Wednesday, May 8Modern Manufacturing
×

อุตฯ วางโร้ดแมพ ‘สองหัวจักร สามประเด็น สี่ประสาน’ สถาบันไฟฟ้าฯ รับลูกดันไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

เทรนด์ 4.0 ซึ่งว่าด้วยความเป็นดิจิทัลกำลังถาโถมเข้ามาในฐานะคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง กลายเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนรวมไปถึงอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ว่าจะตั้งรับ หรือปรับตัวกันอย่างไร โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเจอความเปลี่ยนแปลงทั้งความต้องการของผู้บริโภค กระบวนการผลิตและวิธีบริหารจัดการ ซึ่งฉบับนี้เราจะพามาหาคำตอบผ่านมุมมองของผู้เกี่ยวข้องซึ่งนำเสนอในงานสัมมนาประจำปี 2560 ที่จัดโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

อุตฯ วางโร้ดแมพ ‘สองหัวจักร สามประเด็น สี่ประสาน’ สถาบันไฟฟ้าฯ รับลูกดันไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

อุตฯ วางโร้ดแมพ ‘สองหัวจักร สามประเด็น สี่ประสาน’ สถาบันไฟฟ้าฯ รับลูกดันไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

สถาบันไฟฟ้าฯ จัดสัมมนาไทยแลนด์ 4.0

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI) จัดงานสัมมนาประจำปี 2560 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ ‘ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0’ โดยหวังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อัพเดท และวิเคราะห์ทิศทางเชิงกลยุทธ์ของสถาบันไฟฟ้าฯ

นอกจากนี้ ยังถือเป็นเวทีในการจัดแสดงเทคโนโลยีต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม และการออกแบบเพื่ออนาคต รวมถึงการใช้ Internet of Things และเทรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า ซิตี้คาร์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ดินสอมินิรุ่นดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์ตรวจจับการล้มของผู้สูงอายุ เครื่องตรวจจับการหลับใน เป็นต้น

คุณสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมว่า ในปี 2559 ภาพรวมผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว โดยด้านไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 13% ส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 2% ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ขายดี คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่ทันสมัยและเป็นนวัตกรรมมากขึ้น ทว่าการส่งออกกลับหดตัว เพราะตลาดญี่ปุ่นหดตัว 12% และจีนหดตัว 7%

“ส่วนแนวโน้มภาคการผลิตในปี 2560 นั้น คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2% ส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 5% และในภาคการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นั้น คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% แบ่งเป็นสินค้าไฟฟ้ามูลค่า 23,318 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อีก 31,602 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เนื่องจากมีการผลิตสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาด รวมถึงสถานการณ์ตลาดของประเทศคู่ค้า ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีการฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น” คุณสมบูรณ์วิเคราะห์เพิ่มเติม

ขณะที่ทางด้านคุณพสุ โลหารชุน ประธานกรรมการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมไทยว่า ทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไฟฟ้าเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจไทย ทว่าช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมานี้ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงนโยบายการลงทุนของต่างชาติที่ไม่นิ่งนัก ทำให้
อัตราการส่งออกลดลงอย่างเห็นได้ชัด

“หลายปัจจัยที่กล่าวมา ทำให้ประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางโดยรัฐบาลต้องการพาประเทศหลุดจากกับดักนี้ จึงดำเนินนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่จะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี จะเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม สู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเปลี่ยนจาก SMEs สู่ Startup

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีส่วนสำคัญและตระหนักในภารกิจของสถาบันในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการจากสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษา” คุณพสุ กล่าว

‘ไทยแลนด์ 4.0’ พาไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ที่น่าสนใจ คือ ปาฐกถาในหัวข้อ ‘อนาคตอุตสาหกรรมไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0’ โดย คุณพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะตัวแทนจากภาครัฐ

คุณพรชัยเริ่มต้นด้วยการเกริ่นถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศว่า นอกจากการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางแล้ว ยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมต่ำลง โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาคือ การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่ยังน้อยเกินไป ศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยังไม่เอื้อนัก รวมถึงผลิตภาพการผลิตที่ยังไม่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

“การเติบโตของ GDP ภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ย 3% ต่อปี มูลค่าการส่งออกขยายตัวเฉลี่ย 5.4% ส่วนประสิทธิภาพการผลิตขยายตัวเพียง 0.7% เมื่อวิเคราะห์การเติบโตดังกล่าว จะพบว่า ไม่เพียงพอต่อการนำพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่กลุ่มประเทศรายได้สูงได้ ภายในปี 2579” คุณพรชัย วิเคราะห์

นั่นจึงเป็นที่มาของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในนาม ‘ไทยแลนด์ 4.0’ เปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล

“เราต้องเชื่อมโยงดิจิทัลเข้ากับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทย ต้องเก็บเกี่ยวโอกาสที่จะเกิดขึ้น

ปฏิรูปประเทศด้วยการร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้โมเดลประเทศไทย 4.0 ก้าวไปสู่ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”

คุณพรชัยกล่าวถึงหัวใจของไทยแลนด์ 4.0

สองหัวจักร สามประเด็น สี่ประสาน

เชื่อมโยงดิจิทัลเข้ากับการผลิตคุณพรชัย กล่าวต่อไปอย่างน่าสนใจว่า กระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการเห็นอุตสาหกรรม 4.0 เกิดขึ้นจริง ภายใต้โร้ดแมพ ‘สองหัวจักร สามประเด็น สี่ประสาน’

‘สองหัวจักร’ ที่เกิดจากหลักคิดว่า อุตสาหกรรมเดิมที่เคยแข็งแกร่งกลายเป็นอุตสาหกรรมเก่าและเริ่มอิ่มตัว ไม่มีศักยภาพในการขยายตัว จึงต้องคิดต่อยอดและลงทุนเพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

หัวจักรที่ 1: อุตสาหกรรมเดิม 5 กลุ่ม (S-Curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร ให้ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ

หัวจักรที่ 2: อุตสาหกรรมสำหรับอนาคต 5 กลุ่ม (New S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์แบบครบวงจร เป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการเติบโตสูง แต่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้น รัฐต้องสนับสนุนเพราะยังมีผู้ประกอบการน้อยราย และยังไม่เข้มแข็ง

คุณพรชัย กล่าวต่อไปถึงประเด็นที่กระทรวงต้องการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เป็น ‘สามประเด็น’ ได้แก่

  1. เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในแง่สินค้าและผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) กระบวนการผลิต (Process Innovation) และวิธีการบริหารจัดการธุรกิจ (Business Innovation) โดยใช้แรงขับเคลื่อนจากภาคอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ ยกระดับการผลิตในโรงงานให้เป็นอัตโนมัติและฉลาดมากขึ้น
  2. ใช้ทรัพยากรบุคคลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ได้ผลิตภาพ (Productivity) สูงสุด
  3. สร้างเครือข่ายคลัสเตอร์บุคลากรระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างระบบนิเวศ การพัฒนาที่เหมาะสม รวมถึงดูดซับเทคโนโลยีที่บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน

เมื่อกำหนดหัวจักร และประเด็นที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องการขับเคลื่อนแล้ว คุณพรชัย กล่าวว่า ทั้งหมดจะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ก็ด้วยความร่วมมือแบบ ‘สี่ประสาน’ ได้แก่

  1. ประสานความร่วมมือ บ่มเพาะ และพัฒนาผู้ประกอบการให้สร้างเทคโนโลยีในรูปแบบ Startup
  2. สถาบันการศึกษาต้องผลิตบุคลากรและยกระดับฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยในยุค 4.0 จะมีความต้องการทักษะต่างๆ เช่น Electronics Design, Embbed System, PCB Design, Microelectronics Design, Internet of Things, Application Mechatronic เป็นต้น
  3. ส่งเสริมเครือข่ายสามเหลี่ยมทองคำด้านองค์ความรู้ในรูปแบบประชาคม วิจัยเพื่ออุตสาหกรรม พัฒนาไปสู่การจัดตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยร่วม โดยมีภาคเอกชนและภาคสถาบันการศึกษาเป็นตัวนำ นอกจากเพื่อสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์แล้ว ยังสามารถลดความเสี่ยงและต้นทุนค่าเสียโอกาส เป็นพื้นที่ทดสอบผลิตภัณฑ์ และเป็นแหล่งการจ้างงานด้วย
  4. จัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ภายในอุตสาหกรรมและข้ามสาขาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตแบบออโตเมชั่น การใช้หุ่นยนต์ และ BigDATA สู่ Smart Factory

อย่างไรก็ตาม คลื่น 4.0 ซึ่งเป็นคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงลูกนี้ จะเป็นอุปสรรคหรือโอกาส ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ที่ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงทิศทางและอนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงต้องทำหน้าที่ในบทบาทของตัวเองอย่างเต็มที่ ต้องตีโจทย์ให้แตก และต้องหาคำตอบที่ใช่ว่า เราจะลงทุนอย่างไร ภาครัฐจะสนับสนุนส่วนใด ภาคการศึกษาจะสร้างคนและองค์ความรู้ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานด้วยวิธีการใด จากข้อมูลดีๆ เหล่านี้ดูเหมือน ‘สองหัวจักร สามประเด็น สี่ประสาน’ จะเป็นโร้ดแมพที่ชัดเจนแล้วว่า คือคำตอบที่สามารถยกระดับเศรษฐกิจ และเป็นความหวังในการนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงที่มั่งคั่งอย่างมั่นคงได้อย่างแท้จริง…

EXECUTIVE SUMMARY

Electrical and Electronics Institute (EEI) arranged the annual seminar 2017 under the topic ‘Thailand’s Electrical and Electronics Industry Development Direction in Thailand 4.0 Era’. In addition, Mr. Somboon Hortrakul, Director of EEI had forecasted the trend in manufacturing sector 2017 that will be increased by 4% in overall as electrical industry shall be increased by 2% and electronics industry shall be increased by 5%, while exporting sector of electrical and electronics industry have been expecting to increase by 2% divided into electrical products worth US$23,318 million and electronics product worth US$31,602 million deriving from a great number of new products launched to the market as well as the better recovery trend in market circumstances of business partner countries as America and European Union (EU).

Mr. Pornchai Trakulwaranon, Assistant to Minister of Industry said about the roadmap of Ministry of Industry
that the key propeller is divided into 2 big groups as prior 5 industrial groups (S-Curve) and future 5 industrial groups (New S-Curve), while there are 3 main issues that Ministry of Industry wanted to drive them through the transit to Industry 4.0 Era for the following issues 1.) Technology and Innovation 2.) Consume personnel asset for the optimum beneficial and 3.) Create the network of personnel clusters between government, private and educational institute sectors, which all these determinations can be concretely accomplished with ‘4 integration collaboration’.

Modern Manufacturing on FacebookModern Manufacturing on Youtube
Modern Manufacturing
Web Admin
 
นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
READ MORE
×