Saturday, July 27Modern Manufacturing
×

Neuro 11 เทคโนโลยีประสาทวิทยา ที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจของนักฟุตบอล

Neuro 11 เทคโนโลยีประสาทวิทยา ที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจของนักฟุตบอล

ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคนย่อมอยู่บนพื้นฐานของการตัดสินใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น วันนี้มื้อเที่ยงหรือมื้อเย็นฉันจะกินอะไร หรือหลังจากกลับบ้านแล้วฉันจะทำอะไรดี เพื่อให้ทุกอย่างที่ตัดสินใจเป็นไปตามที่วางแผน เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ว่าเราต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ แต่ว่าถ้าคุณต้องตัดสินใจอะไรที่รวดเร็วภายในทันทีล่ะ ซึ่งการตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำเป็นคุณสมบัติที่ไม่ใช่จะฝึกกันได้ง่าย  ๆ แต่ว่าทักษะดังกล่าวนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับนักกีฬา เรียกได้ว่าเป็นคุณสมบัติที่นักกีฬาทุกคนจำเป็นต้องมี เพราะในการแข่งขันนักกีฬามืออาชีพที่ดีจำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่รวดเร็วและเฉียบขาดในเวลาเสี้ยววินาที 

Neuro 11 เทคโนโลยีประสาทวิทยา ที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจของนักฟุตบอล

ถ้าหากจะพูดถึงหนึ่งในกีฬาที่เป็นกีฬาในใจของหลาย ๆ คนและในแต่ละจังหวะต้องตัดสินใจให้รวดเร็วและแม่นยำนั่นก็คือ ”ฟุตบอล” นั่นเองครับ เหมือนที่เราเห็นกันหลาย ๆ ครั้งในการแข่งขันฟุตบอลถึงแม้นักฟุตบอลคนนั้นจะเป็นนักฟุตบอลระดับโลกและเก่งกาจแค่ไหน หากตัดสินใจพลาดแม้แต่นิดเดียวอาจเป็นการนำความพ่ายแพ้มาสู่ทีมเลยก็ได้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีนั้นก้าวหน้าและไปไกลอย่างมากทำให้ ณ ตอนนี้มีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้สมองของนักฟุตบอลสามารถทำการตัดสินใจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ?และเทคโนโลยีที่จะเข้ามายกระดับการตัดสินใจของนักฟุตบอลได้ก็คือ Neuroscience

Neuro 11 เทคโนโลยีประสาทวิทยา ที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจของนักฟุตบอล

Neuroscience หรือ “ประสาทวิทยาศาสตร์” ศาสตร์นี้จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจกลไกของระบบประสาท สามารถต่อยอดไปถึงการทำความเข้าใจจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงพัฒนาการการเรียนรู้ จะเริ่มจากการพัฒนาในสิ่งที่เป็นพื้นฐานและฝึกซ้ำ ๆ จนทำเป็นเรื่องธรรมชาติ และนำเครื่องจักรกับเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานของสมองมนุษย์ได้ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญในด้านประสาทวิทยาและนำมาประยุกต์ใช้กับกีฬาฟุตบอลก็คือ Neuro 11

Neuro 11 ผู้เชี่ยวชาญในด้านประสาทวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และดูแลด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาให้กับอุตสาหกรรมกีฬาระดับมืออาชีพต่าง ๆ อย่างฟุตบอล เป็นต้น ก่อตั้งโดย ดร.นิคลาส ฮอสเลอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Bonn ในเยอรมัน และ แพทริก แฮนท์ชเค อดีตนักฟุตบอลมืออาชีพที่ผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ โดยทั้งคู่นั้นคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลเป็นอย่างมาก ทำให้พวกเขาอยากนำเทคโนโลยีประสาทวิทยามาใช้กับกีฬาฟุตบอล เลยเป็นที่มาของ Neuro 11 และพวกเขาไม่ได้เชี่ยวชาญเพียงแค่ในกีฬาฟุตบอลเท่านั้นนะครับ พวกเขายังสามารถพัฒนาความสามารถในกระบวนการคิดและตัดสินใจของนักกีฬาประเภทต่าง ๆ อย่างเช่น บาสเก็ตบอล กอล์ฟ กีฬาบนลู่วิ่ง เป็นต้น

Neuro 11 เทคโนโลยีประสาทวิทยา ที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจของนักฟุตบอล

จุดกำเนิดความยิ่งใหญ่ของ Neuro 11 

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป๊ป ไลจ์นเดอรส์ มือขวาของ เจอร์เก้น คล็อปป์ ผู้จัดการทีมชาวเยอรมันของสโมสรลิเวอร์พูล ได้นำโปรเจกต์ที่จะพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจของนักฟุตบอลไปนำเสนอให้กับ คล็อปป์ จากนั้นในช่วงพักเบรกก่อนเริ่มฤดูกาล 2021-2022 สโมสรลิเวอร์พูลได้ร่วมมือกับ Neuro 11 เพื่อเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจเล่นลูกตั้งเตะ ไม่ว่าจะเป็น ลูกฟรีคิก ลูกตั้งเตะ ลูกเตะมุม และที่สำคัญคือลูกจุดโทษ นักฟุตบอลมีโอกาสยิงจุดโทษเข้าถึง 85% ในช่วงเวลาปกติ แต่เมื่ออยู่ในช่วงต่อเวลาและช่วงดวลจุดโทษอัตราความสำเร็จจะลดลงมาเหลือเพียง 76% ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเหนื่อยล้า ความกดดัน หรือความเครียด เป็นต้น

Neuro 11 เทคโนโลยีประสาทวิทยา ที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจของนักฟุตบอล

เป๊ป ไลจ์นเดอรส์ และ เจอร์เก้น คล็อปป์

เพื่อที่จะลดความกดดันและสร้างความมั่นใจให้นักเตะในสถานการณ์ต่าง ๆ ในขั้นตอนการทำงานของ Neuro 11 พวกเขาจะเริ่มจากการวัดค่าคลื่นสมองของนักเตะก่อนที่จะเตะและระหว่างเตะลูกฟุตบอลว่ามีความเครียด หรือความกดดันอย่างไรบ้าง ถ้าหากค่าที่วัดออกมานั้นผิดปกติพวกเขาก็จะแนะนำให้นักเตะลองเปลี่ยนท่าที่ใช้ยิงหรือเปิดลูกฟุตบอลเพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการวัดมาคำนวณว่าต้องวิ่งท่าใดหรือยิงท่าไหนให้เหมาะสมกับตัวนักเตะที่สุด และพอได้ผลลัพธ์ที่เหมาะกับตัวนักเตะที่สุด พวกเขาก็จะให้นักเตะฝึกซ้ำ ๆ กับสิ่งที่เหมาะสมและดีที่สุดจนเกิดเป็นความเคยชิน

ผลลัพธ์ระหว่าง Neuro 11 กับนักเตะทีมลิเวอร์พูล เรียกได้ว่าได้ผลและทรงประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก เพราะอย่างที่หลายคนทราบกัน ในฤดูกาล 2021/2022 ที่ผ่านมา ลิเวอร์พูลสามารถคว้าถ้วยมาได้ 2 ใบ นั่นก็คือ คาราบาวคัพ และ เอฟเอคัพ ที่ทั้ง 2 รายการสามารถชนะการดวลจุดโทษในช่วงต่อเวลาพิเศษกับยอดสโมสรแห่งลอนดอนอย่างเชลซีไปได้ โดยเฉพาะในรายการคาราบาวคัพที่นักเตะลิเวอร์พูลทุกคนนั้นยิงจุดโทษเข้าหมดทุกคนและชนะไปได้ 11-10 และในจังหวะทีเด็ดที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือจังหวะที่ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ดวลกับ ผู้รักษาประตูของเชลซีอย่าง เกป้า อาร์ริซาบาลาก้า โดยเกป้านั้นพยายามยั่วยุด้วยการไปยืนอยู่ที่ฝั่งซ้ายเพื่อให้ ฟาน ไดจ์ค ลังเล แต่ว่าเขากลับยิงไปมุมซ้ายอย่างเต็มแรงในมุมที่เกป้านั้นยืนอยู่และเป็นประตู 

จะเห็นได้ว่าต่อให้จะโดนยั่วยุให้กดดันแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้นักเตะคนใดของลิเวอร์พูลไขว้เขวเลยแม้แต่นิด โดยผู้จัดการทีมอย่าง เจอร์เก้น คล็อปป์ ได้ยกความดีความชอบในการคว้าถ้วยทั้ง 2 ใบหลังนัดชิงเอฟเอคัพเอาไว้ว่า “พวกเราได้ทำงานร่วมกับบริษัท Neuro11 จากเยอรมัน และเมื่อสองปีที่แล้วพวกเขาติดต่อมายังเรา ซึ่งผมรู้ว่าพวกเขาเป็นนักประสาทวิทยา พวกเขาบอกกับเราว่ามาร่วมงานกับพวกเราสิ เราสามารถฝึกการยิงลูกโทษให้ทีมคุณได้ ผมก็แค่พูดว่าฟังมันดูน่าสนใจมากเลยนะ และสุดท้ายเราก็ได้ทำงานร่วมกัน พวกเขาส่งทีมงานมาทั้งหมด 4 คน มาวิเคราะห์และพัฒนาการเล่นลูกตั้งเตะของทีมเราให้เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ และสำหรับถ้วยรางวัล เอฟเอ คัพ ใบนี้เราขอมอบให้พวกเขาเหมือนกับถ้วย คาราบาว คัพ”

เทคโนโลยี Neuroscience นั้นไม่ได้ใช้แค่ในวงการกีฬาเท่านั้นนะครับ เพราะว่าในเรื่องของการตลาดก็มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Neuromarketing ที่เข้ามาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ซื้อเพื่อเพิ่มยอดขายอีกด้วย ในอนาคตเรามารอดูกันดีกว่านะครับว่า Neuro 11 จะนำเทคโนโลยี Neuroscience มาพัฒนาและใช้กับวงการใดกันบ้างครับ

Chayuth S.
" Give a man a fish and you feed him for a day. Teach him how to fish and you feed him for a lifetime "
- Philosopher Lao Tzu
READ MORE
×