Saturday, April 27Modern Manufacturing
×

อย. ผนึก ส.อ.ท. ยกระดับความปลอดภัยผู้บริโภคด้วยบาร์โค้ดสองมิติ

อย. ผนึก ส.อ.ท. ลงนามขับเคลื่อนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยกระดับความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และตรงตามมาตรฐานสากลด้วยการใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ดสองมิติ GS1 DataMatrix และ QR Code – GS1 Digital Link URI

อย. ผนึก ส.อ.ท. ยกระดับความปลอดภัยผู้บริโภคด้วยบาร์โค้ดสองมิติ

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนและต่อยอดการพัฒนาธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ณ ห้องประชุม 110 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มุ่งยกระดับความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และตรงตามมาตรฐานสากลด้วยการใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ดสองมิติ GS1 DataMatrix และ QR Code – GS1 Digital Link URI

อย. ผนึก ส.อ.ท. ยกระดับความปลอดภัยผู้บริโภคด้วยบาร์โค้ดสองมิติ

รัฐบาลจีนไฟเขียว ‘ฉางอัน’ ตั้งฐานผลิต EV ในไทย ตั้งเป้า 1 แสนคันต่อปี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศไทยที่จะพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในทุกมิติ ทั้งด้านบุคลากร สถานที่ และทรัพยากร ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเป็นที่ยอมรับในสากล

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยมีศักยภาพ และต่อยอดขีดความสามารถให้แข่งขันกับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และให้คนไทยได้มีโอกาสที่จะได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ ปลอดภัย จึงเป็นที่มาของการกำหนดแนวทางความร่วมมือร่วมกันของ ส.อ.ท. และ อย. ผ่านการทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนครั้งนี้ 

โดยทาง ส.อ.ท. จะเร่งมุ่งส่งเสริมและผลักดันการยกระดับคุณภาพในการผลิตของสมาชิก ส.อ.ท. ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากล ภายใต้นโยบาย “One FTI” (One Vision, One Team, One Goal) และจะขับเคลื่อนการนำระบบมาตรฐานสากล GS1 ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านหน่วยงาน สถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand เพื่อช่วยให้ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพเกิดความโปร่งใส (Supply Chain Visibility) เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย

ดร.คมสัน เหล่าศิลปเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) กล่าวเสริมว่า สำหรับการร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง ส.อ.ท. และ อย. ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานและนำเสนอโครงการต่างๆ ที่จะร่วมผลักดันในอนาคต เพื่อยกระดับความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และตรงตามมาตรฐานสากล

สถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand มีภารกิจหลักในการเป็นนายทะเบียนผู้ออกเลขหมายบาร์โค้ดตามมาตรฐานสากล GS1 อย่างเป็นทางการเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ได้นำเสนอการบ่งชี้สินค้าสุขภาพด้วยรหัสมาตรฐานสากล GS1 และใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ดสองมิติ ประเภท GS1 DataMatrix มารองรับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และการเรียกคืนสินค้า (Recall) ตามมาตรฐานระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับกฏหมาย Traceability ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเทคโนโลยีบาร์โค้ดสองมิติ ประเภท QR Code – GS1 Digital Link URI ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลของสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับโครงการ e-Labelling ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างการดำเนินการ

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยว่า ที่ผ่านมา อย. และสถาบันรหัสสากล ได้ร่วมมือกันใช้มาตรฐานสากล GS1 ในหลายผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2563 ได้มีการใช้กับผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับและติดตามการกระจายในระดับรายชิ้นได้ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั่วทั้งในประเทศและต่างประทศ รวมไปถึงในปี 2564 ได้จัดทำคู่มือเพื่อเป็นคำแนะนำเบื้องต้นในการใช้มาตรฐานสากล GS1 สำหรับใช้ติดตามการกระจายวัคซีนโควิด-19 และตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของวัคซีน นอกจากนี้ ในปี 2566 ยังได้นำมาตรฐานสากล GS1 (QR Code) มาใช้ในการจัดการฉลากยาอิเล็กทรอนิคส์ (e-Labelling) ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยา เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และรวดเร็ว 

สำหรับในระยะต่อไป ทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมมือกันพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับและการป้องกันการปลอมแปลงของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ โดยจะร่วมมือด้านวิชาการและเทคนิคมาตรฐานต่าง ๆ ในการประยุกต์ใช้สัญลักษณ์บาร์โค้ดแบบ 1 มิติ และ 2 มิติ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการกำหนดกฎหมายและข้อบังคับด้าน Coding & Serialization ของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างปลอดภัย และเกิดประสิทธิภาพสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ และป้องกันการปลอมแปลง เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และยกระดับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศให้มีมาตรฐานสู่ระดับสากล

Nichaphan W.
Marketing
READ MORE
×