Saturday, May 4Modern Manufacturing
×

นักวิจัยพัฒนาวัสดุใหม่สำหรับการพิมพ์ 3 มิติที่ทำมาจากกากกาแฟ

นักวิจัยพัฒนาวัสดุใหม่สำหรับการพิมพ์ 3 มิติที่ทำมาจากกากกาแฟ

การศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ (The University of Colorado Boulder) ได้พัฒนาวิธีการสร้างส่วนผสมสำหรับการพิมพ์ 3 มิติที่มาจากกากกาแฟได้สำเร็จ

นักวิจัยพัฒนาวัสดุใหม่สำหรับการพิมพ์ 3 มิติที่ทำมาจากกากกาแฟ

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Manufacturing.net ได้ระบุว่าการวิจัยในครั้งนี้ถูกนำโดย Michael Rivera ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ พร้อมด้วยทีมวิจัย ซึ่งวัสดุสำหรับการพิมพ์ 3 มิติที่พัฒนาขึ้นนี้ก็มาจากส่วนผสมของกากกาแฟเก่า น้ำ และส่วนผสมที่ยั่งยืนอีกจำนวนหนึ่ง

สำหรับความพยายามของโครงการวิจัยในครั้งนี้ก็ได้แก่การพยายามทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเพื่อช่วยให้ศิลปิน นักออกแบบและวิศวกร สามารถผลิตชิ้นงานต้นแบบและของใช้ในครัวเรือนได้โดยไม่ต้องนำไปทำการฝังกลบนั่นเอง

นอกจากนี้การใช้วัสดุสำหรับการพิมพ์ 3 มิติแบบดั้งเดิมอย่างพลาสติก PLA หรือ Polylactic Acid นั้นอาจต้องใช้เวลาถึง 1,000 ปีในการย่อยสลายในหลุมฝังกลบ การใช้กากกาแฟเข้ามาทดแทนวัสดุพิมพ์จึงสามารถเข้ามาช่วยลดขยะพลาสติกได้นั่นเอง

นำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย ทนทานเท่าคอนกรีตล้วน

ในขั้นตอนการทดลองนั้น Michael Rivera ได้ระบุว่าทางทีมวิจัยได้ผสมกากกาแฟแห้งเข้ากับ Cellulose gum และ Xanthan gum ซึ่งเป็นสารปรุงแต่งทั่วไปในอาหารและสามารถย่อยสลายได้ง่ายในถังปุ๋ยหมัก ก่อนจะทำการผสมน้ำเข้าไปให้ได้ความหนืดในระดับเดียวกับเนยถั่ว

แต่วัสดุที่ได้รับนี้ก็ไม่สามารถถูกนำไปใช้ในเครื่องพิมพ์ 3 มิติทั่วไปได้ในทันที ทางทีมจึงได้มีการดัดแปลงเครื่องพิมพ์ด้วยหลอดพลาสติกและหลอดฉีดยาที่บรรจุวัสดุกากกาแฟเอาไว้เพื่อทำการพิมพ์ ซึ่งทางทีมก็ได้พบว่าวัสดุที่พัฒนาขึ้นนี้มีความทนทานพอ ๆ กับคอนกรีตล้วนเลยทีเดียว

สำหรับชิ้นงานที่ผลิตขึ้นด้วยวัสดุนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย อย่างการสร้างกระถางต้นไม้ขนาดเล็กที่เหมาะแก่การปลูกพืชที่ชอบกรดอย่างมะเขือเทศ หรือนำไปผสมกับถ่านกัมมันต์เพื่อใช้ในการผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยั่งยืนได้

สุดท้ายนี้ทางทีมวิจัยยังได้คาดการณ์ว่า แม้การพิมพ์ 3 มิติด้วยวัสดุที่มาจากกากกาแฟนั้นอาจจะไม่ได้รับความนิยมและนำเอาไปใช้อย่างแพร่หลายได้ แต่โครงการนี้ก็ยังถือเป็นก้าวเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาวัสดุการพิมพ์ 3 มิติที่ยั่งยืนประเภทอื่น ๆ ที่อาจจะเข้ามาทดแทนการใช้วัสดุพลาสติกได้ในสักวันหนึ่ง

Jirapat R.
A Content Creator with multiple interests and a fitness enthusiastic.
READ MORE
×