Saturday, April 27Modern Manufacturing
×

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มทรงตัว

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังตลาดคาดอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุด ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบเริ่มคลี่คลายลง คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 81-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มทรงตัว

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เผย บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 81-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 – 10 พ.ย. 66) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเริ่มลดลง โดยตลาดมองว่า FED จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าและอาจจะเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลง

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มทรงตัว

อย่างไรก็ตามม ราคาคาดจะเริ่มปรับลดลง หลังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มดีขึ้น หลังเริ่มมีการเจรจาปล่อยตัวประกัน ทั้งนี้ ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกังวลว่าอิสราเอลจะยังมีการใช้กองกำลังทางทหาร ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคามีการปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งได้

พาชมงาน | Secutech Thailand 2023

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส มีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง โดยความคืบหน้าล่าสุด กลุ่มฮามาสเริ่มปล่อยตัวประกันชาวต่างชาติเป็นครั้งที่สองผ่านทางอียิปต์ หลังกาตาร์เข้ามาช่วยเจรจา ประกอบกับหลายประเทศได้ออกมาเรียกร้องให้มีการใช้การเจรจาแทนที่จะมีการใช้กองกำลังทางทหารเพื่อหาข้อสรุป โดยตลาดยังคงจับตาดูว่าอิสราเอลจะยังคงเดินหน้าใช้กองกำลังทางทหารเข้าโจมตีกลุ่มฮามาสหรือไม่ ถ้าหากยังเดินหน้าต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้สถานการณ์ความรุนแรงกลับมาประทุขึ้นอีกครั้งได้

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงและช่วยสนับสนุนต่อราคาน้ำมันดิบ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน พ.ย. 66 ที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งถือเป็นครั้งที่สองที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าระดับเป้าหมาย โดยตลาดเริ่มประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จะสิ้นสุดแล้ว ส่งผลให้ตลาดคาดในการประชุมครั้งถัดไป FED จะอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมและเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในกลางปีหน้า

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ  มีแนวโน้มปรับลดลงหลังปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ จะกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงและเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการกลั่นสำหรับสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 27 ต.ค. 66 อยู่ที่ราว 15.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า

เศรษฐกิจจีนในเดือน ต.ค. 2566 ยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ หลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวลง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในเดือน ต.ค. 66 ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 50 อีกครั้งมาอยู่ที่ระดับ 49.5 ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคบริการปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65 ที่ระดับ 50.6 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคาดจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันของจีน

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของไนจีเรียและเวเนซุเอลา ซึ่งทั้งสองประเทศได้รับยกเว้นในการปรับลดกำลังการผลิต โดยไนจีเรียเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการแหล่งผลิตที่มีการปิดไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีการซ่อมแซมท่อขนส่งที่ได้รับความเสียหายแล้ว ขณะที่ การผลิตน้ำมันดิบในเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 6 เดือนจนถึง 18 เม.ย. 67 โดยปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกในเดือน ต.ค. 66 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 3 เดือนติดต่อกัน มาอยู่ที่ราว 27.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภค เดือน ก.ย. 2566 และ ยอดค้าปลีกเดือน ก.ย. 2566 ตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคเดือน ต.ค. 2566 และ ปริมาณการนำเข้าและส่งออกเดือน ต.ค. 2566 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ต.ค. – 3 พ.ย. 66) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลง 5.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 80.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 5.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 84.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 88.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 0.77 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงกลั่นยังไม่กลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ตลาดเริ่มคลายกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส หลังกลุ่มฮามาสเริ่มปล่อยตัวประกันชาวต่างชาติเพิ่มเติม ส่งผลให้มีการขายทำกำไรและกดดันราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง หากอิสราเอลอาจจะมีการใช้กองกำลังทางบกเข้าจู่โจมในพื้นที่ฉนวนกาซา อาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

Nichaphan W.
Marketing
READ MORE
×