Thursday, April 25Modern Manufacturing
×

ธุรกิจจะเติบโตเป็นไม้ใหญ่หรือจะปล่อยไว้เป็นหญ้าแห้งคุณเลือกได้ด้วย Sustainable Development

ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่และวิกฤตทางการเมืองภายในประเทศ ตลอดจนปัญหาซัพพลายเชนที่กำลังขาดแคลน การมองภาพการเติบโตของธุรกิจอาจกลายเป็นเรื่องยากสำหรับทุกองค์กร ทางรอดหนึ่งของธุรกิจอาจกลายเป็นการวางแผนด้านการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร หรือ (Sustainable Development) ที่กลายมาเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจของหลายองค์กรในการสร้างความเป็นไปให้กับธุรกิจการผลิตในการการเติบโตได้ในระยะยาว

ธุรกิจจะเติบโตเป็นไม้ใหญ่หรือจะปล่อยไว้เป็นหญ้าแห้งคุณเลือกได้ด้วย Sustainable Development

ท่ามกลางวิกฤติต่างๆ ที่รุมเร้าเซ้าซี้กันอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ซัพพลายเชนขัดสน โจรผู้ร้ายออกปล้นกันมากขึ้น หรือการที่บ้านเรายังไม่มีขุนคลังมาช่วยบริหาร ไปจนถึงการขาดแคลนแรงงานในการทำงานไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนทักษะหรือสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกท้อถอย เหนื่อยหัวใจ แม้บางคนอยากจะถอนตัวก็มักจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า 

ธุรกิจจะเติบโตเป็นไม้ใหญ่หรือจะปล่อยไว้เป็นหญ้าแห้งคุณเลือกได้ด้วย Sustainable Development

“แล้วจะเอาอะไรกิน?” 

“ลูกน้องจะอยู่กันอย่างไร?” 

“ลงทุนมายังไม่คุ้มเลย ไปต่อก็เจ็บ ตัดจบก็ตายทำอะไรกันได้ล่ะทีนี้?”

แต่อย่าลืมนะครับว่าท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ และที่แน่นอนที่สุดวันนี้คุณยังคงมีลมหายใจอยู่ นั่นหมายความว่าคุณยังสามารถพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสได้ตลอดเวลา ปัญหาที่พบเจอให้บริหารจัดการเพื่อเป็นทางผ่านไปสู่โอกาสใหม่ในอนาคต

อย่าเพิ่งหมดหวัง มาเริ่มต้นแก้ไขปัญหากันด้วยการวางแผนสำหรับธุรกิจในระยะยาวด้วย Sustainable Development แล้วคุณจะเข้าใจธุรกิจและมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างชัดเจน

เริ่มต้นทำความรู้จัก Sustainable Development จากปากผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อคุยกันถึงความยั่งยืนไม่แปลกใจที่หลายคนอาจคิดว่าคำนี้มันเพียงแค่เป็นเทรนด์ เป็นความสวยหรูที่ธุรกิจในระดับ SME เข้าไม่ถึง แต่แท้ที่จริงแล้ว การพัฒนาที่มีหัวใจหลักบนความยั่งยืน หรือ Sustainable Development (SD) นี่แหละจะกลายมาเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว และทำให้ SME มองเห็นความแตกต่างได้โดยใช้เวลาไม่นานเลยทีเดียว แต่การยั่งยืนที่ว่านั้นจะเป็นอย่างไรและใช่สิ่งที่คุณคิดกันไว้ไหม เรามาลองดูกันครับว่าผู้เชี่ยวชาญเขาว่ากันไว้อย่างไร

Modern Manufacturing ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร. ธารทิพย์ พันธ์เมธาฤทธิ์ หรือ ดร. แอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม จากบริษัท เก็ท โซลูชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้บริการคำปรึกษาด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับบริษัทชั้นนำและโรงงานอุตสาหกรรม โดยดร.แอน ได้ให้คำจำกัดความสำหรับ SD ไว้ดังนี้

3 Licenses to sustain

‘การวางแผนกลยุทธ์ของธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มั่นคง บนพื้นฐานที่ผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholders ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสม’

ซึ่งการทำ SD นั้นประโยชน์หลักที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ คือ ความเข้าใจในตัวเอง สามารถวางตัวชี้วัดของธุรกิจ หรือ KPI ให้กับพนักงานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเสาหลักของการทำ SD นั้นเกี่ยวข้องกับ 3 ปัจจัย ได้แก่

ส่วนประกอบของความยั่งยืน

  1. Economics มิติเศรษฐกิจ เช่น กำไร การประหยัดต้นทุน การเติบโตทางเศรษฐกิจ
  2. Social มิติสังคม เช่น มาตรฐานชีวิต การศึกษา ความเท่าเทียม
  3. Environmental มิติสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การบริหารจัดการทรัพยากร การป้องกันการเกิดมลพิษ

“การเติบโตของธุรกิจนั้นจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” 

มิติเศรษฐกิจเป็นตัวผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กร เป็นตัวชี้วัดศักยภาพในการประกอบกิจการที่ชัดเจน แต่จะมองเพียงแค่ผลประกอบการที่เป็นตัวเลขทางการเงินอย่างเดียวคงไม่อาจอยู่ทำให้ธุกิจอยู่รอดหรือเติบโตได้ในระยะยาว เพราะการได้รับการยอมรับจากมิติสังคมที่ประกอบด้วยชุมชนและสังคมนั้นจะกลายเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าธุรกิจโตไปได้ในระยะยาวหรือไม่

สาเหตุที่มิติสังคมไม่ยอมรับได้นั้นจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ นั่นหมายความว่ามิติสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มิติสังคมใช้ประกอบในการตัดสินใจว่าจะยอมรับธุรกิจของเราหรือไม่ด้วย การประกอบกิจการในยุคสมัยที่ข่าวลือไปไวกว่าข่าวจริง ยิ่งเรื่องการกระทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะปล่อยน้ำเสียโดยไม่บำบัด การลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอัตรายในพื้นที่สาธารณะโดยไม่มีการจัดการ กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งและดังได้เพียงข้ามคืน ภาพการกระทำดีที่มีต้องชุมชนและสังคมอาจหายไปได้ในพริบตาเลยทีเดียว 

ดังนั้นหากการประกอบกิจการขาดการบริหารจัดการมิติใดมิติหนึ่งไปแล้วยอมไม่เกิดการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างเช่น หากการตั้งโรงงานในพื้นนั้นมีการผลิตไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดการปนเปื้อนของสารพิษเข้าสู่สิ่งแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ของชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานขึ้น คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนย่อมเกิดการรวมตัวกันผลักดันให้โรงงานเจ้าปัญหานั้นปิดกิจการและขับไล่ออกจากพื้นที่โดยอาศัยกลไกของกฎหมาย และกฎของสังคมก็เคยเกิดขึ้นมากันแล้วหลายกรณี เมื่อการประกอบกิจการนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชมแวดล้อมก็ไม่อาจยืนหยัดทำธุรกิจต่อไปได้ หรือหากมีเงินทุนที่พร้อม ไร้ปัญหากับชุมชนแต่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถอนุมัติใบอนุญาตให้ได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ Stakeholders หรือผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด (รวมถึงพนักงานและชุมชน) ต้องเห็นชอบในการทำธุรกิจร่วมกัน License to Operate หรือความสามารถในการทำธุรกิจจึงเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคง

3 License แห่งความยั่งยืนของธุรกิจ

เมื่อมีองค์ประกอบทั้ง 3 ครบจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจให้มีความยั่งยืน License to Operate ที่เกิดจากความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น แต่ License to Operate เป็นเพียงบันไดขั้นแรกของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเท่านั้น

เมื่อธุรกิจเกิดการดำเนินการขึ้นก็จะมาพร้อมกับกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการแก้ไขปัญหารายวันที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าธุรกิจสามารถประคองตัวและเดินหน้าไปได้เมื่อมี License to Operate แต่ในแง่ของการเติบโตนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเติบโตของธุรกิจ หรือ License to Growth ขึ้น ธุรกิจจำเป็นต้องมีประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้น 

เพื่อให้เกิด License to Growth ขึ้น การหันกลับมามอง Stakeholders ในองค์กรหรือพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ การใช้กลยุทธสร้างความเป็นเลิศต่างๆ สามารถเข้าสนับสนุนในจุดนี้ได้ เช่น Production Excellence เพื่อลดต้นทุน  People Excellence เพื่อทำให้คนในองค์กรดีขึ้น เมื่อคนในองค์กรเก่งขึ้นจนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ขององค์กรออกไปสู่คนในชุมชนในสังคมได้ อันจะนำมาสู่การการสร้างกำลังคนให้เข้ามาทำงานให้กับบริษัทต่อไปในอนาคต ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การเกิดประชากรแฝงในพื้นที่ การย้ายถิ่นฐาน การเลือกจ้างคนในพื้นที่ก่อนนั้นย่อมถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด 

ทั้งนี้ทั้งนั้นทิศทางเหล่านี้ขึ้นกับกลยุทธ์องค์กร ขึ้นกับธุรกิจ ธุรกิจต้องพิจารณาให้ดีว่าองค์กรจะเติบโตไปด้วยกลยุทธแบบไหน ส่วนไหนเป็น Business Model ส่วนไหนเป็น Feasibility Study ที่จะเสริมประสิทธิภาพขององค์กร คือ การทำองค์กรให้ Lean ให้เกิด 7 Waste ให้เป็น Kaizen ทำองค์กรให้มีความโดดเด่นตามกลยุทธสร้างความเป็นเลิศต่างๆ

เมื่อเกิดความโดดเด่นขึ้นในธุรกิจแล้ว เราก็จะกลายเป็นบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน เกิด License to Sustainability ขึ้น หมายความว่าถ้าคิดถึงในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง จะต้องนึกถึงองค์กรของเราขึ้นมาในทันที ยกตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จในประเด็นนี้เป็นอย่างดี คือ Apple ที่หลายคนอาจจะนึกถึง iPhone เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ทำไม? Smartphone แบรนด์อื่น ๆ เรียก Smartphone ไม่ว่าจะแบรนด์ญี่ปุ่น เกาหลี จีน แต่พอเป็น Smartphone ของ Apple กลับเรียก iPhone นี่คือหนึ่งในตัวอย่างภาพจำที่เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น

License to Sustainability นั้นสามารถทำได้หลายด้าน เป็นการลงทุนที่ต้องได้กำไร เมื่อมีความเป็นเลิศอันโดดเด่นบนพื้นฐานที่สังคมและสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ได้ การเติบโตของธุรกิจก็จะเกิดขึ้นอย่างมั่นคงยืนยาว 

การทำ Sustainability ต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็น Risk, Impact, Opportunity ว่าเป็นตัวเลือกใด ต้องมีความเข้าใจว่าโลกใบนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น และในการทำการผลิต 1 อย่าง, 1 กระบวนการ, 1 Value, 1 Supply Chain สร้าง Impact อะไรบ้าง มันเป็น ผลลบ ไม่เกิดผลกระทบ หรือ มันคือความเสี่ยง มันจะมีหมดทั้ง 3 อย่างก็ได้ เป็นมิติที่ขนานกันไป วิธีที่ดีที่สุด คือ การทำ Workshop อย่าลืมว่าหากเกิด Impact ซ้ำ ๆ กันใน Production สิ่งนั้นจะกลายเป็นประเด็นที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ ต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วตอบสนองต่อสถานการณ์ 

ทำ SD แล้วธุรกิจได้อะไร?

การทำ Sustainable Development นั้นจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือในการวัดประเมินผลที่ชัดเจน เหมาะสม มีวิธีที่ชัดเจน ข้อมูลที่ได้ต้องเป็นเชิงปริมาณผสมผสานไปกับข้อมูลเชิงคุณภาพ ทำให้การเติบโตที่เกิดขึ้นสามารถจับต้องได้ ตลอดจนเม็ดเงินที่สะท้อนให้เห็นภาพการเติบโตขององค์กร

อาจยังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ยังคงคิดว่าการลงทุนทำ SD เป็นการเสียเงินเปล่า ต้องบอกว่าโลกยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนไปอย่างมากภายหลังวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น Hamburger Crisis หรือต้มยำกุ้ง สิ่งเหล่านี้มันเกิดจากการที่ภาคเศรษฐกิจไม่ได้มีการควบคุมที่ดี องค์กรที่ไม่ได้คำนึงถึง Corporate Governance (CG) ก็จะเกิดสภาวะเหล่านี้ขึ้น 

‘ในทางกลับกันองค์กรที่ลงมือทำในประเด็นเหล่านี้มีโอกาสเติบโตที่สูงกว่า

ปัจจุบันบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กรผ่านรายงานด้านความยั่งยืนมากกว่าบริษัทมหาชนที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ นั้นหมายความว่านักลงทุนที่มองหาบริษัทที่มีความยั่งยืนในองค์กรจะเลือกที่จะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมากขึ้นนั่นเอง

เมื่อองค์กรลงมือทำ SD แล้วผลลัพธ์ที่เรียกว่าความยั่งยืนนั้นจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมันและเชื่อถือให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความสามารถในการผลิตที่มีความเป็นเลิศจะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และในท้ายที่สุดกลายเป็นความโดดเด่นที่ทำให้ผู้คนจดจำ จะทำให้เห็นถึงความแข็งแรงขององค์กรทั้งภายใน กระบวนการทำงาน ตลอดจนทั้งหมดของห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจขององค์กร

การทำ SD ที่มีประสิทธิภาพต้องมองให้ไกลถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวการเจริญเติบโตทางธุรกิจ การหาพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการหาผู้ลงทุนเป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อย หากมีการทำ SD ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพการหาเงินทุนเพื่อการขยับขยายก็ไม่ใช่เรื่องยาก หนึ่งในวิธีหาเงินทุนที่ SD สามารถทำได้ คือ การนำองค์กรเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แต่ละที่จะมีมาตรฐานความต้องการที่แตกต่างกันออกไป มาตรฐานเหล่านี้ต้องถูกกำกับด้วย Manager Step Balance เพื่อวัดผลจาก Performance Base หรือ Process Base เพื่อวัดความยั่งยืนขององค์กร ยกตัวอย่างตลาดหุ้นไทยมีการประเมินบริษัทมหาชนเพื่อจัดเข้าสู่การเป็นหุ้นที่ยั่งยืนด้วยการวัดผลการดำเนินการของบริษัทในมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม บริษัทที่ผ่านการประเมินได้นั้นจำเป็นต้องมีคะแนนประเมินในแต่ละด้านอย่างน้อย 50% ในทุกด้าน  

จะเห็นได้ว่าการทำ SD นั้นสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ตลอดจนสร้างผลกำไร ตลอดจนการขยับขยายได้เป็นอย่างดี องค์กรจึงสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงหากดำเนินนโยบายบนพื้นฐานของ SD อย่างต่อเนื่อง แม้แนวคิดด้าน SD จะดูเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเชิงลึกยิบย่อยจำนวนมาก และดูเหมือนองค์กรใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถใช้งานได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว SD สามารถปรับใช้ได้กับองค์กรทุกขนาดไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะขนาดธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง

SME กับ SD จุดเริ่มต้นของการเติบโต

การวางแผนและการใช้งาน SD นั้น SME ก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน และในระยะยาวนั้นอาจได้ผลลัพธ์ที่ราบลื่นมากกว่าการใช้งานขององค์กรใหญ่ที่หันมาปรับใช้ในภายหลังเสียอีก เนื่องจากการใช้งานในองค์กรที่ไม่ได้วางรากฐาน SD มาตั้งแต่แรกนั้นอาจเกิดการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ตั้งแต่พื้นฐาน แนวคิด และวิธีการทำงานในขณะที่ SME หรือ Startup ที่มีขนาดเล็กและมีจุดเด่นที่ความคล่องตัวสามารถปรับเปลี่ยนได้ดียิ่งกว่า

ในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี 4.0 เช่นนี้ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยอาจนึกถึงความยั่งยืนผ่านการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งก็ไม่ผิด เทคโนโลยีสามารถอำนวยความสะดวกและสร้างความโปร่งใสในการทำงานได้เป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกัน ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีจำนวนไม่น้อยก็มีราคาค่างวดในการใช้งานในระดับสูงเช่นกัน ดังนั้นการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทำงานอาจต้องพิจารณาเป็นเรื่องรองลงมา แต่ต้องพิจารณารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของค์กรเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีการผลิตวัตถุดิบสำหรับอาหารอย่างเส้นบะหมี่ หากต้องการควบคุมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีอาจต้องลงทุนกับเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดค่าต่าง ๆ มากมายเพื่อให้เส้นบะหมี่มีผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด แต่ในทางกลับกันหากใช้แรงงานที่มีทักษะ มีความเชี่ยวชาญ สามารถรับรู้กลิ่น น้ำหนัก สัมผัสต่าง ๆ ก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเทคโนโลยีที่ใช้อาจเป็นการตรวจสอบซ้ำในมาตรฐานที่จำเป็นเท่านั้น อาทิ เครื่องชั่งน้ำหนัก เพื่อให้ได้น้ำหนักที่เหมาะสมตามที่แสดงอยู่บนบรรจุภัณฑ์เป็นต้น หรืออย่างในส่วนของการติดตามรถขนส่งก็สามารถติดตามเอาจากสัญญาณ Smartphone ที่ผู้ขับขี่ใช้งานแทนโดยอาจไม่ต้องติดตั้ง GPS ในรถขนส่งซึ่งอาจจะมีราคาที่สูงกว่ามากสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

ดังนั้นการทำ SD ที่มีประสิทธิภาพ คือ การดำเนินการที่มีความเข้าใจความต้องการของธุรกิจอย่างเหมาะสม เข้าใจทิศทางและเงื่อนไขที่มี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว โดยสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ลืมเป้าหมายหลัก การพัฒนาที่เกิดขึ้นจึงสามารถดำเนินการได้แม้มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกระทันหัน

บทความที่น่าสนใจ:
EEC Automation Park ส่งต่ออนาคตสู่ผู้ประกอบการและประเทศไทยในวันพรุ่งนี้

Thos
"Judge a man by his questions rather than his answers"
Voltaire
READ MORE
×