Thursday, May 2Modern Manufacturing
×

ไทยอยู่ในสถานะเงินเฟ้อติดลบ Krungthai COMPASS คาดปี 67 เงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 1%

รมช.คลัง เผยเงินเฟ้อติดลบ ฝากความหวัง กนง. ประเมินทิศทางดอกเบี้ย หลังให้แบงก์รัฐช่วยตรึงดอกเบี้ยดูแลรายย่อย ในขณะที่ Krungthai COMPASS คาดเงินเฟ้อปี 67 อยู่ที่ 1% จากแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับลดลงโดยเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกันอย่างชัดเจน

ไทยอยู่ในสถานะเงินเฟ้อติดลบ Krungthai COMPASS คาดปี 67 เงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 1%
ไทยอยู่ในสถานะเงินเฟ้อติดลบ Krungthai COMPASS คาดปี 67 เงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 1%

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ธนาคารของรัฐช่วยตรึงดอกเบี้ยช่วงปลายปี 3 เดือน ตรึงดอกเบี้ยได้ถึงสิ้นปี 66 นับว่าช่วยตรึงเต็มที่แล้ว หลังจากนั้น พอเริ่มปีใหม่ แบงก์รัฐบางแห่ง ต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ขณะที่ ธ.ก.ส. ต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้เพียงเล็กน้อย ยอมรับว่าต้องแข่งขันในตลาดเสรี เพื่อดูแลต้นทุนธนาคาร เพราะการประชุมครั้งที่ผ่านมา กนง.ปรับเพิ่มเร็วและแรง 

อย่างไรก็ตาม จึงต้องติดตามการประชุม กนง.ในครั้งถัดไป อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 2-3 เดือน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้จะดึงต้นทุนพลังงานออกมาจากฐานคำนวณในช่วงรัฐบาลช่วยลดต้นทุนพลังงาน อัตราเงินเฟ้อยังติดลบอยู่เช่นกัน ขณะที่นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท. อย่างต่อเนื่อง ต้องรอดูว่าจะนัดพบหารือเพิ่มเติมอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสท์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลาย ๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อ ประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

ด้าน Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ได้มีการวิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อที่สอดคล้องกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ แสดงให้เห็นว่าจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. 66 ติดลบ 0.83% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากราคาหมวดพลังงานและอาหารสด โดยราคาพลังงานหดตัวจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลง ขณะที่ราคาอาหารสดลดลงตามราคาเนื้อสุกรและผักสด สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.58% ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ 1.23% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.27%

แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องแต่ประเมินว่าเศรษฐกิจไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เป็นผลจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ มาตรการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานเป็นปัจจัยหลักทำให้อัตราเงินเฟ้อติดลบ และ ผู้ประกอบการเร่งระบายสต๊อกสินค้า และ/หรืออุปทานในตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

Krungthai COMPASS ยังได้ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.0% ชะลอลงจากปี 2566 ที่ 1.23% จากราคาหมวดพลังงานที่มีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าปี 2566 โดยปรับลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีกทั้งดีเซลและเบนซิน ภายใต้สมมติฐานที่ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งลดลงจากราคาในปี 2566 เฉลี่ย 32.1 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันเบนซินมีแนวโน้มปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากการลดภาษีสรรพสามิตที่คาดว่าจะภาครัฐขยายระยะเวลาออกไป (ที่จะสิ้นสุด 31 ม.ค. 67) ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัว สำหรับค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในทะเลแดงที่ส่งผลให้ต้นทุนค่าระวางเรือขยับขึ้น รวมทั้งแรงกดดันที่มีต่อราคาน้ำมันดิบให้ปรับสูงขึ้นกว่าที่คาดได้

ที่มา:
tna.mcot.net

อัปเดทองค์ความรู้ เทคโนโลยี และโซลูชันด้านอุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติแห่งปี 2024 ได้ก่อนใครที่
AUTOMATION EXPO 2024
พบกับหัวข้อสัมมนาสำหรับระบบอัตโนมัติและโซลูชันในภาคการผลิตกว่า 50 หัวข้อ พร้อมสัมผัสเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้ได้จริงสำหรับธุรกิจ พบกันที่ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา (NICE) 13 – 15 มีนาคม 2567 นี้ ลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าฟรี!

Thos
"Judge a man by his questions rather than his answers"
Voltaire
READ MORE
×