Monday, April 29Modern Manufacturing
×

สศอ. เผย ดัชนี MPI เดือน ต.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 4.29

สศอ. เผย ดัชนี MPI เดือน ต.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 4.29 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนยังไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ คาดดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตฯ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0

สศอ. เผย ดัชนี MPI เดือน ต.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 4.29

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 89.38 หดตัวร้อยละ 4.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.04 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 56.83 และ 10 เดือนแรกอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 59.53 โดยเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าเป้า เนื่องจากนโยบายของประเทศจีนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และนโยบายจีนฟรีวีซ่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2566 ยังขยายตัวจากฐานต่ำของปีก่อน ซึ่งยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์การส่งออกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงมีนโยบายช่วยลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น นโยบายลดค่าไฟฟ้าและตรึงราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น

สศอ. เผย ดัชนี MPI เดือน ต.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 4.29

ยิ่งเล็กยิ่งต้องใส่ใจ กับหัวกัดรักษ์โลก by Tungaloy

นอกจากนี้ ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพฤศจิกายน 2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง” จากปัจจัยภายในประเทศที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน และดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทยปรับลดลง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย 3 เดือนข้างหน้า “ชะลอตัวในช่วงขาลง” และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า ลดลงจากเดือนก่อน ตามความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

นางศิริเพ็ญ กล่าวว่า สศอ. ได้ประมาณการดัชนี MPI ปี 2566 หดตัวร้อยละ 4.8 ด้าน GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 หดตัวร้อยละ 3.0 แต่ประมาณการดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทย กับประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐ ที่คาดว่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีความชัดเจนมากขึ้น  ในปีหน้า ทั้งนี้ยังต้องติดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยาวนานและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้าง อีกทั้งต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากระดับราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง กดดันภาคการผลิตและกำลังซื้อผู้บริโภค และความผันผวนของค่าเงิน รวมทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญที่เป็นประเด็นให้ต้องติดตามในระยะต่อไป

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนตุลาคม 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.48 จากการผลิตสินค้าในกลุ่มที่ใช้สำหรับการเดินทางเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเครื่องบิน จากกิจกรรมการเดินทางในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน

พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.49 โดยการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ปีก่อนความต้องการในกลุ่มเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้นลดลง ทำให้ผู้ผลิตหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรในช่วงปีก่อน

สายไฟและเคเบิลอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.78 จากสายไฟฟ้าเป็นหลัก  เนื่องจากยังคงมีคำสั่งซื้อจากการไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีความต้องการจากภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น

เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.09 จากจี้ แหวน สร้อย และต่างหู เป็นหลัก จากการผลิตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ประกอบกับการเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.16 จากการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษคราฟท์ เนื่องจากในปีก่อนวัตถุดิบมีราคาสูง ผู้ผลิตจึงปรับลดการผลิตลง โดยในปีนี้การผลิตเริ่มกลับมาเป็นปกติ รวมทั้งผู้ผลิตบางรายเร่งผลิตเพื่อสำรองสินค้า เนื่องจากมีแผนการหยุดซ่อมบำรุงในเดือนหน้า

Nichaphan W.
Marketing
READ MORE
×