iscar
Logistics Automation Expo 2025
กองทุนพัฒนา SME อนุมัติสินเชื่อกว่า 2.2 พันล้าน ปั้นโครงการพัฒนาฯ สร้างเม็ดเงินมหาศาล ต่อยอดดันธุรกิจโต

กองทุนพัฒนา SME อนุมัติสินเชื่อกว่า 2.2 พันล้าน ปั้นโครงการพัฒนาฯ สร้างเม็ดเงินมหาศาล ต่อยอดดันธุรกิจโต

Date Post
30.05.2025
Post Views

กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โชว์ผลงานเด็ด ดันยอดอนุมัติสินเชื่อกว่า 2.2 พันล้านบาท ตอบสนองความต้องการเงินทุนของ SME ทุกมิติ ควบคู่กับโครงการพัฒนาศักยภาพที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 350 ล้านบาท พร้อมเปิดรับ SME เข้าร่วมโครงการส่งเสริมพัฒนาอย่างครบวงจร 4 ด้าน ด้วยงบ 20 ล้านบาท มุ่งเป็นกลไกหลักช่วย SME ไทยให้รอดและเติบโตในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลการดำเนินงานโครงการสินเชื่อและการส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ทั้งแรงกดดันทางการค้าโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ส่งผลให้ World Bank และ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2568 ลง

ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ SME ไทย ทั้งในด้านต้นทุนที่สูงขึ้น การแข่งขันที่รุนแรง รายได้ที่ลดลง การขาดสภาพคล่อง และปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ SME คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การช่วยเหลือและสนับสนุนให้ SME สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น โดยเฉพาะเงินทุน เทคโนโลยี และองค์ความรู้ เป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องดำเนินการเชิงรุก เพื่อป้องกันไม่ให้ภาคส่วนนี้ต้องหยุดชะงักหรือถดถอยอย่างถาวร

กองทุนพัฒนา SME จากกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขยืดหยุ่น ควบคู่การให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินธุรกิจ ผ่านกลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงานในแต่ละจังหวัดที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2567 กองทุนได้อนุมัติสินเชื่อรวมกว่า 26,800 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการจำนวนกว่า 18,000 ราย ก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 80,000 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2568 กองทุนได้เปิดตัว 2 โครงการสินเชื่อใหม่ วงเงินรวม 1,900 ล้านบาท คือ

  1. โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) วงเงิน 1,200 ล้านบาท
  2. โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงิน 700 ล้านบาท

โดยผู้ประกอบการให้ความสนใจและมีความต้องการด้านสินเชื่อจำนวนมาก กองทุนจึงได้ขยายกรอบวงเงินโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) เพิ่มเติมอีก 400 ล้านบาท โดยได้มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว จำนวนกว่า 2,200 ล้านบาท โดยคาดว่าสินเชื่อทั้งสองโครงการนี้จะช่วยต่อทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้ SME สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท และรักษาการจ้างงานไว้ได้มากกว่า 5,000 อัตรา ทั้งนี้จากความสำเร็จของโครงการและผลตอบรับที่ดี กองทุนจึงมีแผนเปิดตัวสินเชื่อใหม่เพิ่มเติม จำนวน 2 โครงการ ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยสินเชื่อโครงการแรกจะมีเงื่อนไขใกล้เคียงกับโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) ในปี 2568 สามารถกู้ได้ทั้งลูกค้าเดิมของกองทุนและลูกค้าใหม่ และอีกหนึ่งโครงการจะเป็นสินเชื่อเติมทุนหนุนธุรกิจ (Top Up) ซึ่งเป็นเงินทุนช่วยเหลือและสนับสนุนลูกหนี้สินเชื่อชั้นดี (บัญชีเกรด A) เพื่อนำไปใช้ในการลงทุน เพิ่มขีดความสามารถ นวัตกรรม ปรับปรุงเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ กรอบวงเงินกว่า 2,800 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างยื่นของบประมาณในปีงบประมาณ 2569

ทั้งนี้ ในครึ่งหลังของปี 2568 กองทุนยังคงเดินหน้าสานต่อความสำเร็จเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ SME ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมพร้อมออกมาตรการพลิกฟื้นธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้สินเชื่อของกองทุน ให้ได้รับการยกเว้นการชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 12 เดือน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเป็นการลดแนวโน้มการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

นอกเหนือจากมาตรการด้านสินเชื่อ ในปี 2568 กองทุนยังได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนา SME จำนวน 2 โครงการ งบ 10 ล้านบาท ได้แก่ โครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน และโครงการพัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัล ซึ่งมุ่งเน้นการช่วย SME ให้สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทางธุรกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 350 ล้านบาท

และกองทุนยังได้ทุ่มงบอีกกว่า 20 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนา SME จำนวน 4 โครงการ ได้แก่

  • โครงการเสริมแกร่งการเงิน เพิ่มทุนหนุนธุรกิจ (สุขใจ): เน้น Financial Literacy และการเข้าถึงแหล่งทุน
  • โครงการยกระดับธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (เปิดใจ): เน้น Digital และ BCG ในอุตสาหกรรมศักยภาพ
  • โครงการพัฒนาฮาลาลไทย รับรองได้ ขายส่งออกชัวร์ (มั่นใจ): เน้นมาตรฐานฮาลาลและการขยายตลาดส่งออก
  • โครงการพลิกชีวิต ฟื้นธุรกิจ ปรับหนี้ให้อยู่รอด (สู้สุดใจ): มุ่งช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนที่ประสบปัญหาหนี้สินให้ฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้

โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพธุรกิจจากสถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเปิดรับสมัครในช่วงเดือนมิถุนายน 2568
เป็นต้นไป โดยสามารถรองรับผู้สมัครเข้าร่วมได้กว่า 400 กิจการ หรือกว่า 1,000 ราย


ตัวอย่างผลสำเร็จของสถานประกอบการที่กองทุนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านเงินทุนและการส่งเสริมพัฒนา

บริษัท บัตเตอร์ฟลาย ออร์แกนิค จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค เช่น
นมโคแท้ออร์แกนิค โยเกิร์ตออร์แกนิค เครื่องดื่มน้ำนมจากพืช

o จุดเด่น :
– ได้รับรองมาตรฐานอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของสหรัฐอเมริกา (USDA Organic : US Department of Agriculture) ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ได้รับมาตรฐานในอาเซียน
– ผลิตภัณฑ์เป็น Natural Product ยกตัวอย่าง โยเกิร์ตที่มีจุลทรีย์มีชีวิตมากกว่าโยเกิร์ตตามท้องตลาด และไม่ใส่สารควบแน่น
– ได้รับมาตรฐานฮาลาล, GHPs, HACCP

o โครงการสินเชื่อหรือโครงการส่งเสริมและพัฒนา :
– ปี 2568 ได้รับสินเชื่อโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องภายในกิจการ
– เข้าร่วมโครงการพัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (Digital Transformation) โดยได้รับการยกระดับการบริหารจัดการและแผนการลงทุนสำหรับการขยายโรงงานเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติและระบบคลังสินค้าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลภายในองค์กร

o ผลสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการ :
– เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยเป็นการลดระยะเวลาในการผลิตสินค้าในโรงงาน

o การต่อยอดพัฒนาธุรกิจในอนาคต :
– มีแผนระยะยาวในการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Health Land) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ตลาดในระดับโลก รวมทั้งมีแผนการขยายลูกค้าใหม่ เช่น การบินไทย ธุรกิจแม่และเด็ก เป็นต้น


บริษัท เค การ์เด้นท์ แอนด์ เฟนซ์ จำกัด จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น รั้วสำเร็จรูปมาตรฐานยุโรป ฝาตะแกรงท้อ เหล็กเส้น
o จุดเด่น :
– เป็นผู้ผลิตลวดเหล็กชุบสังกะสีอลูมิเนียมอัลลอยรายแรกในประเทศไทย ด้วยกรรมวิธีแบบจุ่มร้อน (Hot-dip Galvanization)
– ประกอบธุรกิจและจำน่ายสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ รั้วตาข่าย รั้วสำเร็จรูปมาตรฐานยุโรป ฝาตะแกรงท่อ เหล็กเส้น และกรงตับไก่ ภายใต้แบรนด์ Euro Fence
– ปัจจุบันธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตและมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยได้มีการขยายตลาดและเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ เสาเข็มเหล็ก พัดลมระบายอากาศ พัดลมอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยในการประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า มีความทนทานสูง สามารถต่อตรงกับระบบโซล่าเซลล์ได้
– ได้รับมาตรฐาน มอก. 934-2558
– กลุ่มลูกค้า ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม และฟาร์มเลี้ยงสัตว์

o โครงการสินเชื่อหรือโครงการส่งเสริมและพัฒนา :
– ปี 2563 ได้รับสินเชื่อโครงการสินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน (ปิดบัญชีแล้ว) โดยได้รับการช่วยเหลือจากกองทุน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นการลงทุนซื้อเครื่องจักร ในวงเงิน 2.80 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
– ในปี 2568 ได้รับสินเชื่อโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ (เสือติดปีก) วงเงิน 10 ล้านบาท เพื่อสมทบการซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม

o ผลสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการ
– ช่วยให้เกิดการขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าใหม่และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ประกอบกับธุรกิจเริ่มมีการตอบรับที่ดีและยอดขายมีแนวโน้มเติบโตขึ้นกิจการ

o การต่อยอดพัฒนาธุรกิจในอนาคต :
– นำสินเชื่อที่ได้ไปต่อยอดธุรกิจในการผลิตมอเตอร์พัดลมอุตสาหกรรม ที่ประหยัดพลังงาน มากกว่าร้อยละ 30 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ของโลก


“ผมเชื่อว่าโครงการสินเชื่อและโครงการส่งเสริมและพัฒนา SME ของกองทุน จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับ SME ไทยให้ปรับตัวและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับความท้าทายในสภาวะเศรษฐกิจยุคใหม่ และมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนควบคู่ชุนชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และสมัครเข้าร่วมโครงการ:
https://i.industry.go.th 
หรือ
ศึกษารายละเอียดได้ที่ 
www.thaismefund.com 
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
สำนักงานกองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด หรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ทั่วประเทศ

ที่มาข่าว:
กระทรวงอุตสาหกรรม

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Theca25