ก.อุตฯ ชวนผู้ประกอบการตั้งโรงงานในนิคมฯ ชูนโยบาย 4 มิติ ปรับธุรกิจ

Date Post
12.06.2023
Post Views

ปลัดอุตสาหกรรม หารือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ชูนโยบาย 4 มิติ มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ย้ำความเชื่อมั่นตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพิ่มความสะดวก ลดผลกระทบเชิงพื้นที่ แนะโรงงานให้พัฒนาอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมปทุมธานี เพื่อหารือกับตัวแทนผู้ประกอบการในจังหวัดปทุมธานี พร้อมกับนำเสนอแนวทางในการประกอบธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน โดยได้แนะนำผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม นำนโยบาย 4 มิติ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 

1.ความสำเร็จทางธุรกิจ 2.การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างรับผิดชอบและเป็นมิตร 3.การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก กำกับ ควบคุม และดูแลด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคม และ 4.การกระจายรายได้ให้กับประชาชนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบ 

ขณะเดียวกันได้ย้ำถึงมาตรการและข้อแนะนำต่าง ๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางไว้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะให้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้มากขึ้น

และได้แนะนำผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ถึงการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมว่าหากจัดตั้งในนิคมอุตสาหกรรม จะทำให้เกิดความสะดวกและลดผลกระทบเชิงพื้นที่ได้มากขึ้น เนื่องจากภายในนิคมอุตสาหกรรมมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมและมีกลไกการควบคุมสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด 

ส่วนในเรื่องของการพัฒนาระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ก็มีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ที่พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ทั้งในการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ และกิจกรรมภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) 

นักวิจัยเยอรมนีเปลี่ยนของเสียจากม้าให้กลายเป็นพลังงาน | FactoryNews ep.59/4

รวมทั้งการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนสามารถลดภาระค่าครองชีพ ซึ่งดีพร้อมได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จในปีที่ผ่านมา โดยสามารถร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อช่วยพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมได้ ส่วนปัญหา PM 2.5 ที่พบในบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้ให้คำแนะนำให้โรงงานอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมและควรพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งภายในบริเวณโรงงานและภายนอกโรงงาน

ส่วนเรื่องการกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้แก้ไขประกาศเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 พฤศจิกายนนี้ ที่กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ  

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในผลิตภัณฑ์ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร (มอก. 655) ที่ผู้ประกอบการอาจยังไม่ทราบอย่างทั่วถึง ได้มอบหมายให้ดีพร้อม และ สมอ. ช่วยกันให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการต่อไป  และในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม ตามมาตรการ RE 100    เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกโดยการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ได้แนะนำให้โรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น การนำระบบโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) เข้ามาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้รถบัสสำหรับรับ-ส่งพนักงานของบริษัท หากปรับเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ก็จะสามารถลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้  

“อุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่กำลังก้าวสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ ให้อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน สงบสุข ดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งภาคธุรกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชนรักโรงงาน โรงงานรักชุมชน และสร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ดร.ณัฐพล กล่าว

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Store Master - Kardex