Friday, April 26Modern Manufacturing
×

การเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม

‘น้ำท่วม’ ปัญหาสามัญประจำประเทศที่บ่อยครั้งก็ทำผู้ประกอบการสิ้นเนื้อประดาตัวอย่างไม่คาดคิด ซึ่งเราสามารถพบเจอกันได้บ่อยครั้งในสภาพภูมิประเทศต่าง ๆ ของไทย ซึ่งปัญหาเหล่านี้รอใครมาแก้ให้ก็คงลำบาก เรามาทำความรู้จักกับวิธีป้องกันและแนวทางในการแก้ไขน้ำท่วมในเบื้องต้นกันดีกว่าครับ

การเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม

การเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม

บ่อยครั้งที่ประเทศไทยจะเกิดเหตุอาเพศ ไฟป่า ฝุ่นควัน ประท้วง ยึดอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทกภัยอย่างน้ำท่วมซึ่งเราจะพบเจอกันได้เป็นประจำด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นใจรวมไปถึงการขาดแคลนนโยบายบริหารจัดการน้ำที่ดี (ทั้ง ๆ ที่เรามีเทคโนโลยีในการพยากรณ์และระบบบริหารจัดการที่ทันสมัย) แต่อย่างน้อยเราก็สามารถรู้ได้ครับว่าน้นั้นำจะ ‘มา’ หรือ ‘ไม่มา’ อย่างน้อยล่วงหน้าสักนิดหน่อย (กระชั้นชิดอย่างสม่ำเสมอสำหรับพื้นที่ต้นน้ำ) Modern Manufacturing จึงขอเสนอแนวทางการบริหารจัดการกับปัญหาน้ำท่วมของ Cornerstone บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูและการบรรเทาความเสียหายของสินทรัพย์กันครับ

เมื่อมีการประกาศเตือนภัยแต่น้ำยังมาไม่ถึงต้องทำอย่างไร?

จงจำไว้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีเพียงด้านกายภาพ หากมีการประกาศเตือนน้ำท่วมในพื้นที่ คุณต้องรีบตัดสินใจว่าจะปิดสายการผลิต หาทางเตรียมรับมือกับการมาของน้ำ และส่งแรงงานกลับบ้าน ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องมีการสูญเสียตัวเงินกันไม่น้อย หรือจะยอมเสี่ยงทำการผลิตต่อไปและเดิมพันกับความพังพินาศที่จะเกิดขึ้นเมื่อน้ำไหลหลากเข้ามาถึงในพื้นที่รวดเร็วกว่าที่คาดคิด ซึ่งนั่นทำให้ทีมงานของคุณต้องรีบปิดพื้นที่ให้เร็วที่สุดซึ่งจะทันหรือเปล่าก็ไม่รู้และค่อยฝ่ากระแสน้ำออกไปทีหลัง ซึ่งทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ก็มีโอกาสเสี่ยงเสียหายสูง

โดยทั่วไปแล้วการป้องกันนั้นจะให้ผลที่ดีกว่าการรักษาเยียวยา บริษัทประกันทั้งหลายยินดีสนับสนุนคุณในแนวทางเหล่านี้ ดังนั้นรีบติดต่อบริษัทประกันของคุณโดยไวหากมีข้อสงสัยหรือต้องการดำเนินการใด ๆ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

การปฏิบัติตัวเมื่อน้ำท่วมพื้นที่

โรงงานและพื้นที่อุตสาหกรรมกับน้ำท่วมนั้นเป็นปัญหาที่มีความร้ายแรงสูงมาก ซึ่งความสูญเสียจะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ทีมงานต้องพร้อมสำหรับการดำเนินการฉุกเฉินและมีเครือข่ายที่กว้างขวางเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทันท่วงที่มากที่สุด อย่างไรก็ตวามความปลอดภัยของมนุษย์ต้องมาเป็นลำดับต้น ๆ ภายใต้สถานการณ์น้ำท่วมซึ่งประเด็นที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างนั้นมี ดังนี้

  • การทำให้แน่ใจว่าทีมงานและลูกค้าปลอดภัย
  • เก็บรักษาวัสดุมีพิษหรืออันตรายให้เรียบร้อยไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
  • ป้องกันการรั่วไหลที่จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมนั้นเป็นอันตรายยิ่งกว่าเดิมได้ เช่น การรั่วไหลของน้ำมันดีเซล
  • ทำให้แน่ใจว่าเครื่องจักรนั้นมีการปิดการทำงานอย่างปลอดภัยเรียบร้อย
  • ปิดแก๊สและแหล่งพลังงานไฟฟ้ารวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่าง ๆ 
  • เตรียมช่องทางการเข้าถึงบริการฉุกเฉินให้พร้อม

ในทางทฤษฎีนั้นธุรกิจของคุณควรมีแผนฉุกเฉินที่เป็นรายการสิ่งที่ต้องทำ (Checklist) สำหรับการดำเนินการทุกขั้นตอนที่จำเป็น ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นโดยไม่ได้ตั้งตัวจำเป็นต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากโรงงานของคุณให้กับหน่วยงานบริการฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการที่น้ำเพิ่มระดับขึ้นจนทำให้ปัญหาเหล่านั้นกลายเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องพื้นที่น้ำท่วมอื่น ๆ นอกเหนือจากพื้นที่ของคุณเอง เช่น หากถังน้ำมันใต้ดินรั่วไหลจากสถานีบริการ น้ำมันที่หลุดรอดออกไปจะไม่เพียงปนเปื้อนกับน้ำเท่านั้นแต่ยังก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ในวงกว้างได้อีกด้วยในกรณีที่เลวร้ายที่สุด

การเตรียมการเมื่อน้ำลดระดับลง

ความปลอดภัยเป็นประเด็นแรกที่สำคัญ ณ จุดนี้ คุณต้องแน่ใจว่าอาคารนั้นปลอดภัยสำหรับการเข้าไปภายใน เช่น ไม่มีความเสียหายร้ายแรงในด้านโครงสร้างเกิดขึ้น และพื้นที่สินทรัพย์ของคุณปราศจากเหล่าหัวขโมยนักฉวยโอกาสในพื้นที่ ทางที่ดีควรติดต่อผู้เชี่ยวชาญหรืออย่างน้อยต้องไม่ปล่อยให้คนที่ไม่มีคุณสมบัติและความรู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปในโครงสร้างที่มีความเสี่ยง ทำการรักษาความปลอดภัยของพื้นที่และรอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสียหายจากอุทกภัยทำการประเมิน เช่น พื้นอาคารอ่อนตัวลงหรือไม่ หรือน้ำขังในพื้นที่บางส่วนซึ่งอาจซ่อนอยู่และไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน

การดำเนินการเมื่อน้ำในพื้นที่แห้งแล้ว

การเก็บกวาดพื้นที่หลังน้ำท่วมและทำให้โครงสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่รวมถึงพื้นผิวและอุปกรณ์เป็นหัวใจสำคัญ ความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยนั้นมีความแตกต่างหลากหลายกันไป ไม่ว่าน้ำนั้นจะสะอาดหรือไม่ มีสีเทา มีสีดำซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระยะเวลาในการฟื้นฟู น้ำที่ท่วมส่วนมากมักจะมีสีดำซึ่งหมายความว่าน้ำนั้นอาจปนเปื้อนไปด้วยขยะต่าง ๆ อาจเป็นทั้งเศษขนาดเล็กหรือเป็นขยะมีพิษซึ่งต้องมีการจัดการที่เหมาะสม ในกรณีของ Cornerstone นั้นมีการใช้งานปั๊มอุตสาหกรรมที่มีกำลังสูงหลากหลายชนิดเพื่อทำให้อุปกรณ์แห้งเพื่อจัดการกับน้ำขังและฟื้นฟูโครงสร้างให้เหมือนกับก่อนที่เหตุอุทกภัยจะเกิดขึ้น และตอนนั้นเองที่การฟื้นฟูจะได้เริ่มต้นขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าการทำให้พื้นที่นั้นกลับมาแห้งดังเดิมต้องใช้เวลายาวนานเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือนขึ้นอยู่กับสถานการณ์

การฟื้นฟูและการปรับพื้นที่ใหม่

เมื่อพื้นที่ถูกทำให้แห้งเรียบร้อย การซ่อมแซมโครงสร้างและตกแต่งภายนอกสามารถเริ่มต้นได้ การทำเอกสารรายงานร่วมกันระหว่างส่วนของธุรกิจและส่วนของประกันเพื่อตรวจสอบการเสียหาย สิ่งที่ต้องเคลม เพื่อหาแนวทางการดำเนินการ การมีข้อมูลความเสียหายที่ครบถ้วนและละเอียดจะทำให้สามารถวางแผนและดำเนินการฟื้นฟูได้อย่างโปร่งใสชัดเจน มีประสิทธิภาพ

วางแผนเผื่อสำหรับภัยครั้งหน้า

การวางแผนสำหรับการรับมืออุทกภัยควรแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน ได้แก่

  1. การวางแผนโครงสร้างการตอบสนองต่อสถานการณ์น้ำท่วม
  2. แผนตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน

การวางแผนโครงสร้างสำหรับการตอบสนองต่อสถานการณ์น้ำท่วม คือ การวางแผนเกี่ยวกับโครงสร้างวัสดุของอาคารหรือสถานการณ์ของแต่ละแผนกและกระบวนการทำงานขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากอุทกภัยที่ไม่คาดคิด โดยมากมักมีไว้เพื่อการป้องกันหรือลดความเสียหายจากปัญหาอันตรายที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ท่อระเบิด นอกจากนี้ยังมีกรณีที่อยากแนะนำอีกเล็กน้อย ดังนี้

  • การนำอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงสูงไปอยู่ในที่ปลอดภัย เช่น นำคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าไปไว้ในที่สูงเช่นชั้นสองที่น้ำจะไม่สามารถเข้าถึงได้
  • เก็บอุปกรณ์ที่ไม่เสียหายจากน้ำไว้ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ใต้ฐาน ห้องใต้ดิน
  • ปิดรูและช่องว่างที่ทำให้น้ำทะลักเข้ามา ในกรณีนี้รวมถึงทางน้ำอื่น ๆ อย่างในห้องสุขาด้วย
  • สร้างทางเดินภายในอาคารที่อยู่เหนือระดับน้ำได้

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างบางอย่างไม่สามารถดำเนินการได้หากอาคารโดนน้ำเข้ายึดพื้นที่แล้วในขณะที่กรแก้ไขโยกย้ายส่วนอื่น ๆ สามารถดำเนินการได้

สำหรับแผนฉุกเฉินนั้นต้องครอบคลุมไปถึงการดำเนินการและพฤติกรรมที่คุณคาดหวังจะให้เกิดขึ้นกับแรงงานและการบริหารจัดการเมื่อเกิดการเตือนภัยในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงตัวอย่างดังนี้

  • การวางแนวป้องกันน้ำท่วม เช่น กระสอบทราย
  • การเคลื่อนย้ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ไปยังพื้นที่ปลอดภัยเป้าหมาย
  • ทำให้อุปกรณ์และพื้นที่มีความปลอดภัย เช่น ตัดกระแสไฟฟ้าและแก็ส
  • ทำการเก็บกู้สิ่งอันตราย หรือเป็นพิษให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
  • มีขั้นตอนหยุดปฏิบัติงานฉุกเฉิน
  • มีรูปแบบขั้นตอนอพยพที่ชัดเจน

รายละเอียดเชิงลึกของแต่ละอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับแต่ละรูปแบบอุตสาหกรรมซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป สิ่งสำคัญ คือ การมีแผนรองรับที่ชัดเจนและยืดหยุ่นได้เพื่อให้แรงงานมีความเข้าใจที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรเมื่อเกิดปัญหาภัยพิบัติขึ้นอย่างมีสติ

ที่มา:
Cornerstone-ltd.co.uk

Thos
"Judge a man by his questions rather than his answers"
Voltaire
READ MORE
×