเล็ก เพื่อเข้าสู่การรีไซเคิล รวมทั้งการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Upcycling) เช่น เสื้อ จีวรพระ ฯลฯ ใน จ.สมุทรปราการ 

3. การพัฒนาองค์ความรู้ สอดแทรกในกิจกรรมแข่งขันพายเรือ/ว่ายน้ำ ในทะเลสาบสงขลา การอบรมเครือข่ายพัฒนาลุ่มน้ำต่างๆ การจัดการผักตบชวาแบบยั่งยืนในแม่น้ำกวง จ.ลำพูน 

และ 4. การปรับปรุงภูมิทัศน์ เก็บขยะ กำจัดวัชพืช ซึ่งแทรกอยู่ในกิจกรรมของการพัฒนา เพื่อให้โรงงานและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน ตลอดจนได้เชื่อมโยงการจัดกิจกรรมจิตอาสากับประชาชนจิตอาสาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัดของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco town) ของกระทรวงฯ ได้อีกด้วย” นางวรวรรณ กล่าว 

โครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำของกระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนดำเนินการในพื้นที่ 15 คลอง/ลุ่มน้ำ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร สมุทรปราการ คลองขุดเจ้าเมือง สมุทรสาคร คลองสี่วาพาสวัสดิ์ ลำพูน แม่น้ำกวง นครสวรรค์ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา อยุธยา แม่น้ำป่าสัก ปทุมธานี แม่น้ำเจ้าพระยา ฉะเชิงเทรา แม่น้ำบางปะกง ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำปราณบุรี ขอนแก่น แม่น้ำพอง ร้อยเอ็ด แม่น้ำชี นครราชสีมา และบุรีรัมย์ แม่น้ำมูล สุราษฎร์ธานี ลุ่มน้ำตาปี และ สงขลา 5 คลองสาขาของลุ่มทะเลสาบสงขลา  

Nichaphan W.
Marketing
READ MORE
×