Saturday, July 27Modern Manufacturing
×

ทำความรู้จักกับ Synchron สตาร์ทอัพที่สามารถชนะ Neuralink ของ Elon Musk ได้

ทำความรู้จักกับ Synchron สตาร์ทอัพที่สามารถชนะ Neuralink ของ Elon Musk ได้

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาในวงการแพทย์เกิดเรื่องที่ฮือฮาเป็นอย่างมาก เมื่อสตาร์ทอัพจากออสเตรเลียอย่าง Synchron สามารถฝังชิปช่วยผู้ป่วย ALS ได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดกะโหลก และในวันนี้เรามาทำความรู้จักกับสตาร์ทอัพที่สามารถชนะ Neuralink ของ Elon Musk ได้กันดีกว่าครับ

ทำความรู้จักกับ Synchron สตาร์ทอัพที่สามารถชนะ Neuralink ของ Elon Musk ได้

Synchron ถูกก่อตั้งโดย ดอกเตอร์โทมัส อ๊อคส์ลีย์ นักประสาทวิทยาของโรงพยาบาล Mount Sinai ในนิวยอร์ก เมื่อปี 2012 ที่ฮูสตัน, เท็กซัส ในตอนแรกบริษัทนั้นมีชื่อว่า SmartStent ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น Synchron ในปี 2016 โดยจุดประสงค์ของโทมัสนั้นมีความต้องการที่จะสร้างเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการทำงานประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์

ทำความรู้จักกับ Synchron สตาร์ทอัพที่สามารถชนะ Neuralink ของ Elon Musk ได้

ในช่วงแรกพวกเขาได้รับการระดมทุนเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานโครงการวิจัยขั้นสูงด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ (DARPA) กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา (DoD) และสภาวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์แห่งชาติของออสเตรเลีย รวมถึงแหล่งอื่น ๆ กลุ่มของโทมัสเป็นองค์กรเดียวที่ไม่ใช่ในสหรัฐฯ ได้รับเงินทุนจาก DARPA โดยเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม Trust Neural Interfaces Technology (RE-NET) 

จากนั้นพวกเขาก็เริ่มพัฒนาและออกแบบ อาร์เรย์อิเล็กโทรดภายในหลอดเลือด เทคโนโลยีส่วนต่อประสานประสาทที่บุกรุกส่วนของสมองให้น้อยที่สุด ที่เรียกว่า Stentrode โดยการฝังอุปกรณ์รากเทียมแบบบุกรุกน้อยที่สุดที่ออกแบบมาเพื่อแปลงคลื่นสัญญาณจากสมอง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงการรักษาพยาธิสภาพของสมอง เช่น อัมพาต โรคลมบ้าหมู และความผิดปกติของการเคลื่อนไหว

จากนั้นในปี 2018 โทมัสได้ประกาศใน TEDxSyndey Talk ว่าบริษัท Synchron จะเริ่มการทดลอง Stentrode โดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตให้ฟื้นความสามารถในการสื่อสาร และต่อมาในปี 2019 พวกเขาได้ฝังอุปกรณ์ไว้กับคนไข้รายแรกในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

ทำความรู้จักกับ Synchron สตาร์ทอัพที่สามารถชนะ Neuralink ของ Elon Musk ได้

ในเดือนกรกฏาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา Synchron ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้เริ่มการทดลองในมนุษย์กับผู้ป่วย 6 รายในสหรัฐฯ ที่เป็นอัมพาตขั้นรุนแรง ในปีเดียวกันนั้น Neuralink ได้ทดลองฝังชิปในสมองของลิง เพื่อดูพัฒนาการของสมองลิงด้วยการเล่นวิดีโอเกม และผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์เป็นอย่างมากเพราะว่าลิงสามารถเล่นเกมปิงปองได้โดยผ่านความคิด ชมคลิปได้ที่ : Monkey MindPong ถึงแม้ Neuralink จะประสบความสำเร็จในการทดลองกับสัตว์มากเพียงใด แต่ก็ถูกร้องเรียนในข้อกล่าวหาการปฏิบัติทารุณสัตว์ ทำให้ Neuralink ยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก FDA ในการทดลองกับมนุษย์ 

จากการที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก FDA เลยทำให้ในปัจจุบัน Synchron ชนะ Neuralink ไปก่อนหนึ่งก้าว เพราะว่า Synchron ได้ทำการฝังชิปอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตขั้นรุนแรง หรือ ALS ให้ผู้ป่วยรายแรกในอเมริกาสามารถส่งสัญญาณจากสมองผ่าน Bluetooth ได้อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : Synchron สตาร์ทอัพที่สามารถฝังชิปช่วยผู้ป่วย ALS โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดกระโหลก !!

ปัจจุบันสำหรับการแข่งขันของเรื่องเทคโนโลยีในการรักษาระหว่าง Synchron และ Neuralink ไม่ว่าจะเดือดแค่ไหน แต่การขับเคี่ยวครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันที่ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก ผมเชื่อว่าเป็นการผลักดันของแต่ละฝ่ายที่ต้องแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น ในอนาคตเรามาคอยดูกันดีกว่าครับว่าทั้ง Synchron และ Neuralink จะพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการรักษาให้ก้าวไกลแค่ไหนครับ

Chayuth S.
" Give a man a fish and you feed him for a day. Teach him how to fish and you feed him for a lifetime "
- Philosopher Lao Tzu
READ MORE
×