Theca25
Logistics Automation Expo 2025
ธงสหภาพยุโรปอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ สื่อถึงการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนของ EU ต่อสินค้าในตลาด

ESPR กฎใหม่ยุโรป กับโจทย์ใหญ่ของวงการผลิตเมื่อสินค้ายั่งยืนเท่านั้นที่ไปต่อได้

Date Post
05.06.2025
Post Views

กฎระเบียบการออกแบบเพื่อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Ecodesign for Sustainable Products Regulation: ESPR)
ESPR เป็นกฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรปที่ตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานการออกแบบและการผลิตผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กฎระเบียบนี้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์แทบทุกประเภทในตลาดยุโรป โดยเพิ่มข้อกำหนดที่เข้มงวดกว่าก่อน ทั้งในเรื่องความทนทาน การซ่อมแซม การรีไซเคิล และการลดการปล่อยคาร์บอนตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลอย่างมีนัยต่อวิธีการออกแบบและการผลิตในอนาคตของผู้ประกอบการ

พื้นฐานทางกฎหมายและเป้าหมายหลัก

Regulation (EU) 2024/1781 หรือ ESPR มีผลบังคับใช้เมื่อ 18 กรกฎาคม 2024 เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้ European Green Deal โดยมาแทนที่ Ecodesign Directive 2009/125/EC ซึ่งเคยครอบคลุมเพียงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเพียง 31 กลุ่ม ESPR มุ่งปรับปรุงความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ และตั้งเป้าให้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนกลายเป็นมาตรฐานในตลาดยุโรป ทั้งยังช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์

การจัดทำกฎระเบียบนี้ตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น เช่น การบริโภคทรัพยากรที่มากเกินไป ESPR ถูกออกแบบให้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการผลิตที่ยั่งยืน ช่วยให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง โดยยึดหลักลดการใช้วัสดุและพลังงานในกระบวนการผลิต ซึ่งนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบเชิงลบ

ESPR มีขอบเขตกว้างกว่ากฎหมายเดิมอย่างมาก ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เกือบทุกประเภท ยกเว้นบางหมวด เช่น อาหาร ยา รถยนต์ และผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคง การขยายขอบเขตนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปในการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจทั้งหมดไปสู่ความยั่งยืน ไม่จำกัดแค่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงาน กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ยางรถยนต์ สารเคมี และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

หลักการออกแบบเพื่อความยั่งยืนและคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามเกณฑ์ของ ESPR จะต้องใช้พลังงานน้อยลง มีอายุการใช้งานยาว ซ่อมแซมง่าย ถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ สารอันตรรายน้อยหรือไม่มีเลย รีไซเคิลง่าย และให้ข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างโปร่งใส ลักษณะเหล่านี้สะท้อนมุมมองแบบองค์รวมต่อความยั่งยืน ครอบคลุมทั้งการจัดการวัสดุ การออกแบบเพื่อยืดอายุการใช้งาน และการสร้างระบบหมุนเวียนของทรัพยากร

ESPR กำหนดมาตรฐานใหม่เกี่ยวกับความทนทาน การนำกลับมาใช้ซ้ำ ความสามารถในการอัปเกรด และการซ่อมแซม รวมถึงข้อจำกัดการใช้สารที่เป็นอุปสรรคต่อการรีไซเคิล ประสิทธิภาพด้านพลังงาน สัดส่วนวัสดุรีไซเคิล และรอยเท้าคาร์บอน ทั้งหมดนี้มุ่งแก้ปัญหาการออกแบบที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ล้าสมัยก่อนเวลา เช่น ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอาจต้องทำให้แบตเตอรี่ใช้งานได้นานขึ้น หรือออกแบบให้เปลี่ยนชิ้นส่วนได้ง่าย

ข้อกำหนดหลักด้านกระบวนการผลิต

มาตรฐานความยั่งยืนในกระบวนการผลิต

ภายใต้กรอบของกฎระเบียบ ESPR สหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมไว้ถึง 16 ด้านที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องนำมาพิจารณาในการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกวัตถุดิบ การใช้ทรัพยากร และการจัดการพลังงาน ไปจนถึงการซ่อมแซม การนำกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล และการจัดการของเสียหลังการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นสำคัญในแต่ละด้านประกอบด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิลได้ในระดับสูง ความสามารถในการบำรุงรักษา ความน่าเชื่อถือของชิ้นส่วน การลดการใช้สารเคมีอันตราย การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และการลดรอยเท้าคาร์บอนในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์

มาตรฐานเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงข้อกำหนดทางเทคนิค แต่สะท้อนถึงวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับบทบาทของการออกแบบในระบบเศรษฐกิจ โดยเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อบริโภคและทิ้ง (linear model) ไปสู่การออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการใช้งานระยะยาว การยืดอายุผลิตภัณฑ์ และการคืนทรัพยากรกลับเข้าสู่ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของ European Green Deal ในการทำให้เศรษฐกิจยุโรปเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร

หนึ่งในหัวใจสำคัญของ ESPR คือการขับเคลื่อนประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมปรับแนวทางการออกแบบให้สามารถใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าที่สุด และลดปริมาณของเสียตั้งแต่ต้นทาง แนวคิดนี้ไม่ได้จำกัดแค่การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์สามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ ซ่อมแซมได้ง่าย และรีไซเคิลได้จริงเมื่อหมดอายุการใช้งาน

การเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตที่คำนึงถึงวงจรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ ไม่เพียงช่วยลดความสูญเสีย แต่ยังเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น บริการซ่อมแซม บริการให้เช่า หรือระบบคืนผลิตภัณฑ์เพื่อนำกลับไปผลิตใหม่ ตลอดจนสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันผ่านนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาดยุคใหม่ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น

Digital Product Passport และการจัดการข้อมูลผลิตภัณฑ์

การปฏิวัติการให้ข้อมูลผ่านระบบ DPP

หนึ่งในเครื่องมือใหม่ที่ทรงพลังภายใต้ ESPR คือ Digital Product Passport หรือ DPP ซึ่งเป็นระบบจัดเก็บและแสดงข้อมูลความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ในรูปแบบดิจิทัล ข้อมูลใน DPP จะรวมถึงรายละเอียดด้านส่วนประกอบ วัสดุที่ใช้ ความสามารถในการซ่อมแซม ความสามารถในการรีไซเคิล รอยเท้าคาร์บอน ตลอดจนมาตรฐานที่ผ่านการรับรอง

เป้าหมายของ DPP คือการเปิดเผยข้อมูลสำคัญเหล่านี้ให้กับทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หน่วยงานกำกับดูแล ไปจนถึงผู้บริโภคทั่วไป ผ่านเว็บไซต์ที่บริหารจัดการโดยคณะกรรมาธิการยุโรป ระบบนี้จะทำให้การตัดสินใจของทุกฝ่ายตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และเปรียบเทียบกันได้ ช่วยส่งเสริมการแข่งขันเชิงบวกในตลาดสินค้าเขียว

การยกระดับการเข้าถึงข้อมูลอย่างเป็นระบบ

ESPR ยังเน้นย้ำเรื่องการเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการติดฉลาก การกำหนดมาตรฐานข้อมูลขั้นต่ำที่ต้องแสดง หรือการจัดทำฐานข้อมูลกลางสำหรับตรวจสอบย้อนหลัง จุดประสงค์คือให้ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ได้ง่าย และเป็นช่องทางให้ธุรกิจพัฒนาแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมของตนเองได้แม่นยำยิ่งขึ้น

การดำเนินการตามกฎระเบียบและกรอบเวลา

กระบวนการผลักดัน ESPR สู่การบังคับใช้จริง

ESPR เริ่มต้นด้วยข้อเสนอในเดือนมีนาคม 2022 โดยเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนของยุโรป หลังจากผ่านการเจรจาและเห็นชอบโดยรัฐสภายุโรปและสภายุโรปในช่วงปลายปี 2023 กฎระเบียบนี้ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 กรกฎาคม 2024

ขั้นตอนถัดไปคือการจัดทำ แผนการทำงาน(working plan) ซึ่งจะกำหนดลำดับความสำคัญของผลิตภัณฑ์แต่ละกลุ่มที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ ESPR โดยคาดว่าแผนนี้จะได้รับการอนุมัติภายในเดือนเมษายน 2025 จากนั้นแต่ละผลิตภัณฑ์จะถูกจัดทำเกณฑ์เฉพาะอย่างเป็นทางการในลำดับต่อไป

จุดเปลี่ยนสำคัญจากกฎหมายเดิม

ESPR แตกต่างจาก Ecodesign Directive เดิมอย่างมีนัยสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

  1. การบังคับใช้ระบบ Digital Product Passport
  2. การกำหนดแนวทางจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะที่ส่งเสริมความยั่งยืน
  3. การห้ามทำลายผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่ได้จำหน่าย

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ESPR ไม่ได้เน้นเพียงการออกแบบ อีกต่อไป แต่ครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย ไปจนถึงการบริโภคและจัดการของเสีย

ผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภค

ความท้าทายใหม่สำหรับภาคธุรกิจ

การนำ ESPR ไปใช้จริงหมายถึงการปรับตัวอย่างมากในภาคธุรกิจ ผู้ผลิตจำเป็นต้องลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ปรับปรุงขั้นตอนการออกแบบ และฝึกอบรมบุคลากรให้เข้าใจแนวคิดการผลิตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั้งหมด เช่น ความพร้อมของวัสดุรีไซเคิล หรือการบริหารจัดการข้อมูล DPP

ในอีกด้านหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น การพัฒนาโมเดลบริการซ่อม การออกแบบโมดูลาร์ หรือการสร้างแบรนด์บนพื้นฐานของความโปร่งใสทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจกลายเป็นจุดขายหลักในตลาดที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับจริยธรรมมากขึ้น

ประโยชน์ที่จับต้องได้ของผู้บริโภค

ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น เสียหายน้อยลง และสามารถซ่อมแซมได้ง่าย โดยมีต้นทุนระยะยาวที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานหรือค่าซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ข้อมูลจาก DPP ยังช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญ

ESPR ไม่ใช่แค่กฎระเบียบใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของสหภาพยุโรป จากการออกแบบที่เน้นการผลิตจำนวนมาก สู่การออกแบบที่รับผิดชอบต่อโลกและอนาคต ESPR ขยายอำนาจการกำกับดูแลจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เฉพาะทางพลังงาน ไปสู่สินค้าแทบทุกชนิดในตลาด พร้อมทั้งสร้างระบบข้อมูลที่โปร่งใสผ่าน Digital Product Passport เพื่อให้ความยั่งยืนเป็นมาตรฐานใหม่ในเศรษฐกิจยุโรป

ความสำเร็จของกฎระเบียบนี้จะขึ้นอยู่กับการบูรณาการระหว่างภาคธุรกิจ ภาครัฐ และผู้บริโภค โดยต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจัง การปรับตัวเชิงโครงสร้าง และการลงทุนระยะยาว หากทำได้สำเร็จ ESPR จะไม่เพียงพลิกโฉมตลาดยุโรปเท่านั้น แต่ยังเป็นกรณีศึกษาให้ทั่วโลกในการยกระดับมาตรฐานด้านความยั่งยืน และผลักดันให้เป้าหมาย ‘ทวีปคาร์บอนเป็นกลางแห่งแรกของโลกภายในปี 2050’ กลายเป็นจริง


แหล่งข้อมูลอ้างอิง


บทความที่น่าสนใจ


Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Pisit Poocharoen
Former field engineer seeking to break free from traditional learning frameworks. อดีตวิศวกรภาคสนามที่ต้องการหลุดออกจากกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ๆ
Thai Murata