Saturday, May 4Modern Manufacturing
×

ไทยออยล์ คาด ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง จากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เผย บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 เมษายน 2567 คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78 – 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 82 – 92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ไทยออยล์

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (22 – 26 เม.ย. 67) 

ไทยออยล์ คาด ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง จากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงมีความไม่แน่นอนเนื่องจากอิสราเอล และอิหร่านยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการหยุดยิง และพร้อมตอบโต้หากมีการโจมตี ในขณะที่ Fed มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อเนื่องถึงกลางปี อย่างไรก็ดี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกปี 67 ในขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจีน (GDP) ของในไตรมาส 1 ปี 67 เพิ่มขึ้นกว่าคาด และ IEA ปรับลดคาดการณ์อุปทานจากกลุ่ม non-OPEC ปี 67 โดยลดลงจากการผลิตของสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังไม่แน่นอนเนื่องจากนายกรัฐมนตรีอิสราเอลประกาศว่า อิสราเอลจะตัดสินใจเรื่องการตอบโต้อิหร่านด้วยตัวเอง แม้ชาติพันธมิตรหลายประเทศจะไม่เห็นด้วยกับการตอบโต้การโจมตีของอิหร่านเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา เพราะอาจส่งผลให้สถานการณ์บานปลายก็ตาม ขณะที่อิหร่านเองประกาศว่าหากอิสราเอลโจมตีอิหร่าน อิหร่านก็พร้อมจะตอบโต้ด้วยยุทธวิธีที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าจะไม่ร่วมกับอิสราเอลหากจะมีการโจมตีอิหร่านที่จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้าง ขณะที่การประชุมกลุ่ม G7 (สหรัฐฯ แคนาดา อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น) ที่ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 17-19 เม.ย. ที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการหารือทางการทูตต่อการโจมตีของอิหร่านต่ออิสราเอล รวมถึงการหารือเกี่ยวกับการคว่ำบาตรต่ออิหร่านด้วย

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันเนื่องจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นาย Jerome Powell กล่าวในงาน Washington Forum ที่กรุง Washington D.C. ในสหรัฐฯ ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจและภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดี ทำให้ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงที่ 5.25-5.50% นานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าโดยจะมีการปรับลดครั้งแรกในเดือน ก.ค. 67 เพื่อให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่เป้าหมายที่ 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 

อย่างไรก็ดีอย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกปี 67 โดยสูงขึ้น 3.2% เทียบกับช่วงเดียวกับของปี 66 ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดการณ์เดือน ม.ค. 67 ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 โดยชี้ว่าเศรษฐกิจโลกยังเติบโตอย่างต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง

สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistic) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจีน (GDP) ของในไตรมาส 1 ปี 67 เพิ่มขึ้น 5.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 โดยสูงกว่าไตรมาส 4 ปี 66 ที่เพิ่มขึ้น 5.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65 ในขณะที่ Reuters Poll คาดจะเพิ่มขึ้นเพียง 5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66

IEA ปรับลดคาดการณ์อุปทานจากกลุ่ม non-OPEC ปี 67 โดยจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการคาดก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 อยู่ที่ 70.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยลดจากคาดก่อนหน้าที่ระดับ 0.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งผลมาจากการผลิตของสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่

กระทรวงพลังงานคาซัคสถานแถลงจัดทำแผนลดการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่ม OPEC+ ภายในวันที่ 30 เม.ย. 67 เพื่อชดเชยที่ผลิตเกินโควตา เดือน มี.ค. 67 ซึ่งคาซัคสถานผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 1.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยโควตาที่ได้รับจากกลุ่ม OPEC+ อยู่ที่ระดับ 1.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ จีดีพี ไตรมาส 1 ปี 67 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม S&P เม.ย. 67 และยอดขายบ้านใหม่ มี.ค. 67

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 เม.ย. 67)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 2.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 87.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากความเสี่ยงในการยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์อิสราเอล-อิหร่านผ่อนคลายลง เพราะอิสราเอลไม่ได้โต้ตอบอิหร่านทันที ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 12 เม.ย. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 460 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในตะวันออกกลางยังมีความไม่แน่นอนเนื่องจาก War Cabinet ของอิสราเอลยังอยู่ระหว่างการหารือ ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะตอบโต้หรือไม่และเมื่อไร ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มค่อนข้างดี โดยรายงานยอดขายปลีก (Retail Sales) เดือน มี.ค. 67 เพิ่มขึ้น 0.7% เทียบเดือน ก.พ. 67 โดยสูงกว่านักวิเคราะห์ Reuters Poll ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% รวมทั้งสำนักสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Throughput) ในเดือน มี.ค. 67 เพิ่มขึ้น 1.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 อยู่ที่ 15.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 เดือน

Nichaphan W.
Marketing
READ MORE
×